รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2009 11:10 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

รายจ่ายรัฐบาลเดือน เม.ย. 52 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 141.7 พันล้านบาทลดลงจากในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -8.4 เนื่องจากมีวันหยุดราชการในช่วงสงกรานต์ยาวกว่าปกติเป็นระยะเวลา 6 วัน ทั้งนี้ เป็นการเบิกจ่ายในส่วนของงบรายจ่ายประจำจำนวน 117.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.7 ต่อปีขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 20 พันล้านบาท คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -55.7 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการโอนงบลงทุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ52 (ต.ค.51- เม.ย.52) รัฐบาลเบิกจ่ายจำนวน 1.113 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 17.2 ต่อปี โดยเป็นรายจ่ายในส่วนของงบประมาณประจำปีจำนวน1.023 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 52.4 ของกรอบวงเงินงบประมาณ (หรือจำนวน 1.952 ล้านล้านบาท เมื่อรวมรายจ่ายเพิ่มเติมวงเงิน 1.16 แสนล้าน)

มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน เม.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -26.1 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -23.1 ต่อปี โดยเมื่อพิจารณาในเชิงปริมาณการส่งออกพบว่า หดตัวถึงร้อยละ -23.7 ต่อปี ขณะที่ในเชิงราคาหดตัวร้อยละ -3.1 ต่อปี ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักมีการหดตัวแทบทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหดตัวลงมากที่ร้อยละ -32.7 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวของราคาถึงร้อยละ -18.0 ต่อปี ส่วนเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้ายานยนต์หดตัวลงถึงร้อยละ -22.8 -24.0 และ -44.9 ต่อปี ตามลำดับ อันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาสินค้าส่งออกสำคัญลดลง และจำนวนวันทำการที่น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนในด้านมิติคู่ค้า การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ได้แก่ ยูโรโซน สหรัฐญี่ปุ่น และจีน มีการหดตัวโดยถ้วนหน้าที่ร้อยละ -35.1 -28.7 -29.8 และ -13.2 ต่อปีตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังประเทศจีน อินเดีย ฮ่องกง เวียดนาม และเกาหลีใต้ มีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นจากเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน เม.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -36.3 ต่อปี โดยปริมาณนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -31.4 ต่อปี และราคาหดตัวที่ร้อยละ -7.2 ต่อปีอันเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวในทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบหดตัวที่ร้อยละ -34.6 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -43.2 ต่อปี จากผลของการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และแผงวงจรไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และจากคำสั่งซื้อที่เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวที่ร้อยละ -26.8 และ -22.9 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวที่ร้อยละ -54.3 ต่อปี ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ จากมูลค่านำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก ทำให้ดุลการค้าเดือนเม.ย. 52 เกินดุลที่ 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม(TISI) เดือน เม.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 76.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 69.4 โดยเป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อ (โดยเฉพาะจากตลาดต่างประเทศ) ยอดขาย ปริมาณการผลิต ที่เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 37 นับแต่เดือน เม.ย.49 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก ประกอบกับยังคงมีปัจจัยลบจากต้นทุนประกอบการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

การประชุม กนง. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 จากความเห็นของ กนง. ที่ว่านโยบายการเงินได้ผ่อนคลายลงมามากแล้วในช่วงที่ผ่านมา และระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ต่ำที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

Economic Indicators: Next Week

จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน เม.ย. 52คาดว่าจะมีจำนวน 1.05 ล้านคน คิดเป็นอัตราการหดตัวร้อยละ -16.4 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากปัจจัยภายในประเทศด้านการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการยึดครองโรงแรมที่เป็นสถานที่จัดประชุมอาเซียนที่พัทยาในวันที่ 11 เม.ย.52 ประกอบกับการเผยแพร่ข่าวการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) ในสหรัฐฯ ช่วงปลายเดือน และปัจจัยที่มีผลต่อเนื่องในระยะยาวเรื่องเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(MPI) เดือน เม.ย. 52 คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ -13.0 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.5 ต่อปี ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกได้รับสัญญาณบวกจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศจีน ประกอบกับตลาดในประเทศได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการเช็คช่วยชาติของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตฯ ดังกล่าวยังคงเป็นอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนหน้า

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ยกเว้นค่าเงินหยวน และดอลลาร์ฮ่องกง

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากฐานะทางการคลังและพันธบัตรของสหรัฐฯ เริ่มเผชิญกับความเสี่ยงจากหนี้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการทำงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงจากระดับ AAA โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ตลาดการเงินเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นในพันธบัตรสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์สหรัฐและส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีปรับตัวขึ้นไปถึง 17 Bps ในช่วงข้ามคืนในขณะที่ความต้องการของเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นลดลงและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักอื่นๆ ของไทย อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับปัจจัยที่ทำให้อ่อนค่าลงจาก (1) ถ้อยแถลง FOMC minute ของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) ที่ระบุว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นยังไม่หมดไปและแสดงแนวโน้มที่จะเพิ่มขนาดของการซื้อคืนพันธบัตรอีกในอนาคต (2) ตัวเลขบ่งชี้การว่างงาน (Jobless claims) ที่สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้เล็กน้อย และ (3) ตัวเลข Housing starts ของสหรัฐฯออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด

ในขณะที่ค่าเงินยูโรในช่วงสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจัยข้างต้น ประกอบกับการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีกว่าที่คาดไว้อาทิเช่น (1) ยอดขาดดุลการค้าของยุโรปในเดือน มี.ค. ที่ลดลงมาอยู่ที่ 2.1 พันล้านยูโร (ตลาดคาดขาดดุล 3.8 พันล้านยูโร) และ (2) ตัวเลข Zew Survey (Economic Sentiment) ของยุโรปในเดือน พ.ค ที่ระดับ 28.5 ซึ่งสูงกว่าเดือนก่อนและตัวเลขที่ตลาดคาด และ (3)ตัวเลข Zew Survey (Economic Sentiment) ของเยอรมนีประจำในเดือน พ.ค.ที่สูงสุดในรอบ 3 ปีที่ระดับ 31.1 (และสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ระดับ 20.0)

ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นมากหลังจากสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody's และ Fitch rating ประกาศคง outlook และ อันดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษ ประกอบกับค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ยังได้รับปัจจัยที่ทำให้แข็งค่าขึ้นจากการประกาศ (1) ตัวเลขยอดขายปลีก (Retail sales) เดือนเม.ย.ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.9 ต่อเดือน (ร้อยละ 2.6 ต่อปี) ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อเดือน (ร้อยละ 2.4 ต่อปี) และ (2) ตัวเลขราคาขายบ้าน (Rightmove House Price) เดือน พ.ค. 52 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ต่อเดือน (หดตัวร้อยละ -6.2 ต่อปี) ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเดือนสูงที่สุดนับตั้งแต่ก.พ. 2551 เช่นกัน

เงินเยนในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลในภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก (risk aversion) ในช่วงต้นสัปดาห์ และการเริ่มสูญเสียความเป็นสกุลที่ความเสี่ยงต่ำของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ตลาดมองว่าเงินสกุลเยนเป็นค่าเงินที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดจึงมีส่งผลให้ความต้องการใน ฐานะค่าเงิน safe haven เพิ่มมากขึ้น

สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจากปัจจัยการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัจจัยจากความเสี่ยงทางศรษฐกิจที่ลดลง ทำให้นักลงทุนได้นำเงินมาลงทุนในตลาดในภูมิภาคมากขึ้น แม้ว่าสกุลเงินในภูมิภาคจะอ่อนค่าลงจากการขายทำกำไรของนักลงทุน หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคได้ปรับตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน

ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาคดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 22 พ.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.37 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.96

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 4.8) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 2.3) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.6) ยูโร (ร้อยละ 1.4) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 1.1) หยวน (ร้อยละ 1.1) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 1.1) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 0.9) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.0) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ -0.7) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -3.8) และปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -7.1) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 15 พ.ค. 52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 122.90 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน 0.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ ธปท.เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินในสภาวะที่มีเงินลงทุนไหลเข้าโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อสุทธิที่ประมาณ 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่า ผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องซื้อเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (8 พ.ค.52) -1.42 บาท จาก 34.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Major Trading Partners’ Economies: This Week

กลุ่มประเทศยูโรโซนประกาศตัวเลข flash GDP ไตรมาส 1 ปี 52 หดตัวลงร้อยละ -4.6 ต่อปี หดตัวรุนแรงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.3 ต่อปี โดยเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าคิดเป็นการหดตัวลงร้อยละ -2.5 โดยเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกหลัก ได้แก่ เยอรมัน ฝรั่งเศสและอิตาลีล้วนหดตัวลงที่ร้อยละ —6.9 -3.2 และ -5.9 ต่อปี ตามลำดับสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนน่าจะยังคงฟื้นตัวได้ช้า

ญี่ปุ่นเผยตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกของปี 52 หดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (หรือร้อยละ -9.7 ต่อปี) ซึ่งเป็นการหดตัวไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอยู่ในภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักจากการลดการใช้จ่ายลงจากปัญหาการว่างงาน การปิดโรงงานและการลดการใช้จ่ายด้านการผลิต เนื่องจากอุปสงค์ต่อสินค้าญี่ปุ่นในตลาดต่างประเทศยังคงอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่อง

GDP ฮ่องกงไตรมาส 1 ปี 52 หดตัวที่ร้อยละ -7.8 ต่อปี หรือร้อยละ -4.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหดตัวที่รุนแรงสุดในรอบ 11 ปี โดยเพมื่อพิจารณาด้านอุปสงค์ การบริโภคภาคเอกชนหดตัวถึงร้อยละ -5.5 ต่อปี การลงทุนหดตัวร้อยละ -12.6 ต่อปี การส่งออกหดตัวถึงร้อยละ -22.7 ต่อปี ในขณะที่ทางด้านอุปทาน ภาคการก่อสร้างหดตัวที่ร้อยละ -8.2 ต่อปี โดยภาคการก่อสร้างภาคเอกชนหดตัวถึงร้อยละ -9.2 ต่อปี บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ฮ่องกงเผชิญอยู่นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 51

GDP อินโดนีเซียไตรมาสที่ 1 ปี 52 ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 5.2 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 57.2 ของ GDP ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อปี ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ มีการขยายตัวต่อเนื่อง จากผลของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปีการส่งออกสินค้าและบริการ หดตัวที่ร้อยละ -19.1 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่เคยขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการ หดตัวที่ร้อยละ -24.1 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี

GDP ไต้หวันไตรมาสที่ 1 ปี 52 หดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ร้อยละ -10.2 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ -8.4 ต่อปี(ตัวเลขปรับปรุง) โดยเมื่อพิจารณาด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 23 ของ GDP ในปี 51 หดตัวลงถึงร้อยละ -27.0 ต่อปี อีกทั้งภาคบริการซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 75 ของ GDP หดตัวถึงร้อยละ -2.8 ต่อปีในขณะที่ทางภาคอุปสงค์ การลงทุนหดตัวถึงร้อยละ -33.8 ต่อปี โดยการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนโดยรัฐวิสาหกิจหดตัวถึงร้อยละ -41.0 และร้อยละ -26.3 ต่อปี ตามลำดับ

ยอดบ้านใหม่เริ่มสร้าง (Housing Starts) และใบขออนุญาตก่อสร้าง(Building Permits) ของสหรัฐฯเดือน เม.ย.52 หดตัวเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ -12.8 และร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ หรือที่ระดับ 458,000 หลัง โดยปัจจัยหลักมาจากการหดตัวของการก่อสร้างอาคารชุด ที่หดตัวถึงร้อยละ -46.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ว่าสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯยังคงอยู่ในระยะผันผวน

การส่งออกของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน มี.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -16.7 ต่อปี ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -23.5 ต่อปี ผลจากเศรษฐกิจโลกหดตัว ทำ ให้ยอดสั่งซื้อสินค้า โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ลดลง ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ -18.5 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -21.8 ต่อปี โดยเป็นผลจากการลดกำลังการผลิตสินค้า ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าขั้นกลางลดลง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ของญี่ปุ่น เดือนเม.ย.52 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 32.4 จุด จากระดับ 28.9 จุดในเดือน มี.ค.52 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 โดยเป็นผลจากความกังวลด้านการจ้างงานและรายได้ ขณะที่ราคาสินค้าที่ลดลงเป็นปัจจัยบวกเพียงปัจจัยเดียว

มูลค่าการส่งออกสินค้าของเวียดนามในเดือนเม.ย. 52 หดตัวลงที่ร้อยละ -11.6 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.8 ต่อปี โดยเป็นผลจากการหดตัวของสิ่งทอซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักที่ร้อยละ -403.7 ต่อปี และสินค้าเกษตรหดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะข้าว และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่หดตัวลงร้อยละ -5.6 และ -6.8 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าของเวียดนามในเดือน เม.ย. 52 หดตัวร้อยละ -37.4 ต่อปี โดยเป็นผลจากการหดตัวของวัตถุดิบ และสินค้าเชื้อเพลิง ที่ร้อยละ -25.1 และ -53.6 ต่อปี ตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ