Economic Indicators: This Week
ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กในประเทศเดือน เม.ย. 52 หดตัวร้อยละ-11.0 และ -47.0 ต่อปี ตามลำดับ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศถดถอยลง อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนประเภทที่อยู่อาศัย และอาคารพาณิชย์ที่ลดปริมาณลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กให้หดตัวลงตามภาวะดังกล่าว
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 52 อยู่ที่ร้อยละ -3.3 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้า หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนนี้หดตัวร้อยละ -0.3 โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ดัชนีในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มหดตัวร้อยละ -0.5 โดยเฉพาะดัชนีหมวดการศึกษาลดลงกว่าร้อยละ-20.6 และหมวดเครื่องนุ่งห่มลดลงร้อยละ -3.6 เนื่องจากรัฐบาลดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและเครื่องแบบนักเรียนลดลงนอกจากนี้ ดัชนีในหมวดผักและผลไม้ยังหดตัวร้อยละ -2.9 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลของผลไม้หลายชนิดเช่น เงาะ, ลิ้นจี่, ลองกอง ฯลฯ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ค. 52 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ค. 52 หดตัวร้อยละ -21.1 ต่อปี ซึ่งหดตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศรวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้การลงทุนโดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ซึ่งส่งผลต่อความต้องการวัสดุก่อสร้างประเภทโครงสร้างหลักลดลง โดยดัชนีในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กหดตัวร้อยละ -45.1 ต่อปี ซึ่งเป็นการลดลงในส่วนของเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กโครงสร้างรูปพรรณต่างๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างขณะที่หมวดซีเมนต์หดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการลดลงในส่วนของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สินเชื่อภาคเอกชนและเงินฝากของสถาบันรับฝากเงินในเดือน เม.ย. 52 ขยายตัวลดลง สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงิน (ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน) ในเดือน เม.ย. 52 ขยายตัวร้อยละ 5.8 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 6.4 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจ จากความต้องการสินเชื่อที่ลดลงและสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นทั้งนี้ สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 8,488.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่มีจำนวน 8,458.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สินเชื่อภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากหดตัวติดต่อกันใน 3 เดือนก่อนหน้า อันเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐเป็นสำ คัญ ในด้านเงินฝากเดือน เม.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 6.9 ต่อปี ในเดือนก่อน โดยในเดือน เม.ย. 52 มีเงินฝากจำนวน 9,516.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 9,496.8 พันล้านบาทในเดือนก่อนหน้า หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทั้งนี้ หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงินแล้ว เงินฝากจะขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมาสะท้อนว่ามีการย้ายเงินฝากของผู้ฝากเงินไปสู่การลงทุนในตั๋วแลกเงินเพิ่มสูงขึ้น
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค. 52 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.5 ต่อปี ตามการผลิตที่เพิ่มขึ้นของผลผลิตสำ คัญ ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำ ปะหลังและปาล์มน้ำ มันเนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม(CCI) เดือน พ.ค. 52 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 68.0 โดยสาเหตุมาจากปัจจัยทางการเมืองที่มีทิศทางดีขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า พรก. เงินกู้ 4 แสนล้านบาทไม่ขัดกฎหมาย ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐและจีน ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการประกาศตัวเลข GDP ใน Q1/52 ของ สศช. ที่หดตัวลงมากประกอบกับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดังกล่าว
Foreign Exchange Review
ค่าเงินประเทศคู่ค้าของไทยส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหลังจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของโลกที่ปรับตัวดีขึ้น เช่นตัวเลขเศรษฐกิจภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ของสหรัฐที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ระดับ 44.0 จุด ขณะที่ดัชนีการผลิตของยุโรปและจีนในเดือน พ.ค. ที่อยู่ที่ 40.7 และ 53.1 ปรับตัวสูงกว่าระดับอันตรายที่ 40 จุดเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น การที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 1 และส่งสัญญาณว่าคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับนี้อีกระยะหนึ่ง บ่งชี้ว่าภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจแถบยุโรปน่าจะมีแนวโน้มบรรเทาลง ในส่งผลให้นักลงทุนเข้าถือเงินยูโรมากขึ้น ค่าเงินยูโรจึงแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์อินโดนิเซียและค่าเงินวอนเกาหลีแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ของทั้งสองประเทศมีมากขึ้น โดยธนาคารกลางอินโดนิเซีย ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ7.0 ตามตลาดคาด ขณะที่ดุลการค้าเกาหลีเกินดุลเล็กน้อย บ่งชี้ถึงสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ค่าเงินทั้งสองสกุลจึงแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ด้านเงินเยนในช่วงสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น นักลงทุนจึงโยกย้ายเงินลงทุนจากญี่ปุ่นที่ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (Safe Haven Currency) ไปยังตลาดอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับสองสกุลหลักจึงอ่อนค่าลง
อัตราการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการแข็งค่าขึ้นที่มากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคอาทิเช่น ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย เปโซฟิลิปปินส์ หยวน ดอลลาร์สิงค์โปร์และดอลลาร์ฮ่องกง
สาเหตุของการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในสัปดาห์นี้เนื่องจากกระแสการไหลเข้าของเงินทุนมาสู่ตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงสัปดาห์นี้มีปริมาณสูงมากถึงประมาณ 6,500 ล้านบาท สอดคล้องกับดัชนี SET ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาถึงกว่า 40 จุด โดยปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นผลจากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของตลาดที่มีมากขึ้นหลังจากที่ พรก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้รับการอนุมัติแล้ว รวมถึงสัญญาณของเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินไม่ให้แข็งค่าขึ้นมากเกินไป
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 8.3) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 2.9) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.3) หยวน (ร้อยละ 1.9) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 1.8) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 1.8) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1.3) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 1.2) วอนเกาหลี (ร้อยละ 0.6) ยูโร (ร้อยละ 0.3) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -7.9) และรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -5.5) ตามลำดับ
Foreign Exchange and Reserves
ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 29 พ.ค. 52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน หน้ามาอยู่ที่ระดับ 127.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน 0.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธปท.เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินในสภาวะที่มีเงินลงทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่าการซื้อสุทธิที่ประมาณ 0.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวสะท้อนว่า ผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีมากกว่าความต้องซื้อเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (29 พ.ค.52) 0.14 บาท จาก 34.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
Major Trading Partners’ Economies: This Week
สหรัฐฯประกาศปรับปรุงตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 52 โดยหดตัวร้อยละ -5.7 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq annualized) หรือร้อยละ -2.5 ต่อปี ซึ่งดีขึ้นกว่าการประกาศตัวเลขเบื้องต้นเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
Revised GDP ของกลุ่มประเทศยูโรโซนไตรมาส 1 ปี 52 หดตัวลงร้อยละ -4.8 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากตัวเลข flash GDP ที่ประกาศก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี และถือว่าเป็นการหดตัวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อันเป็นผลจากการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออก
GDP ออสเตรเลียไตรมาส 1 ปี 52 ขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี อันเป็นผลมาจากการหดตัวของการนำเข้าสินค้าและบริการที่หดตัวรุนแรงถึงร้อยละ -10.3 ต่อปี ที่ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ดี การลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐยังคงหดตัว ทั้งนี้ GDP ไตรมาส 1 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียรอดพ้นจากภาวะถดถอยทางเทคนิค
ISM Manufacturing Index ของสหรัฐฯเดือนพ.ค. 52 ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องที่ระดับ 42.8 สูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 40.1 โดยยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่และความเร็วของการส่งสินค้าจากผู้ผลิตมีการขยายตัวในขณะที่การผลิต การจ้างงาน และสินค้าคงคลังยังคงลดลง อย่างไรก็ตามดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ยังเป็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว
ดัชนี PMI (Purchasing Manager Index) ภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน พ.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 40.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 36.8 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเริ่มมองว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของกลุ่มประเทศยูโรโซนกำลังจะบรรเทาลงโดยมีสัญญาณจากการที่โรงงานเริ่มเตรียมตัวเพิ่มการผลิต และยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะยังคงมีการปลดคนงานอยู่ก็ตาม
ดัชนีอุตสาหกรรมจีนเดือน พ.ค. 52 ที่รวบรวมโดยทางการจีนอยู่ที่ระดับ 53.1 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ในขณะที่ดัชนีที่รวบรวมโดยบริษัท CLSA อยู่ที่ระดับ 51.2 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย อนึ่งดัชนีที่เกินระดับ 50 สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมจีน
สิงคโปร์เผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ในเดือน พ.ค.52 ที่ระดับ 51.2 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.2 ผลจากการขยายตัวของภาคการผลิต ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ตลอดจนการคงสินค้าคงคลัง ทั้งนี้ เดือนนี้เป็นเดือนแรกในรอบ 9 เดือนที่ค่าดัชนีสูงกว่า 50 สะท้อนการขยายตัวของภาคการผลิต
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ของอินเดียในเดือน พ.ค. 52 ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.7 จาก 53.3 ในเดือนก่อนหน้า และถือเป็นการปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งสะท้อนว่าการผลิตเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ โดยดัชนียอดคำสั่งซื้อใหม่ในเดือนพ.ค.52 ปรับตัวดีชึ้นที่ระดับ 59.1 จาก 54.9 ในเดือนก่อนหน้า ตามอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น
มูลค่าการส่งออกสินค้าของมาเลเซียเดือนเม.ย. 52 หดตัวร้อยละ -26.3 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -15.7 ต่อปี โดยในแง่มิติสินค้า การส่งออกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นสินค้าส่งออกหลัก หดตัวร้อยละ -23.2 ต่อปี ส่วนการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ได้แก่ อาเซียน จีน และสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -26.4 -9.4 และ -38.2 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ -22.4 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -29.0 ต่อปี และดุลการค้าเกินดุล 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออกสินค้าของเวียดนามในเดือน พ.ค. 52 หดตัวลงมากขึ้นที่ร้อยละ -29.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.6 ต่อปี โดยเป็นผลจากการหดตัวของสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่หดตัวลงร้อยละ -24.4 และ -14.4 ต่อปี ตามลำ ดับในขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวลงเช่นกัน โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และสิ่งทอ ที่หดตัวที่ร้อยละ -15.1 และ -13.4 ต่อปี ตามลำดับ
ธนาคารกลางยุโรปประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.00 ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ โดยหันไปใช้นโยบายด้านการเข้าซื้อสินทรัพย์แทน นอกจากนี้ นักวิชาการบางส่วนยังมองว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของกลุ่มประเทศยูโรโซนได้ผ่านพ้นไปแล้ว ในขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือร้อยละ 7.00 จากร้อยละ 7.25 จากความกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -6.2 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th