รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 15-19 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 22, 2009 11:35 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน พ.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -26.6 ต่อปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปริมาณการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ -24.2 ต่อปี เทียบกับเดือนก่อนหน้า ที่หดตัวร้อยละ -23.7 ต่อปีและราคาหดตัวร้อยละ -3.1 ต่อปี ผลจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวในทุกหมวดสินค้าส่งออกหลัก ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน พ.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -34.7 ต่อปี โดยปริมาณนำเข้าหดตัวถึงร้อยละ -29.9 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ-31.4 ต่อปี และราคาหดตัวร้อยละ -6.8 ต่อปี ผลจากการนำเข้าหดตัวในทุกหมวดเช่นเดียวกัน ทำให้ดุลการค้าเดือน พ.ค. 52 เกินดุล 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค. 52 หดตัวร้อยละ -18.3 ต่อปีจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้การส่งออกและการจ้างงานลดลง ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ประชาชน ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ลดลง และปัจจัยฐานสูงของช่วงเดียวกันของปีก่อนที่รัฐบาลมีนโยบายลดภาษีสรรพสามิตให้แก่ผู้ชื้อรถยนต์ E20 ส่งผลให้ผู้บริโภคเร่งซื้อรถยนต์ในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในช่วงปลายปี 52 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นประกอบรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่พร้อมจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะสามารถกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงาน และจะเป็นปัจจัยบวกการบริโภคของประชาชนในระยะต่อไป

ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนพ.ค.52 หดตัวที่ร้อยละ -9.2 ต่อปี หดตัวในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -17.7 ต่อปี เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการเพิ่มรายได้เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือมาตรการเช็คช่วยชาติ 2000 บาท ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้และมีความเชื่อมั่นในการบริโภคเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2552 สถานการการจำหน่ายรถจักรยานยนต์มีสัญญาณดีขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2552 หดตัวที่ร้อยละ-15.1 ต่อปี ตามราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่ปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและราคาน้ำมัน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงตาม

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -31.1 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -39.7 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน ตามการการลงทุนในประเทศที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 52 ตามการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ(Mega Project) ที่จะเพิ่มอุปสงค์ต่อสินค้าในประเทศ และจะจูงใจให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในช่วงครึ่งหลังปี 51

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม(TISI) เดือน พ.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 78.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 76.3 โดยเป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายโดยรวม และราคาขายสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 38 นับแต่เดือน เม.ย.49 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก ประกอบกับยังคงมีปัจจัยลบจากต้นทุนประกอบการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(MPI) เดือน พ.ค. 52 คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ -14.5 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -13.4 ต่อปี ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการประสบกับปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้าให้สูงขึ้นได้เนื่องจากกเกรงว่าจะไปกระทบยอดขายและยอดสั่งซื้อในอนาคตได้

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมาก

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักของไทยในช่วงสัปดาห์นี้ตามความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ตลาดมองว่ามีเพิ่มมากขึ้น (risk aversion) หลังจากที่กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯรายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. หดตัวร้อยละ -1.3 ต่อปี ต่ำสุดในรอบ 59 ปี ประกอบกับการที่บริษัทการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard and Poor’s ได้ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินของสหรัฐฯ 22 แห่งส่งผลให้ความต้องการของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯและค่าเงินเยนซึ่งตลาดมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดเพิ่มมากขึ้นและแข็งค่าขึ้นตามลำดับ

ค่าเงินยูโรและปอนด์สเตอลิงค์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่ตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรม (Euro-Zone Industrial Production) เดือน เม.ย.ปรับตัวลดลงร้อยละ -1.9 ต่อเดือนและลดลงร้อยละ -21.6 ต่อปี (y-o-y) ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้และเป็นการปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 23 ปี ประกอบกับค่าเงินยูโรยังได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวในรายงานว่าภายในสิ้นปี 53 สถาบันการเงินยุโรปอาจจะมีการตัดหนี้สูญ (Write-down) เพิ่มขึ้นอีก 283 พันล้านยูโร

ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วตามความต้องการสินทรัพย์สกุลที่ปลอดภัยจากปัจจัย risk aversion ข้างต้นประกอบกับการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.1 เป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้และปรับเพิ่มแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นไปในทางบวกเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดย BOJ ระบุว่าภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้มีแนวโน้มเริ่มผ่อนคลายลงสะท้อนได้จากตัวเลขส่งออกและภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.09 นับจากช่วงต้นสัปดาห์ แต่แข็งค่าขึ้นนับจากช่วงต้นเดือนและต้นปีที่ร้อยละ 3.40 และ 1.70 ตามลำดับ

อัตราการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการแข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคส่วนใหญ่ อาทิเช่น ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย เปโซฟิลิปปินส์ หยวน วอนและดอลลาร์สิงค์โปร์

ค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากตลาดมองว่าความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจ สหรัฐฯ และยุโรปมีมากขึ้นจึงนำเงินออกจากตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนหนึ่งเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ ไทยเป็นจำนวนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับค่าเงินภูมิภาคแล้ว พบว่าเงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 19 มิ.ย. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 2.53 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 2. 68

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 7.3) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 4.0) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 3.5) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.9) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.1) ยูโร (ร้อยละ 2.0) หยวน (ร้อยละ 1.9) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 1.8) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 1.8) วอนเกาหลี (ร้อยละ 1.8) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -9.4) และรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -4.0) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 12 มิ.ย.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 128.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธปท.เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินในสภาวะที่มีเงินลงทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่าการซื้อสุทธิที่ประมาณ 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวสะท้อนว่า ผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องซื้อเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (5 มิ.ย.52) ร้อยละ -0.20 บาท จาก 34.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ยอดบ้านใหม่เริ่มสร้าง (Housing Starts) และใบขออนุญาตก่อสร้าง (Building Permits) ของสหรัฐฯเดือนพ.ค.52 ขยายตัวที่ร้อยละ 17.2 และร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ที่ 532,000 หลัง ปรับตัวสูงขึ้นมาจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -12.9 และ -2.5 ตามลำดับ (ตัวเลขปรับปรุง) โดยปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวตัวของการก่อสร้างอาคารชุดที่ขยายตัวตัวถึงร้อยละ 61.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังจากที่ในเดือนเม.ย. หดตัวถึงร้อยละ -46.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าบ่งชี้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯเริ่มแสดงสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯเดือนพ.ค.52 หดตัวที่มากสุดในรอบ 59 ปีที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี ลดลงจากเดือนเม.ย.ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

มูลค่าการส่งออกสินค้าของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนเม.ย. 52 หดตัวร้อยละ -26.8 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -15.4 ต่อปีเนื่องจากอุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกของกลุ่มประเทศยูโรโซนจากอังกฤษสหรัฐฯ ยุโรปตะวันออก และจีนลดลงมาก ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวลงร้อยละ -27.6 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -18.3 ต่อปี จากอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 2.7 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.8 พันล้านยูโร

ผลผลิตอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนเม.ย. 52 หดตัวร้อยละ -21.6 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -19.3 ต่อปีและถือเป็นการหดตัวรุนแรงสุดในประวัติศาสตร์ โดยการผลิตสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางหดตัวลงมาก เนื่องจากผู้ประกอบการทั้งจากภายในกลุ่มประเทศยูโรโซนและต่างประเทศลดการลงทุนลง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าทุนยังเบาบาง ประกอบกับผู้ประกอบการยังคงมีสินค้าคงคลังสะสมอยู่

ตัวเลขดัชนียอดค้าปลีกสิงคโปร์เดือนพ.ค. 52 อยู่ที่ 97.3 หดตัวร้อยละ -11.7 ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ -3.1 โดยปัจจัยสำคัญมาจากยอดขายรถยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านที่ลดลง อย่างไรก็ดี ยอดขายสินค้าหมวดเวชภัณฑ์และสุขภัณฑ์กลับมียอดที่เพิ่มขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดไข้หวัด 2009 ขึ้น

สิงคโปร์ประกาศตัวเลขส่งออกสินค้าไม่รวมน้ำมัน (NODX) ในเดือนพ.ค. 52 มูลค่า 10.94 พันล้านดอลล่าร์สิงคโปร์ หดตัวร้อยละ -12.1 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 12 ซึ่งกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนสูง

ยอดขายสินค้าอุตสาหกรรมของมาเลเซียเดือนเม.ย.52 หดตัวร้อยละ-26.2 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -25.6 ต่อปี(ตัวเลขปรับปรุง) เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 นอกจากนี้ จำนวนผู้ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -7.7 ต่อปี รวมทั้งค่าจ้างที่หดตัวร้อยละ -9.4 ต่อปี บ่งชี้ถึงภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซียที่ยังคงซบเซา

อัตราการว่างงานเฉลี่ย 3 เดือนของฮ่องกง ณ สิ้นเดือนพ.ค.52 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ของกำลังแรงงานรวม คงที่มาจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการคงที่ครั้งแรกนับจากอัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนส.ค.51 โดยผู้ถูกจ้างงานเฉลี่ยเดือนมี.ค.-พ.ค.52 อยู่ที่ 3.514 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.502 ล้านคน แต่กำลังแรงงานรวมปรับตัวสูงขึ้นเป็น 3.714 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจฮ่องกงที่ยังคงอยู่ในภาวะถดถอยจากภาคการส่งออกที่อ่อนแอ อาจเป็นปัจจัยทำให้อัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นอีกได้

มูลค่าการส่งออกสินค้าของอินเดียในเดือนเม.ย. 52 หดตัวลงต่อเนื่องที่ร้อยละ -33.2 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -33.3 ต่อปี ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปี 52 การส่งออกอินเดียหดตัวไปแล้ว -27.9 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าของอินเดียเดือนเม.ย.52 หดตัวลงที่ร้อยละ -36.6 ต่อปี ปี ส่งผลให้ 4 เดือนแรกปี 52 การนำเข้าอินเดียหดตัวไปแล้ว -30.5 ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงภาคการค้าของอินเดียได้รับผลกระทบเศรษฐกิจโลก และอาจกระทบต่อเศรษฐกิจอินเดียได้ในระยะต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ