รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 22, 2009 10:40 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 มิ.ย. 2552

SUMMARY:

1. คาดสินเชื่อระบบแบงค์ปี 52 ขยายตัวร้อยละ 6 ต่อปี

2. ธนาคารพาณิชย์เชื่อ ธปท.ไม่ขยับขึ้นดอกเบี้ยเหตุเศรษฐกิจยังหดตัว

3. ทั่วโลกเห็นพ้องวิกฤตการเงินเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจสู่มือเอเชีย

HIGHLIGHT:
1. คาดสินเชื่อระบบแบงค์ปี 52 ขยายตัวร้อยละ 6 ต่อปี
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ในปี 52 สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวไม่เกินร้อยละ 6 ต่อปี ในภาวะเศรษฐกิจหดตัว หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 3.5 แสนล้านบาท โดยร้อยละ 40 เป็นสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.4 แสนล้านบาท สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ SME ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางขนาดย่อม (บยส.) ที่ตั้งไว้ 3 หมื่นล้าน ได้มีธนาคารแจ้งความจำนงขอวงเงินกู้แล้ว 2.87 หมื่นล้านบาท และตอนนี้ทยอยให้การค้ำประกันแล้ว 500 ล้านบาท จากที่เริ่มโครงการมาเป็นเวลา 1 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปี 51 การให้สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี ในขณะที่ 4 เดือนแรกปี 52 มีการขยายตัวร้อยละ 6.9 ต่อปี ทั้งนี้ ในภาวการณ์ที่การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องนั้นการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อ นับเป็นส่วนสำคัญด้านหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการเงินเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมจากนโยบายทางด้านการคลังจากจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลและการมีโครงการการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2)
2. ธนาคารพาณิชย์เชื่อ ธปท.ไม่ขยับขึ้นดอกเบี้ยเหตุเศรษฐกิจยังหดตัว
  • กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย เผยว่า การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นต้องติดตามการส่งสัญญาณจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ยังคงเชื่อว่าในระยะสั้นในระยะสั้นคงยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะธนาคารกลางทุกประเทศมีนโยบายว่าต้องปรับขึ้นในช่วงที่เหมาะสมจริงๆ โดยที่ไม่ขัดขวางการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ต้องสามารถสกัดความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี ทั้งนี้ ในภาวะปัจจุบันมีปัจจัยจากแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง และเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงชะลอตัว อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงไม่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำแต่ภาครัฐจำเป็นต้องดูแลให้อัตราดอกเบี้ยตลาดทั้งเงินกู้และเงินฝากอยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย
3. ทั่วโลกเห็นพ้องวิกฤตการเงินเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจสู่มือเอเชีย
  • บรรดานักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลก ต่างระบุในที่ประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม เอเชียตะวันออก ว่า ศักยภาพและความแข็งแกร่งของภูมิภาคเอเชียนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวท่ามกลางวิกฤตการณ์การเงินทั่วโลก และยังมีโอกาสสูงที่จะก้าวไปถึงความเป็นผู้นำเศรษฐกิจของโลก ด้าน เอดีบี กล่าวว่าหนทางที่จำทำให้เอเชียก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำของโลกได้คือการเปลี่ยนรูปแบบทางเศรษฐกิจ จากการเป็นผู้ผลิตเพื่อป้อนสินค้าให้กับโลก ไปสู่การผลิตเพื่อการบริโภคภายในภูมิภาคแทน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน ได้ส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ อันเป็นผลเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการเพิ่มรายจ่ายของภาครัฐ ส่งผลให้ธนาคารโลกปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2552 จากร้อยละ 6.5 เป็นร้อยละ 7.2 ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย เป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้รวดเร็วมากขึ้นจากเดิมที่คาดไว้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ