รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 27, 2009 10:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 พ.ค. 2552

SUMMARY:

1. ม.หอการค้าไทย คาดเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2

2. ธปท.ชี้ 3 ธุรกิจเสี่ยงประสบปัญหา

3. ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 2.00 ต่อปี

HIGHLIGHT:
1. ม.หอการค้าไทย คาดเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2
  • ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่าจากการพยากรณ์ข้อมูลทางเศรษฐกิจแล้วมองว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่สภาวะถดถอย หรืออยู่ในจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 โดยมีสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวคือ การส่งออกที่ยังคงติดลบในเดือนเม.ย. และคาดว่าในเดือน พ.ค.-มิ.ย.จะยังคงซบเซาต่อเนื่อง ซึ่งมีผลเชื่อมโยงถึงภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยสังเกตได้จากการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลง ทำให้คาดการณ์ว่าจีดีพีในช่วงไตรมาสที่ 2 ยังคงติดลบต่อเนื่อง และคาดว่าจีดีพีในปี 52 จะติดลบประมาณร้อยละ 2-4
  • สศค. วิเคราะห์ว่าจากข้อมูลล่าสุดในเดือนเม.ย.52 พบว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้หลายตัวส่งสัญญาณการหดตัวที่ชะลอลงเช่น ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนเม.ย. หดตัวที่ร้อยละ -12.8 ต่อปี เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.5 ต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหรรมซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40.1 ของจีดีพีเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ประกอบกับมูลค่าการส่งออกที่ตัดผลของฤดูกาลออกไป (s.a) ในเดือนเม.ย. มีการขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อเดือนแสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ในตลาดโลกมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น ทำให้สศค.คาดว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 1 และคาดว่าทั้งปี 52 จีดีพีจะหดตัวที่ร้อยละ -3.5ต่อปี
2. ธปท.ชี้ 3 ธุรกิจเสี่ยงประสบปัญหา
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลการสำรวจภาวะการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในไตรมาส 1 ปี 2552 และแนวโน้มในช่วงไตรมาสที่ 2 ระบุว่าประเภทของธุรกิจที่สถาบันการเงินคาดว่ากำลังจะประสบปัญหาที่อาจจะเป็นความเสี่ยง 3 อันดับแรก ได้แก่ โรงแรมและภัตตาคาร อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดตัวเลข GDP โรมแรมและภัตตาคารในไตรมาสที่ 1 ปี 52 หดตัวที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี ในขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรม หดตัวลงร้อยละ -14.9 ต่อปี โดยเฉพาะผลผลิตอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ที่หดตัวลงเป็นประวัติการณ์ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดในเดือนเม.ย.52 พบว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนหน้า โดยตัวเลขการส่งออกสินค้าที่ตัดผลของฤดูกาลออกไป (s.a) โดยเฉพาะ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เริ่มมีเห็นสัญญาณการฟื้นตัวบ้างแล้ว ทำให้คาดว่าในช่วงต่อไปเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้น
3. ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 2.00 ต่อปี
  • ธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 2.0 ต่อปีเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน โดยมองว่าเศรษฐกิจของมาเลเซียน่าจะผ่านพ้นจดที่ต่ำสุดไปแล้วโดยคาดว่าการประกาศตัวเลขการขยายตัวของ GDP ของมาเลเซียในไตรมาสแรกของปี 52 จะเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -3.9 ต่อปี พร้อมทั้งระบุว่าภาวะความต้องการของอุปสงค์การส่งออกที่น่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 52ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วยการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่มูลค่ารวมกว่า 67 พันล้านริงกิต (19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมาตรการการค้ำประกันเงินฝากน่าจะเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี 52
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารกลางมาเลเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปีแสดงถึงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจมาเลเซียน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยเศรษฐกิจมาเลเซียในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 52 ที่หลายฝ่ายคาดไว้ว่าจะหดตัวในระดับที่ร้อยละ -3.9 ต่อปีนั้นน่าจะเป็นการหดตัวในระดับที่รุนแรงที่สุดก่อนจะเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นโดยภาคการส่งออกของประเทศมาเลเซียน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่น่าจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงถัดไป อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ประกอบด้วยการใช้จ่ายภาครัฐที่มีมูลค่าสูงถึง 60 พันล้านริงกิต (16.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณร้อยละ 9 ของ GDP) และมาตรการด้านสินเชื่อ (credit facility) น่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนภาคอุปสงค์ภายในประเทศและการลงทุนเพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาเลเซีย ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2552 เศรษฐกิจมาเลเซียจะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.5) - (-1.0) (ประมาณการ ณ พ.ค. 52)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ