รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25-29 พฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 1, 2009 11:17 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,692.69 พันล้านบาท หรือร้อยละ 40.97 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 83.87 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นสุทธิ 77.84 พันล้านบาท จากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้ประเภทตั๋วเงินคลังจำนวน 48.0 พันล้านบาทและพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 39.0 พันล้านบาท สำหรับหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 17.68 พันล้านบาท จากการที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเบิกจ่ายเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 16.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ หนี้สาธารณะคงค้างส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ (สกุลเงินบาท) ที่ร้อยละ 89.58 และเป็นหนี้ระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) ที่ร้อยละ 90.28 ของยอดหนี้สาธารณะรวม

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 52 หดตัวลงร้อยละ -12.8 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลง ร้อยละ-23.1 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท เช่นชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และเหล็ก สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น จีนได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภทได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นได้แก่ อาหาร ซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ ยุโรป สหรัฐ ที่มีความนิยมบริโภคอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ดี แนวโน้มภาพรวมของผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงหดตัว เนื่องจากต้องการของตลาดต่างประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน เม.ย. 52 มีจำนวน 1.11 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -11.9 ต่อปีหดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ —10.7 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงการจัดประชุมอาเซียนที่พัทยาในวันที่ 11 เม.ย. จนกระทั่งถึงช่วงวันหยุดสงกรานต์ และข่าวการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) ในสหรัฐฯ ช่วงปลายเดือนที่ส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาของนักท่องเที่ยว และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทั้งนี้ การหดตัวในเดือนเม.ย.ที่ร้อยละ -11.9 ต่อปี ถือเป็นการหดตัวที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ไว้ เนื่องจากคาดว่านักท่องเที่ยวจะยกเลิกการเดินทางเป็นจำนวนมาก หลังจากที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นแต่จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า นักท่องเที่ยวระยะไกลที่มาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีการจองตั๋วไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้บางส่วนไม่ได้ยกเลิกตั๋วในช่วงดังกล่าว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรป ขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี จากที่หดตัวร้อยละ -10.5 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่จำ นวนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มตะวันออกกลางยังคงขยายตัวเป็นบวก

ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน เม.ย. 52 เกินดุลเล็กน้อยที่ 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเกินดุลการค้าที่เกินดุลลดลง ตามมูลค่าการส่งออกที่ลดลง โดยมีการเกินดุลที่ 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลบริการขาดดุล -0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการหดตัวลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ร้อยละ -11.9 ต่อปี

Economic Indicators: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 52 คาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -2.6 หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.9 และนับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปจะขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ราคาน้ำ มันสำ เร็จรูปในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก ประกอบกับราคาสินค้าประเภทผักและผลไม้มีราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ยกเว้นค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์และดอลลาร์ไต้หวัน

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทย จากแรงเข้าซื้อดอลลาร์ที่เป็นผลจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯในการประมูลครั้งใหญ่ในช่วงสัปดาห์นี้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความวิตกกังวลต่อความเสี่ยงของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ลดลง หลังจากที่สถาบันการจัดอันดับ Moody’s กล่าวย้ำว่าระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรสหรัฐฯจะยังอยู่ในระดับ AAA แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากฐานะการคลังที่ถดถอยลงไปมาก ในขณะเดียวกันการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้ยังได้รับปัจจัยจากการประกาศตัวเลขยอดขายบ้านคงค้าง (existing home sales) ประจำเดือน เม.ย. 52 ที่ปรับตัวดีขึ้น

ในขณะที่ค่าเงินยูโรในช่วงสัปดาห์นี้คงที่เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่สมาชิกผู้แทนธนาคารกลางยุโรป (ECB Council member) ได้กล่าวว่าเศรษฐกิจยุโรปผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (Economic sentiment) ของยุโรปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย. 52 มาอยู่ที่ระดับ 69.3 ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ และดัชนีความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ (Business climate index) ของยุโรปหดตัวในอัตราที่น้อยลงจากระดับ -3.33 ในเดือน มี.ค. มาอยู่ที่ระดับ -3.17 ในเดือน เม.ย. ได้ส่งผลให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่เช่นกัน

ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยขึ้นแตะระดับ 1.60 ดอลลาร์ต่อปอนด์สเตอลิงค์เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าวิกฤติการทางการเงินของอังกฤษได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงต่อไป ในขณะที่การประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 52 ของอังกฤษที่หดตัวร้อยละ -1.9 ต่อไตรมาสและหดตัว -4.1 ต่อปีนั้นเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้เช่นกัน

เงินเยนในช่วงสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงมากจากสองปัจจัยหลักคือ (1) กระแสความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปมีมากขึ้น นักลงทุนจึงโยกย้ายเงินลงทุนจากญี่ปุ่นไปยังตลาดดังกล่าว และ (2) กระแสข่าวความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลีและการที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) อาจปรับหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ให้เข้มงวดมาก ซึ่งอาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวช้าขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนลดความต้องการถือเงินเยนลงและส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงตามลำดับ

สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่าลงจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกพันธบัตรเป็นจำนวนมาก และทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้น นักลงทุนจึงโยกย้ายเงินจากตลาดเอเชียกลับไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ มากขึ้น ค่าเงินเอเชียจึงอ่อนค่าลง โดยเงินวอนอ่อนค่าลงมากที่สุดจากกระแสข่าวความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี ในขณะที่ค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์อ่อนค่าลงหลังจากที่ GDP รายไตรมาสของฟิลิปปินส์ในไตรมาสแรกปี 52 (Q-o-Q) ขยายตัวในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี

ในขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินภูมิภาคอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้น

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 29 พ.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.88 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.37

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 7.3) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 2.6) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.0) ยูโร (ร้อยละ 1.2) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ1.0) หยวน (ร้อยละ 1.0) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 1.0) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.9)วอนเกาหลี (ร้อยละ 0.8) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 0.3) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -7.5) และรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -4.2) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 22 พ.ค. 52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 3.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 126.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 2.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน 1.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ ธปท.เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินในสภาวะที่มีเงินลงทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่าการซื้อสุทธิที่ประมาณ 0.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้สะท้อนว่า ผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องซื้อเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (15 พ.ค.52) -0.57 บาท จาก 34.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนพ.ค.52 ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 54.9 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 40.8 (ตัวเลขปรับปรุง) แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งจากดัชนีสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะทัศนคติของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น และดัชนีการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ

ยอดจำหน่ายบ้านมือสอง (Existing home sales) สหรัฐฯเดือนเม.ย. 52 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 2.9 (mom) จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.4 (mom) มาอยู่ที่ 4.68 ล้านหลัง ในขณะที่ราคาบ้าน (Median Home Price) ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.2จากเดือนก่อนหน้าที่ 170,200 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนก่อนหน้า เป็นสัญญาณว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯที่ปรับตัวลดลงมามาก ส่งผลดีต่อการซื้อขายบ้าน

ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน พ.ค. 52 อยู่ที่ 69.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 67.2 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 นับตั้งแต่ดัชนีฯ ลดลงสู่จุดต่ำสุดเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ และแผนการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เริ่มส่งผลทางด้านจิตวิทยาให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

ตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน เม.ย. 52 หดตัวร้อยละ -39.1 ต่อปี ด้วยมูลค่า 4.196 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือนมูลค่าการส่งออกขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 4.119 ล้านล้านเยน ส่งผลให้ในเดือนนี้ ญี่ปุ่นมีดุลการค้าเกินดุล 68.95 พันล้านเยน ส่งผลให้มีความคาดหวังในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและภาคเอกชนเริ่มขยายการผลิตเพิ่มขึ้น

ดัชนีการจัดซื้อจากโรงงาน (PMI) ของญี่ปุ่น ในเดือน พ.ค. 52 ปรับระดับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 46.6 จาก 41.4 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าการผลิตเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงอยู่ในภาวะที่หดตัวเนื่องเป็นเดือนที่ 15 เนื่องจากดัชนีฯ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 สาเหตุจากภาวะอุปสงค์ต่อสินค้าญี่ปุ่นในตลาดโลกยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว

ผลผลิตอุตสาหกรรมไต้หวันเดือนเม.ย. 52 หดตัวน้อยที่สุดในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ -19.9 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -25.8 ต่อปี(ตัวเลขปรับปรุง) ทั้งนี้ เป็นการหดตัวที่น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดมาก ถึงแม้จะยังมีการหดตัวในทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก หดตัวที่ร้อยละ -19.24 ต่อปี แต่การหดตัวที่ชะลอลงมากเป็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมไต้หวันน่าจะผ่านพันจุดต่ำสุดไปแล้ว

GDP มาเลเซียไตรมาสที่ 1 ปี 52 หดตัวร้อยละ -6.2 ต่อปี (หรือหดตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) หดตัวเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อปี ทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาสนี้ ผลจากการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ52.3 ของ GDP หดตัวที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวต่อเนื่องแต่ชะลอลงที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี อย่างไรก็ดี สัญญาณการหดตัวเห็นได้ชัดในภาคการลงทุนและภาคการส่งออกที่หดตัวร้อยละ -10.8 และ-15.2 ต่อปี ตามลำดับ สาเหตุจากมาเลเซียเป็นประเทศผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าประเภทดังกล่าวปรับตัวลดลง

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 1 ปี 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ต่อปีชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการขยายตัวรายไตรมาส เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะหดตัวที่ร้อยละ -2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนหดตัวถึงร้อยละ -16.5 ต่อปี อีกทั้งภาคการส่งออกสินค้าหดตัวถึงร้อยละ -36.8 ต่อปี โดยสินค้าส่งออกหลักของฟิลิปปินส์คือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจโลกสูง เป็นผลให้ GDP ของฟิลิปปินส์ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์

GDP อินเดียไตรมาส 1 ปี 52 (หรือไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ51/52) ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.8 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยภาคบริการ ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ขยายตัวถึงร้อยละต่อปี ในขณะที่อุตสาหกรรมหดตัวที่ร้อยละ -1.4 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ