รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 1, 2009 11:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 มิ.ย. 2552

SUMMARY:

1. ธปท.เผยดุลบัญชีเดินสะพัด เม.ย. เกินดุล 462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้นักธุรกิจภาคเอกชนร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

3. สหประชาชาติชี้ว่าเศรษฐกิจโลกหดตัวร้อยละ 2.6

HIGHLIGHT:
1. ธปท.เผยดุลบัญชีเดินสะพัด เม.ย. เกินดุล 462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงภาวะเศรษฐกิจในเดือนเม.ย.52 ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 426 ล้านดอลลาร์ เป็นผลจากดุลการค้าเกินดุล 619 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุล 193 ล้านดอลลาร์ตามรายรับจากการท่องเที่ยวที่ลดลง และด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุล 751 ล้านดอลลาร์ จากภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร เป็นการไหลออกสุทธิของเงินทุนในหลักทรัพย์ของไทยขณะที่มีเงินไหลออกบางส่วนจากการที่ผู้ส่งออกลดการป้องกันความเสี่ยง ทำให้โดยรวม ดุลการชำระเงินเกินดุล 645 ล้านดอลลาร์ และเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเม.ย.52 อยู่ที่ 116.8 พันล้านดอลลาร์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 4 เดือนแรกของปี 52 เท่ากับ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเกินดุลการค้าในระดับสูงถึง 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสาเหตุที่มูลค่าการนำเข้าที่หดตัวมากทำให้ต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตหรือการบริโภคลดลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 52 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลที่ 24.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นประมาณร้อยละ 9.8 ของ GDP
2. นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้นักธุรกิจภาคเอกชนร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
  • นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้นักธุรกิจภาคเอกชนร่วมมือกันเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยดำเนินการไปพร้อมๆกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งนี้ นายกฯ ได้ขอให้นักธุรกิจภาคเอกชนดำเนินการ 4 เรื่องคือ 1) ขอให้มึความตื่นตัวในการแข่งขันทั้งในด้านเศรษฐกิจโลกและนโยบายรัฐบาล 2) ขอให้ช่วยกันสร้างบรรยาศที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น 3) ขอให้อยู่บนพื้นฐานความพอดี และ 4) ขอให้บริหารงานโดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งการใช้จ่ายภาคเอกชนผ่านการบริโภคและการลงทุนคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 51.8 และ 16.7 ของ GDP ตามลำดับ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาบทบาทของภาคเอกชนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการไทยเข้มแข็งที่จะดำเนินการในช่วงปี 52-55 โดยเน้นการลงทุนที่สำคัญและจำเป็น คิดเป็นวงเงินรวม 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อปี เทียบกับกรณีที่ไม่มีโครงการลงทุนดังกล่าว
3. สหประชาชาติชี้ว่าเศรษฐกิจโลกหดตัวร้อยละ 2.6
  • สหประชาชาติได้ปรับการประมาณการเศรษฐกิจโลกว่าจะหดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ในปี 52 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์เมื่อเดือนมี.ค. 52 ที่หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี โดยชี้แจงว่า หากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจริง ยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากนักและสถานการณ์ยังมีความคลุมเครืออยู่ ทั้งนี้ ต้นเหตุวิกฤติมาจากประเทศพัฒนาแล้ว แต่ประเทศกำลังพัฒนากลับได้รับผลกระทบหนักกว่า จากการที่นักลงทุนของประเทศพัฒนาถอนการลงทุน ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาต้องเพิ่มจำนวนเงินกู้ยืม ได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติลดลง ประกอบกับโครงสร้างระบบการค้าโลกที่ชะงักงัน อย่างไรก็ดี หากมีความร่วมมือระหว่างประเทศจะทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว และขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 4 - 5 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 53 - 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกอาจเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จาก ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้มีเริ่มฟื้นตัวในเดือน เม.ย. ที่ร้อยละ 5.2 ต่อเดือน นอกจากนี้ ยังสามารถเห็นได้จาก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยที่หดตัวชะลอลง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุตสาหกรรมอาหารและเคมีภัณฑ์ที่สามารถส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนและอินเดีย อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้าและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ