Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 มิ.ย. 2552
SUMMARY:
1. พานาโซนิคดันไทยเป็นฮับเอเชียฐานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า
2. นายกฯอุ้ม ฟอร์ด-จีเอ็ม ลงทุนไทย
3. อังกฤษและอิตาลีมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ส่งออกเยอรมันยังหดตัว
HIGHLIGHT:
1. พานาโซนิคดันไทยเป็นฮับเอเชียฐานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า
- ประธานบริหารบริษัทพานาโซนิคประเทศไทย เปิดเผยว่า มีแผนดันไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางหรือฮับฐานผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเอเชียตามนโยบายของบริษัทแม่ญี่ปุ่นหลังจากมีสัญญาณบวกทางธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยในช่วง มี.ค.-เม.ย.มียอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 15-20 นอกจากนี้ยังคาดว่าทั้งปี 52 บริษัทจะมีรายได้จากการส่งออกร้อยละ 10 ซึ่งเท่ากับยอดขายภายในประเทศ
- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย มีสัญญาณดีขึ้น พิจารณาได้จากการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนเม.ย.52 หดตัวลดลงที่ร้อยละ -24.0 ต่อปี จากเดือนก่อนๆที่หดตัวเกือบร้อยละ -30 ต่อปี และเมื่อพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงต่อเดือน (mom) ปรับฤดูกาลออก พบว่าขยายตัวเป็นบวกติดต่อกัน 2 เดือน ทำให้คาดว่าสถานการณ์ส่งออกสินค้าดังกล่าวน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว นอกจากนี้ ในด้านการตลาด พบว่าการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไปตลาดจีน และสหรัฐปรับตัวดีขึ้นมาก ทำให้คาดว่าเป็นปัจจัยบวกการผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าวในระยะต่อไป
2. นายกฯอุ้ม ฟอร์ด-จีเอ็ม ลงทุนไทย
- นายกรัฐมนตรีสั่งบีโอไอ-เอ็กซิมแบงก์ อุ้ม จีเอ็ม-ฟอร์ด เป็นกรณีพิเศษ หลังจากที่บริษัททั้งสองมีแผนที่จะลงทุนในไทยเพิ่มเติม ทั้งการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และให้สิทธิประโยชน์ภาษีผ่านส่งเสริมการลงทุน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ด้านบอร์ดบีโอไอออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนดึงบริษัทรถยนต์รายใหญ่ย้ายฐานผลิตเข้ามาไทย พร้อมอนุมัติมาตรการยกเว้นภาษีไม่จำกัด จูงใจเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า นอกจากรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสองแล้ว รัฐบาลยังจะต้องฟื้นฟูสถานการณ์การลงทุนภาคเอกชนที่อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง โดยในไตรมาสแรกของปี 2552 การลงทุนภาคเอกชนที่มีสัดส่วนร้อยละ 16.7 ของGDP หดตัวร้อยละ -17.7 ต่อปี ทั้งนี้ สภาวะเศรษฐกิจที่มีสัญญาณฟื้นตัว และนโยบายส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกของบีโอไอ จะทำให้การลงทุนภาคเอกชนจะมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดย สศค. คาดว่า การลงทุนภาคเอกชนจะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-6.5) - (-5.5) ประมาณการ ณ เดือนมีนาคม 2552
3. อังกฤษและอิตาลีมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ส่งออกเยอรมันยังหดตัว
- สถานการณ์ภาคการผลิตของประเทศในยุโรปที่หดตัวอย่างต่อเนื่องนั้น ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวให้เห็นบ้างแล้วในอังกฤษและอิตาลี ถึงแม้ว่าสถานการณ์ในเยอรมันซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศยูโรโซนยังไม่ค่อยดีนัก โดยตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมของอังกฤษเดือน เม.ย. ขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อหน้า เป็นการขยายตัวเดือนแรกนับตั้งแต่ที่เคยหดตัวติดต่อกันมาเป็นเวลา 14 เดือน ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -12.3 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า สัญญาณการฟื้นตัวของเศรฐกิจในยุโรปเริ่มชัดเจนมากขึ้น โดยสามารถสะท้อนได้จากดัชนี PMI (Purchasing Manager Index: PMI) ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นดัชนีที่วัดความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากที่หดตัวติดต่อกัน 6 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของกลุ่มประเทศยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกันหลังจากลดลงติดต่อกัน 10 เดือน ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของกลุ่มประเทศยูโรโซนก็เริ่มหดตัวในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ -23.5 ต่อปี ในเดือน ก.พ. 52 เป็นร้อยละ -16.7 ต่อปี ในเดือน มี.ค. 52
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th