รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 17, 2009 11:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 มิ.ย. 2552

SUMMARY:

1. ศูนย์วิจัยฯไทยพาณิชย์ คาด GDP ปี 2552 จะหดตัวร้อยละ 5

2. คณะรัฐมนตรีอนุมัติยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทยปี 2553-2557

3. FED ส่งสัญญาณไม่พิมพ์เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลทางการคลัง

HIGHLIGHT:
1. ศูนย์วิจัยฯไทยพาณิชย์ คาด GDP ปี 2552 จะหดตัวร้อยละ 5
  • ศูนย์วิจัยฯไทยพาณิชย์คาด GDP ปี 2552 จะหดตัวลงประมาณร้อยละ 5 ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 3-3.5 และมองว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบันมิได้มีลักษณะเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำปี 2544 เนื่องจากมีองค์ประกอบแตกต่างกัน โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นการชะลอตัวใน 2 ภาคธุรกิจหลักคือ การท่องเที่ยว และการผลิตที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยมูลค่าการส่งออกของกลุ่มธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็คโทรนิกส์ ลดลงร้อยละ 43, 20 และ 14 ตามลำดับ นับตั้งแต่เข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจขาลงในเดือน ก.ค. 2551
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2552 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น หลังจากในไตรมาส 1/2552 GDP หดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 ต่อปี โดยจากข้อมูลในเดือน เม.ย.พบว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนว่าภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาผลิตเพิ่มขึ้นอีกครั้งตามยอดคำสั่งซื้อที่เริ่มกลับเข้ามา ขณะเดียวกันอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาลแล้วก็ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 นับเป็นสัญญาณที่ดีบ่งชี้ว่าการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวได้ในอนาคต ทำให้ สศค. เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. นี้
2. คณะรัฐมนตรีอนุมัติยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทยปี 2553-2557
  • คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทยปี 2553-2557 เพื่อแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจหลัก 6 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง เงาะ และลองกอง เพื่อพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาผลไม้ เพื่อให้เกษตรกรขายสินค้าและเพิ่มรายได้ เพิ่มกำไรสุทธิต่อไร่ และส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 29,685 ล้านบาท ในปี 2550 เป็น 40,000 ล้านบาท ในปี 2557 โดยจะใช้งบประมาณ 880 ล้านบาท พัฒนาศักยภาพด้านการผลิต และ 274 ล้านบาท พัฒนาตลาดในประเทศ และ 475 ล้านบาท พัฒนาตลาดส่งออก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 2552 ภาคการเกษตรไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อน และการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีผลผลิตภาคการเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่ฐานสูงจากการเร่งการเพาะปลูกในช่วงปีก่อนหน้า และจากราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวร้อยละ -10.4 ตามตลาดโลก ทำให้ใน 5 เดือนแรกของปี 2552 รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ — 10.2 ต่อปี ดังนั้น ยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทยจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวและช่วยพัฒนาตลาดผลไม้ไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
3. FED ส่งสัญญาณไม่พิมพ์เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลทางการคลัง
  • ผู้ว่าการธนาคารสาขาดัลลัส กล่าวว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะไม่พิมพ์เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลทางการคลังหลังจากที่ตลาดเริ่มแสดงถึงความวิตกต่อฐานะการคลังที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อในช่วงถัดไป สะท้อนได้จากผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะยาว เช่น พันธบัตรอายุ 10 ปี ที่ปรับตัวขึ้นสูงที่สุดในรอบ 7 เดือนในวันที่ 10 มิ.ย. 52 ที่ระดับประมาณร้อยละ 3.9 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนวิตกกังวลถึงผลการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่สำนักวิจัย EIU คาดว่าสหรัฐฯ จะขาดดุลร้อยละ 13 ของ GDP ในปี 52 ซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปี 52 อยู่ที่ร้อยละ 86.1 ต่อ GDP เพิ่มจากร้อยละ 67.7 ต่อ GDP ในปี 51 ขณะที่ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการว่าระดับหนี้สาธารณะรวมของประเทศพัฒนาแล้ว 10 อันดับแรกจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 114 ของ GDP ในปี 57
  • สศค. วิเคราะห์ว่าระดับหนี้สาธารณะของประเทศต่าง ๆ ที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องและความไม่ยั่งยืนทางการคลังอาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป เนื่องจากจะลดแรงจูงใจของภาคเอกชนในการลงทุนจากดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น (Crowding out effect) และยังทำให้เกิดความเสี่ยงเงินเฟ้อและการผิดชำระหนี้ (default) ของพันธบัตรรัฐบาลหลายประเทศ เช่น กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี โปรตุเกส และสเปน ทั้งนี้ สศค. เห็นว่า แนวทางการชดเชยหนี้จากการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลต่าง ๆ ในอนาคตได้แก่ (1) การกู้หนี้ใหม่เพื่อจ่ายภาระดอกเบี้ยของหนี้เก่า (Roll-over debt) ซึ่งจะทำให้ภาระดอกเบี้ยและหนี้สาธารณะยิ่งเพิ่มขึ้นในระยะยาว (2) การเพิ่มอัตราภาษี ซึ่งจะเป็นภาระต่อประชาชนและภาคธุรกิจ และ (3) ลดการใช้จ่ายภาคสาธารณะซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมในระยะยาว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ