การจัดตั้งองค์กรเพื่อกำกับดูแลธนาคารในสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 2, 2009 14:29 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงานข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการพิจารณาจัดตั้งองค์กรเพื่อกำกับดูแลภาคธนาคารในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากข้อเสนอนานเฮนรี พอลสัน เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ โดยองค์กรดังกล่าว จะมีหน้าที่หลักในการปรับปรุงกฎระเบียบทางด้านการเงินการธนาคารของสหรัฐฯ ตลอดจนพิจารณาแต่งตั้งผู้มีอำนาจตรวจสอบและควบคุมความเสี่ยงในระบบการเงินการธนาคาร ซึ่งจะครอบคลุมถึงตลาดซื้อขายเครื่องมือทางการเงินที่แต่เดิมไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางการ อาทิเช่น ตลาดตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) และตลาดกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge Fund) ด้วย

องค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นั้น มีขอบข่ายความรับผิดชอบในด้านความมั่นคง และความน่าเชื่อถือของธนาคาร โดยรวมอำนาจการกำกับดูแลให้อยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกันเพื่อให้มีการดำเนินงานในเชิงบูรณาการและปิดช่องโหว่ในการกำกับดูแล ซึ่งปัจจุบันการกำกับดูแลเป็นหน้าทีรับผิดชอบของธนาคารกลางสหรัฐฯ ร่วมกับองค์กรภาครัฐอีก 3 แห่งคือ (1) The Office of the Comptroller of the Currency หรือ OCC (2) The Office of Thrift Supervision หรือ OTS และ (3) บรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ หรือ FDIC จึงนับว่าเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน ทั้งนี้ ภายใต้ระบบการดำเนินงานในปัจจุบัน ธนาคารจะเป็นผู้เลือกว่าจะให้องค์กรใดเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของตน ในขณะเดียวกัน รายได้หลักขององค์กรภาครัฐทั้งสามแห่งก็มาจากค่าดำเนินการที่ได้รับจากธนาคารต่างๆ นั่นเอง กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จึงเห็นว่าโครงสร้างดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการผ่อนปรนความเข้มงวดในการกำกับดูแลธนาคารต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการจัดตั้งองค์กรแห่งใหม่เพื่อกำกับดูแลธนาคารในสหรัฐฯ เสร็จสิ้น จะเหลือแค่เพียงธนาคารกลางสหรัฐฯ และ FDIC ที่ยังคงดำเนินงานต่อไป

ในด้านการกำกับดูแลตลาดทุน อาจมีการรวม (1) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Securities and Exchange Commission: SEC) และ (2) คณะกรรมการกำกับดูแลการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้า (Commodity Futures Trading Commission: CFTC) เข้าด้วยกัน เนื่องจากองค์กรทั้งสองแห่งต่างมีหน้าที่หลักในการคุ้มครองนักลงทุนจากการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้นในตลาดซื้อขายเครื่องมือทางการเงิน นอกจากนี้ได้มีการพิจารณาปรับเพิ่มอำนาจของ FDIC ในการกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการประสบภาวะขาดทุนรุนแรงหรือภาวะล้มละลาย ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐฯ จะประกาสรายละเอียดของแผนการที่กล่าวใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า และเสนอให้สภาคองเกรสพิจารณาต่อไป

สำนักงานที่ปรึกษาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของทางการสหรัฐฯ เป็นไปใหนทิศทางเดียวกันกับการปฏิรูประบบการกำกับดูแลระบบการเงินในหลายๆประเทศที่มีการวมศูนย์อำนาจในการกำกับดูแล เพื่อให้นโยบายและการปฏิบัติเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ดี คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจมีความยึดเยื้อ เนื่องจากได้รับแรงต้านจากผู้เกี่ยวข้องที่เสียประโยชน์ อีกทั้งต้องใช้เวลาในการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดองค์กรเพื่อรับมือโครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้น

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ