รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2009 11:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 มิ.ย. 2552

SUMMARY:

1. รัฐบาลเตรียมออกพันธบัตร อายุ 5 ปี ดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2.5

2. บีโอไอเผยยอดขอลงทุน 5 เดือนแรกปีนี้ลดลงร้อยละ 9

3. โตโยต้าคาดเศรษฐกิจที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในช่วงต่อไปจะส่งผลดีต่อยอดขายรถ

HIGHLIGHT:
1. รัฐบาลเตรียมออกพันธบัตร อายุ 5 ปี ดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2.5 ออก
  • นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมครม. ถึงเรื่องการนำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้ในการลงทุนว่า รัฐบาลจะไม่นำเงินสำรองมาใช้ เพราะหากโครงการการลงทุนเป็นเงินบาทก็จะต้องเปลี่ยนเป็นเงินบาทอยู่ดี ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่วนพ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทหลังผ่านสภาได้ จะใช้วิธีหาเงินจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับจะออกพันธบัตรระยะ 5 ปี เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ออม โดยมุ่งเน้นให้แก่ผู้สูงอายุจองเป็นอันดับแรก โดยมีดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ร้อยละ 2.5 และถ้าฝากต่อไปดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออก พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ควบคู่กับพ.ร.บ. กู้เงินเพิ่มเติมอีก 4 แสนล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับการลงทุนทั้งหมดของโครงการได้ ทั้งนี้แหล่งเงินส่วนใหญ่จะอาศัยแหล่งเงินกู้จากในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันสภาพคล่องในระบบการเงินของประเทศอยู่ในระดับสูง มีสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกิน 1.62 ล้านล้านบาท (ณ มี.ค.52) ทำให้เพียงพอต่อการระดมทุนดังกล่าวได้ ซึ่งการออกพันธบัตรสำหรับผู้สูงอายุก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสร้างโอกาสให้แก่ผู้ไม่มีรายได้ประจำหลังจากเกษียณอายุให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นในสภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำอยู่ในขณะนี้
2. บีโอไอเผยยอดขอลงทุน 5 เดือนแรกปีนี้ลดลงร้อยละ 9
  • เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าประมาณ 1.66 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนลดลงถึงร้อยละ 27 โดยอุตสาหกรรมที่ยังขอรับการส่งเสริมอยู่ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงาน อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนในประเทศ และมั่นใจว่าในปี 2552 นี้ จะมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในภาวะเศรษฐกิจหดตัว การลงทุนภาคเอกชนอ่อนแอ ดังนั้น การเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านรายจ่ายเพื่อการบริโภคและรายจ่ายเพื่อการลงทุน จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนและประคับประคองให้อุปสงค์ภายในประเทศไม่หดตัวลงอย่างรุนแรงมากนัก โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐในปี 2552 จะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 13.0 ต่อปี และคาดว่าการลงทุนภาครัฐในปี 2552 จะเร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี ก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริงในปี 2552 จะหดตัวลงที่ร้อยละ -6.1 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนมีนาคม 2552)
3. โตโยต้าคาดเศรษฐกิจที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในช่วงต่อไปจะส่งผลดีต่อยอดขายรถ
  • บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่าจากการที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ในช่วง 4 เดือน (ม.ค —เม.ย.)ที่ผ่านมาโดยตลาดรวมหดตัวลงถึงร้อยละ 31.9 นั้น ได้ส่งผลให้โตโยต้าอาจจะต้องปรับลดประมาณการยอดขายทั้งปีจาก 5.2 แสนคันมาอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคัน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมองว่ายอดขายรถในไตรมาสที่ 3 มีสัญญาณแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการเมืองนิ่ง รวมถึงการกู้เงินของรัฐบาล 4 แสนล้านบาทที่จะมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะส่งผลดีต่อยอดขายรถในช่วงต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในด้านของอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะในด้านของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนนั้นน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงต่อไป มาจากปัจจัย ต่างๆ เช่น 1) ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 (1.167 แสนล้านบาท) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ และมีการเบิกจ่ายไปแล้ว ร้อยละ 47.3 ณ สิ้นเดือนเมษายน 52 2) มาตรการระยะที่ 2 หรือแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง มูลค่า 1.43 ล้านล้านบาท ที่จะลงทุนในโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ในระยะถัดไป ซึ่งน่าจะมีบทบาทสำคัญในการชักจูงให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มมากขึ้น (crowding in effect) ทิศทางปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนเช่นกัน ซึ่งน่าจะส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปีปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ