รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 2, 2009 12:00 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 มิ.ย. 2552

SUMMARY:

1. เงินเฟ้อเดือนพ.ค.52 ติดลบร้อยละ -3.3 ต่อปี ต่ำสุดในรอบ 2 ปี

2. กระทรวงพาณิชย์จับตาสินค้า 70 รายการและบริการ 10 รายการที่เข้าข่ายผูกขาด

3. GM เตรียมยื่นขอความคุ้มครองหลังล้มละลาย ด้านรัฐบาลสหรัฐพร้อมช่วยเหลื

HIGHLIGHT:
1. เงินเฟ้อเดือนพ.ค.52 ติดลบร้อยละ -3.3 ต่อปี ต่ำสุดในรอบ 2 ปี
  • กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)ในเดือน พ.ค.52 อยู่ที่ 104.3 หดตัวลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -3.3 ต่อปี และลดลงร้อยละ -0.3 ต่อเดือน จากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ 5 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ค.52) CPI หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -1.1 ต่อปี ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน พ.ค.52 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -0.3 ต่อปี และลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ -0.6 ต่อเดือน ทั้งนี้ Core CPI เฉลี่ยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ค.52) ยังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การหดตัวของเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ค. 52 ที่ร้อยละ -3.3 ต่อปี นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของ 1)หมวดการศึกษาร้อยละ -20.6 ต่อปี (ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา หนังสือและอุปกรณ์การศึกษา) 2) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ -3.6 ต่อปี (เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย หญิง) เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของผู้ถูกสำรวจด้านการศึกษาและเครื่องแบบนักเรียนลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ จากประมาณการเศรษฐกิจปี 2552 ณ เดือนมี.ค. 52 สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 52 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 0.2 — 1.2 ต่อปี) โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนส.ค.52 จากปัจจัยฐานต่ำหลังจากที่ราคาน้ำมันลดลง
2. กระทรวงพาณิชย์จับตาสินค้า 70 รายการและบริการ 10 รายการที่เข้าข่ายผูกขาด
  • กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจและพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าของสินค้าและบริการที่อาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายการเป็นผู้ผูกขาดตลาดตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 พบว่ามีสินค้าและบริการที่เข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดทั้งสิ้น 70 และ 10 รายการ ตามลำดับ จำแนกเป็นสินค้าที่อยู่ใน (1) กลุ่มตลาดผูกขาด 1 รายการ คือ โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก (2) กลุ่มตลาดผู้ขายน้อยรายจำนวน 51 รายการ เช่นน้ำอัดลม กาแฟ เบียร์ สุรา (3) กลุ่มตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดจำนวน 14 รายการ เช่น น้ำมันพืช นม และ (4) กลุ่มตลาดผู้ขายมากรายจำนวน 5 รายการ ได้แก่ ข้าวสารบรรจุถุง ยารักษาโรค เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การติดตามดูราคาสินค้าและบริการที่เข้าข่ายเป็นสินค้าผูกขาดโดยกระทรวงพาณิชย์นั้น จัดเป็นหนึ่งในมาตรการกำกับดูแลกิจการที่มีอำนาจทางการตลาด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกและการผลิตที่หดตัว
3. GM เตรียมยื่นขอความคุ้มครองหลังล้มละลาย ด้านรัฐบาลสหรัฐพร้อมช่วยเหลือ
  • General Motors (GM) บริษัทรถยนต์อันดับหนึ่งของสหรัฐเตรียมตัวยื่นเรื่องขอความคุ้มครองขณะอยู่ในภาวะล้มละลาย (Chapter 11) ในวันที่ 1 มิถุนายน โดยรัฐบาลกลางสหรัฐฯและแคนาดา จะเข้าเพิ่มทุนจำนวน 30.1 และ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แลกกับการเข้าถือหุ้นถือหุ้นร้อยละ 60 และร้อยละ 12 ตามลำดับ หลังจากที่ GM ประสบภาวะขาดทุนสูงถึง 88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่า GM จะปรับโครงสร้างบริษัทภายใน 60-90 วัน โดยจะปิด 11 โรงงานขนาดใหญ่ และเปิด 1 โรงงานผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเข้าช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯและแคนาดา มีความจำเป็น เพื่อให้ GM ดำเนินกิจการต่อไปได้ในระหว่างการปรับโครงสร้าง และมีการมุ่งเน้นการวิจัยรถยนต์ประหยัดพลังงานมากขึ้น แต่หากพิจารณาสาเหตุของการขาดทุนของ GM ที่เกิดจากการขาดประสิทธิภาพในการผลิตเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อาจทำให้ GM ใช้เวลาปรับโครงสร้างมากกว่า 60-90 วัน อย่างไรก็ตาม การเข้าถือครองหุ้นถึงร้อยละ 60 อาจทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลสหรัฐ มีแนวโน้มของการรวมศูนย์กลาง (Centralized Economy) มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ภาคเอกชนในประเทศรวมไปถึงนักลงทุนต่างชาติ ขาดความเชื่อมั่นและลดการลงทุนลง และอาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเข้าแทรกแซงเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นอีกในอนาคต

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ