รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 28, 2009 11:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 พ.ค. 2552

SUMMARY:

1. ดัชนีอุตสาหกรรมเมษายน 52 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ -12.8 ต่อปี

2. สศก. คาดราคาสินค้าเกษตรในปี 52 ลดลงร้อยละ 10-12 ต่อปี

3. ตัวเลข GDP ของมาเลเซียหดตัวร้อยละ -6.2 ต่อปี ตามการส่งออกที่หดตัว

HIGHLIGHT:
1. ดัชนีอุตสาหกรรมเมษายน 52 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ -12.8 ต่อปี
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาหดตัวร้อยละ -12.84 ต่อปี เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. ที่หดตัวร้อยละ -25.6 ต่อปี และ เดือน ก.พ. ที่หดตัวลงร้อยละ -23.07 ต่อปี และเดือนมี.ค. หดตัวลงร้อยละ -17.74 ต่อปี ซึ่งตัวเลขอัตราการหดตัวที่น้อยลงถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยพบว่าหลายอุตสหากรรมเริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงาน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราที่น้อยลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้ว โดยเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยขจัดผลของฤดูกาลแล้วขยายตัวได้ร้อยละ 5.7 ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของผลผลิตอาหารและเครื่องดื่มซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 15.5 ของผลผลิตรวม ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 2.4 ต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวของการผลิตกุ้งแช่แข็ง ไก่แช่แข็ง และอาหารทะเลกระป๋อง ขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มมีการหดตัวในอัตราที่น้อยลง ทั้งนี้แม้ว่าดัชนีฯ จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ยังถือว่ายังหดตัวในระดับสูงอยู่
2. สศก. คาดราคาสินค้าเกษตรในปี 52 ลดลงร้อยละ 10-12 ต่อปี
  • รองเลขาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ทางสศก.ได้ประเมินแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรปี 52 โดยพิจารณาจากภาวะราคาสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาสแรกเดือนม.ค.-มี.ค. คาดว่าแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรตลอดทั้งปี 52 เมื่อเทียบกับ 51 จะลดลงทุกหมวดสินค้าประมาณร้อยละ 10-12 โดยหมวดอาหารและธัญพืชลดลงที่ร้อยละ 5.7 หมวดพืชน้ำมันลดลง 16.4 และหมวดปศุสัตว์ลดลง 1.2 โดยสินค้าที่ราคาลดลงมาก คือ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เนื่องจาก ราคาในปีที่ผ่านมาขยายตัวในระดับสูง ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงมากเนื่องจากปัจจัยฐานสูงเมื่อปีที่แล้วที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตามราคาน้ำมันและการเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศปรับตัวสูงขึ้นด้วย ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ความต้องการสินค้ารวมถึงสินค้าเกษตรลดลง แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลมีนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ได้ช่วยให้ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลงไม่มากนัก ส่งผลให้เกษตรกรค่อยๆปรับตัวได้บ้าง ทั้งนี้ ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรขายได้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 52 หดตัวลงที่ร้อยละ -8.2 ต่อปี
3.ตัวเลข GDP ของมาเลเซียหดตัวร้อยละ -6.2 ต่อปี ตามการส่งออกที่หดตัว
  • มาเลเซียประกาศตัวเลข GDP ของไตรมาสแรกปีนี้ โดยหดตัวที่ร้อยละ -6.2 ต่อปี ย่ำแย่กว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ผลจากการหดตัวของการส่งออกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 ปี และหดตัวต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2541 ซึ่งหดตัวถึงร้อยละ -11.2 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลมาเลเซียคาดว่าสภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลังของปี 2552 จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และคาดว่า GDP ในปี 2552 จะอยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี ถึงขยายตัว ร้อยละ 1.0 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของมาเลเซียคิดเป็นร้อยละ 118.5 ของGDP ในปี 2551 ซึ่งการส่งออกสินค้าและบริการของมาเลเซียในไตรมาสแรกนั้นหดตัวร้อยละ -15.2 ต่อปี อีกทั้งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว เป็นผลให้ GDP ของมาเลเซียหดตัวลงแรงกว่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของมาเลเซียในครึ่งปีหลังจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงถึง 16.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณร้อยละ 9 ของ GDP ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP ของมาเลเซียในปี 2552 จะหดตัวอยู่ในช่วง (-2.2) — (-1.7) ต่อปี (ประมาณการ ณ มี.ค. 52)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ