รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 8, 2009 11:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 มิ.ย. 2552

SUMMARY:

1.รัฐบาลจะเสนอ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2553 ต่อสภาฯ ในกลางเดือนนี้

2. “กสิกร”คาดปลายปี 52 ค่าเงินบาทอ่อน

3. สถานการณ์ว่างงานสหรัฐส่งสัญญาณดี

HIGHLIGHT:
1. รัฐบาลจะเสนอ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2553 ต่อสภาฯ ในกลางเดือนนี้
  • นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจะนำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณและ พ.ร.ก. กู้เงิน เสนอต่อรัฐสภาพิจารณาในวันที่ 17-18 มิ.ย. 2552 เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2553 มีจำนวน 1.7 ล้านล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำ 1.43 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุน 2.12 แสนล้านบาท และงบชำระคืนต้นเงินกู้ 5.09 หมื่นล้านบาท ขณะที่ประมาณการรายได้ที่ 1.35 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ในปี 2553 รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลทั้งสิ้น 3.5 แสนล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลจำนวน 3.5 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 3.5 ของ GDP ในปีงบประมาณ 2553 ประกอบกับโครงการการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) มูลค่า 1.43 ล้านล้านบาทของรัฐบาลที่จะดำเนินการในช่วงปี 52-55 นั้น ถือเป็นการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จำเป็นในภาวการณ์ที่การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพอีกครั้งภายในปลายปี 2552 ทั้งนี้ คาดว่าในปีงบประมาณ 2553 จะมีโครงการลงทุนภายใต้แผน SP2 มูลค่าประมาณ 4.5 แสนล้านบาท
2. “กสิกร”คาดปลายปี 52 ค่าเงินบาทอ่อน
  • ธ.กสิกรไทย เผยว่า ขณะนี้เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งอาจกระทบกับการส่งออก แต่น่าจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น ตามทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าลดลง อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากมีหลายปัจจัยทางเศรษฐกิจกดดัน ได้แก่ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยลง เนื่องจากสินค้าคงคลังของเอกชนเริ่มหดตัว จึงต้องมีการนำเข้าสินค้าเพิ่ม ประกอบกับราคาน้ำมันจะไต่ระดับสูงขึ้น ส่งผลให้ราคานำเข้าน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ไทยเกินดุลการค้าลดลง
  • ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 52 จะติดลบอยู่ในช่วงร้อยละ -3.5 ถึงร้อยละ- 6.0 ต่อปี เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัว แม้จะมีมาตรการการคลังด้วยการทำงบประมาณขาดดุลสูงถึงร้อยละ 7-8 ของGDP
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.76 นับจากต้นปี 52 อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาทอาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ค่าเงินอาจไม่อ่อนตัวลงมากในครึ่งหลังของปี 52 ได้แก่ 1) ทิศทางความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของตลาดโลกที่เริ่มมีมากขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าในกลุ่มประเทศเอเชียส่งผลให้ค่าเงินในแถบภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยแข็งค่าขึ้น 2) การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยโดยคาดว่าทั้งปี 52 จะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 24.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.0 ของ GDP ซึ่งจะเป็นปัจจัยต่อเนื่องให้ค่าเงินบาทไม่อ่อนตัวลงมาก
3. สถานการณ์ว่างงานสหรัฐส่งสัญญาณดี
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐ เผยยอดผู้ขอรับเงินประกันการว่างงานพบว่าตัวเลขปรับลดลงเล็กน้อยเป็นครั้งแรกในรอบ 20 สัปดาห์ มาอยู่ที่ 6.21 แสนคน จากสัปดาห์ที่แล้วที่ 6.25 แสนคน ขณะที่ตัวเลขผู้ขอรับความช่วยเหลือหลังตกงานปรับลดลงเช่นกัน โดยลดลงมา 1.5 หมื่นคน เหลือ 6.7 ล้านคน นับเป็นการปรับลดครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนม.ค. 52 นอกจากนี้ ผลผลิตภาคแรงงานไตรมาสแรกปี 52 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ ร้อยละ 1.6 มากกว่าคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.2 เนื่องจากภาคธุรกิจปลดพนักงานมากขึ้น ทำให้กำลังการผลิตชะลอตัวลง ขณะที่ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวย้ำถึงความเชื่อมั่นว่ามีสัญญาณที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจสิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีภาคอุตสาหกรรม(ISM Manufacturing PMI) ของสหรัฐในเดือน พ.ค. 52 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40.7 จากระดับ 37.8 ในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวดังกล่าวอาจจะไม่ได้สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่แท้จริง แต่ยังมีความเสี่ยงจากตัวเลขการบริโภคโดยเฉพาะในด้านสินค้าคงทนอาจจะไม่ใช่ตัวเลขที่ฟื้นตัวยั่งยืน แต่อาจจะมาจากการที่ผู้ผลิตปรับลดราคาลงมากตามภาวะเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ยังมีกำลังการซื้อสามารถบริโภคสินค้าดังกล่าวมากขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ