Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 พ.ค. 2552
1. รมว.อุตฯ หวังครึ่งปีหลังลงทุนฟื้น เดินสายโรดโชว์อินเดีย,จีน,ยุโรป
2. สรุปผลการค้าเอฟทีเอ 5 ประเทศ ไตรมาสแรก ไทยเกินดุลการค้า 3 ประเทศ
3. GDP ฟิลิปปินส์ไตรมาส 1 ขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปี แต่หดตัวจากไตรมาสก่อน
- นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม ได้ประเมินว่าจะมีผู้ประกอบการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 3 แสนล้านบาท เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น โดยอุตฯ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กฯ มีแนวโน้มจะขยายตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากการที่ BOI ให้สิทธิพิเศษเพิ่มจำนวน 6 กิจการที่จะยื่นขอลงทุนภายในปี 2552 อย่างไรก็ดี โดยกระทรวงอุตฯ จะเดินทางไปโรดโชว์ที่อินเดีย จีน เกาหลีใต้ ยุโรป ในช่วง 2-6 มิ.ย.52 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติ
- สศค. วิเคราะห์ว่า นับจาก เม.ย.52 ที่ผ่านมา อุตฯ หมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กฯ มีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยมีดัชนีการผลิต (MPI) ขยายตัวร้อยละ 8.3 13.3 และ 10.3 ต่อเดือน หลังจากปรับฤดูกาลแล้ว ตามลำดับโดยส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จากประเทศจีนมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมโดยรวมยังคงได้มีปัจจัยเสี่ยงจากทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจของเหล่าประเทศผู้ลงทุนสำคัญๆ (ญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป) ที่ยังคงอยู่ในภาวะถดถอย
- กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย เปิดเผยว่า สรุปผลการค้าเอฟทีเอ 5 ประเทศไตรมาสแรกปี 2552 ของไทยพบว่า เกินดุลการค้า 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย แต่ขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นและจีน
- ทั้งนี้ แม้ไทยจะได้ดุลการค้าบางประเทศ แต่หากดูมูลค่าการส่งออกรวม พบว่าลดลงจากปีที่ผ่านมา ตามสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยดุลการค้าไทยที่เกินดุลกับออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์ มีมูลค่าการส่งออก 2,123 598 และ 115 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการนำเข้ากับประเทศดังกล่าวมีมูลค่า 665 352 และ 352 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่ไทยขาดดุลกับญี่ปุ่น และจีน มีมูลค่าการส่งออก 3,530 และ 2,993 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการนำเข้ากับประเทศดังกล่าวมีมูลค่า 5,003 และ 3,375 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กรมเจรจาฯ มีแผนต่อไปที่จะการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้มากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบันการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ความต้องการสินค้าลดลง แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรเร่งรัดนโยบายเพื่อส่งเสริมการส่งออกให้มากขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกรวมของไทย 4 เดือนแรกของปี 52 มีมูลค่า 44,216.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า 4 เดือนแรกของไทยอยู่ที่ 36,566.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ทางการฟิลิปปินส์ประกาศอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไตรมาส 1 ปี 52 ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวต่ำกว่าที่ทางการคาดไว้ที่ร้อยละ 1.8-2.8 ต่อปี หน้า พร้อมทั้งได้ปรับลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจย้อนหลังของของไตรมาส 4 ปี 52 ของปี 49 50 และปี 51 เป็นร้อยละ 2.9 5.3 7.1 และร้อยละ 3.8 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการขยายตัวรายไตรมาส เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะหดตัวที่ร้อยละ -2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ มีสาเหตุหลักจากภาคการบริโภคภาคเอกชนและภาคการลงทุน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 78.1 และร้อยละ 18.1 ของ GDP ในปี 51 ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนหดตัวถึงร้อยละ -16.5 ต่อปี อีกทั้งภาคการส่งออกสินค้าซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงการลงทุนนั้นหดตัวถึงร้อยละ -36.8 ต่อปี โดยสินค้าส่งออกหลักของฟิลิปปินส์คือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจโลกสูง เป็นผลให้ GDP ของฟิลิปปินส์ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีการฟื้นตัวเล็กน้อย จากยอดคำสั่งซื้อจากจีนและประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจช่วยพยุงเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ได้บ้าง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP ของฟิลิปปินส์ในปี 2552 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 0.8 — 1.3 ต่อปี (ประมาณการ ณ พ.ค. 52)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th