การส่งออกสินค้า ถือเป็นเครื่องยนต์ใหญ่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะมีสัดส่วนในรูป Real terms สูงถึงร้อยละ 59 ของ GDP ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยัง 14 ประเทศคู่ค้าหลักถึงร้อยละ 79.8 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2551 โดยไทยส่งออกไปยังตลาดหลัก (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) ด้วยสัดส่วนร้อยละ 34.7 หรือกว่าหนึ่งในสามของมูลค่าการส่งออกรวมในช่วงสิบเดือนแรกของปี 2551 ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศทั้งสามที่เกิดจากวิกฤตในภาคการเงิน จึงมีผลต่อการส่งออกของไทยรวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่มีตลาดหลักทั้งสาม เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 ประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าหมวดต่างๆไปยังตลาดรองมากขึ้น และมีการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไปยังตลาดรองเหล่านี้ในบางเดือน ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัว ตามเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ตลาดรองและตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ อาจทำหน้าที่เสมือนน้ำมันที่จะช่วยหล่อลื่นการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้ ในขณะที่ฟันเฟืองหลักของการส่งออกเริ่มฝืดเคือง
การส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน หดตัวถึงร้อยละ -21.0 ต่อปี และหากหักทองคำออก มูลค่าการส่งออกจะหดตัวถึงร้อยละ -26.4 ต่อปี อย่างไรก็ตาม หากเราคำนวณอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว มูลค่าการส่งออกรวมจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และหากไม่นับรวมทองคำซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 เทียบกับเดือนก่อนหน้า
หากพิจารณาเป็นรายสินค้า เราจะเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมหลัก จากอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว ถึงแม้ว่าการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้าจะยังคงติดลบก็ตาม โดยการส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ มีอัตราการเติบโตรายเดือนที่เป็นบวกติดต่อกันถึง 3 เดือน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ — เมษายน เช่นเดียวกับการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีแนวโน้มที่คล้ายคลึงกัน โดยมีอัตราการ ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่สองในเดือนเมษายน ในขณะที่การส่งออกสิ่งทอมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ยังไม่เด่นชัดนักแต่การขยายตัวรายเดือนในเดือนเมษายนเป็นบวกสูงถึงร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า การส่งออกเคมีภัณฑ์ เป็นสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกซึ่งมีอัตราการขยายตัวรายเดือนที่เป็นบวกมานานถึง 5 เดือนติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 เป็นต้นมา เราจึงสามารถอนุมานได้ว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกเคมีภัณฑ์ที่ติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น อาจเกิดจากปัจจัยฐานสูงในปี 2551
การเติบโตของการส่งออกสินค้าดังกล่าว ส่วนใหญ่ได้รับอานิสงส์จากการส่งออกไปยังตลาดใหม่และตลาดรองเนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 ตลาดของไทย อันได้แก่สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ที่ส่งผลลบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจประเทศโลกที่หนึ่ง ทำให้อุปสงค์จากประเทศเหล่านี้ลดลงมาก ในขณะที่ตลาดใหม่และตลาดรอง มักเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้อย่างแผ่วเบา หรือมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและนำไปปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศเหล่านี้ไม่หดตัวอย่างรุนแรงนัก ส่งผลให้การส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ยังคงมีแนวโน้มที่สดใส ดังจะกล่าวในบทต่อไป
3.1 ประเทศจีน
ในปี 2551 ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 16,190.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.2 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2550 และมีสัดส่วนร้อยละ 9.1 ของการส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนนั้น มีมูลค่าทั้งสิ้น 20,055.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 23.6 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยสินค้านำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล และเหล็ก ทำให้ดุลการค้าในปี 2551 ไทยขาดดุลทั้งสิ้น 3,865.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขการส่งออกไปยังประเทศจีนในเดือนเมษายน 2552 มีมูลค่า 1,224.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -13.2 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -14.0 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 9.3 ต่อเดือน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 14.9 ต่อเดือน สำหรับการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนใน 4 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่า 4,218.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -23.9 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกหลัก 5 อันดับแรกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังจีนแสดงสัญญาณการฟื้นตัวในสินค้าสำคัญหลายรายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ ยางพารา เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
การส่งออกไปยังจีนที่มีสัญญาณฟื้นตัวนั้น ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ เป็นผลจากเศรษฐกิจจีนซึ่งไม่ได้หดตัวรุนแรงดังเช่นประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ประกอบกับการมีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่เพียงพอที่จะทดแทนผลจากการชะลอลงของการส่งออก โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาส 1 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี โดยในด้านอุปทาน ภาคการเกษตรขยายตัวเพียงร้อยละ 3.5 ต่อปี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 และร้อยละ 7.4 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 จำนวน 4 ล้านล้านหยวน โดยแบ่งเป็น 5 ด้านหลัก ดังนี้
1) ลงทุนในสาธารณูปโภคโดยเฉพาะถนน ทางรถไฟ ท่าอากาศยาน และโรงไฟฟ้า
2) ปฏิรูปที่ดินเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร และลงทุนในโครงการอนุรักษ์น้ำ
3) ริเริ่มโครงการสวัสดิการสังคม เช่น ที่อยู่อาศัยของรัฐ
4) เปลี่ยนระบบภาษีมูลค่าเพิ่มโดยเฉพาะภาษีของสินค้าส่งออก เพื่อลดภาษีและกระตุ้นการส่งออก
5) ช่วยเหลือและบูรณะบ้านเรือนของผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว
นอกจากนี้เมื่อเดือนเมษายน 2552 จีนได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 มูลค่า 908 พันล้านหยวน ซึ่งสามารถแบ่งมาตรการเป็น 2 ด้าน คือ
1) มาตรการด้านภาษี ได้แก่ (1) ลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (2) เพิ่มการคืนภาษีสำหรับสินค้าอุตสาหกรรม 3,486 รายการ (3) ลดภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก (4) ลดภาษีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ และ (5) ยกเว้นภาษีรายได้ดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์
2) มาตรการด้านรายจ่าย ได้แก่ (1) โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม (2) ปรับปรุงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (3) ลงทุนในสาธารณูปโภคภาคการเกษตรและชนบท (4) โครงการการเคหะแห่งชาติ และ (5) ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากแผ่นดินไหว
สศค. คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2552 จะขยายตัวร้อยละ 7.0 - 7.8 ต่อปี ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่ยังคงขยายตัวได้ และสัญญาณทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้การส่งออกไปยังประเทศจีนจะมีบทบาทมากขึ้นในปี 2552
3.2 เขตปกครองพิเศษฮ่องกง
ในปี 2551 ไทยส่งออกสินค้าไปยังฮ่องกงเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 10,046.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขยายตัวร้อยละ 15.5 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2550 และมีสัดส่วนร้อยละ 5.6 ของการส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกหลัก 5 อันดับแรกได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า หนังสือและสิ่งพิมพ์ และเม็ดพลาสติก สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากฮ่องกงนั้น มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,948.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 35.2 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยสินค้านำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยอัญมณีทองคำ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผ้าผืน และสินแร่โลหะ ทำให้ดุลการค้าในปี 2551 ไทยเกินดุลทั้งสิ้น 8,097.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขการส่งออกไปยังฮ่องกงล่าสุดในเดือนเมษายน 2552 มีมูลค่า 607.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -19.7 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -28.3 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อเดือน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -34.6 ต่อเดือน สำหรับการส่งออกสินค้าไปยังฮ่องกงใน 4 เดือนแรกของปี 2552 พบว่า มีมูลค่า 2,850.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวร้อยละ -15.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกหลัก 5 อันดับแรกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ หนังสือและสิ่งพิมพ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้าและเม็ดพลาสติก โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีการส่งออกทองคำเป็นมูลค่าถึง 410.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 580.1 ต่อปี ส่งผลให้การส่งออกไปยังฮ่องกงในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวอยู่ในแดนบวก และทำให้การส่งออกโดยรวมของไทยในเดือนดังกล่าวหดตัวไม่มากนัก
สศค. คาดว่า เศรษฐกิจฮ่องกงในปี 2552 จะหดตัวในช่วงร้อยละ (-6.5) - (-6.0) ต่อปี สำหรับมาตรการรองรับวิกฤตเศรษฐกิจของฮ่องกงนั้น มีเพียงมาตรการทางการเงินในด้านการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตามราคาทองคำในปัจจุบันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากความกังวลด้านเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากผลของการอัดฉีดเงินจำนวนมากจากภาครัฐในหลายๆประเทศผ่านทางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการเร่งขายทองเพื่อทำกำไร ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทองคำไปยังฮ่องกงสูงขึ้น และภาพรวมการส่งออกของไทยก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ การส่งออกทองคำไปยังฮ่องกงจึงเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการส่งออกของไทยในช่วงปี 2552 นี้ แม้ว่าการส่งออกทองคำจะไม่ได้สะท้อนถึงภาคการผลิตที่แท้จริงก็ตาม
3.3 ประเทศออสเตรเลีย
ในปี 2551 ไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศออสเตรเลีย เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7,982.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 34.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2550 และมีสัดส่วนร้อยละ 4.5 ของการส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกหลัก 5 อันดับแรกได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากออสเตรเลียนั้น มีมูลค่าทั้งสิ้น 5,164.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 35.9 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยสินค้านำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ สินแร่โลหะ น้ำมันดิบ เครื่องเพชร พลอยอัญมณีทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ทำให้ดุลการค้าในปี 2551 ไทยเกินดุลทั้งสิ้น 2,817.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การส่งออกไปยังออสเตรเลียในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2552 มีมูลค่า 956.4 และ 553.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ ถือเป็นการขยายตัวร้อยละ 58.6 และ 3.0 ต่อปี ตามลำดับ ขยายตัวจากเดือนมกราคมที่หดตัวร้อยละ -12.1 ต่อปีผลจากราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงดังกล่าว และจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศออสเตรเลียในโครงการ “Nation building” เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จึงมีการนำเข้าโครงสร้างที่ทำด้วยเหล็กจากไทยเป็นจำนวนมากเพื่อการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังออสเตรเลียในเดือนเมษายน 2552 มีการหดตัวที่ร้อยละ -22.6 ต่อปี ผลจากวันทำการที่น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนและการส่งออกรถยนต์ที่ยังคงหดตัว ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไปยังออสเตรเลียใน 4 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่า รวม 2,520.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกหลัก 5 อันดับแรกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
สศค. คาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียในปี 2552 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.2 ต่อปี จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กระตุ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน อีกทั้งภาคการส่งออกของออสเตรเลียยังขยายตัวได้ดี โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียในไตรมาสแรกของปี 2552 นี้ ขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี สวนทางกับประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีการหดตัว
3.4 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในปี 2551 ไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,979.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 39.0 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2550 และมีสัดส่วนร้อยละ 1.1 ของการส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่อัญมณีและเครื่องประดับ และนาฬิกาและส่วนประกอบ โดยทองคำมีสัดส่วนร้อยละ 50.4 ของมูลค่าการส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2551 สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์นั้น มีมูลค่าทั้งสิ้น 3,957.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 35.9 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยสินค้านำเข้าหลัก คือ เครื่องเพชรพลอยอัญมณีทองคำ และนาฬิกาและส่วนประกอบ ทำให้ดุลการค้าในปี 2551 ไทยขาดดุลทั้งสิ้น 1,978.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องด้วยราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ทำให้การส่งออกไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีบทบาทมากขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกมูลค่าการส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์สูงถึง 1,677.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 250.7 ต่อปี ทำให้สวิตเซอร์แลนด์มีบทบาทมากขึ้นต่อการส่งออกของไทยในปี 2552 ที่ราคาทองคำอยู่ในภาวะที่สูงขึ้นจากความกังวลของนักลงทุนภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงไม่มีความแน่นอน
3.5 ตะวันออกกลาง
ในปี 2551 ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังตะวันออกกลางเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 9,731.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 25.2 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2550 และมีสัดส่วนร้อยละ 5.5 ของการส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ ข้าว เครื่องปรับอากาศ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากตะวันออกกลางนั้น มีมูลค่าทั้งสิ้น 28,174.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 51.9 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยสินค้านำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดิบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และสินแร่อื่นๆ ทำให้ดุลการค้าในปี 2551 ไทยขาดดุลทั้งสิ้น 18,443.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลหลักมาจากราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าหลักจากตะวันออกกลางในปี 2551 พุ่งสูงขึ้นมากจากปี 2550
ตัวเลขการส่งออกไปยังตะวันออกกลางในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2552 มีมูลค่า 690.7 และ 780.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ถือเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 3.3 ต่อปี ตามลำดับ ขยายตัวจากเดือนมกราคมที่หดตัวร้อยละ -5.9 ต่อปี และหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว การส่งออกไปยังทวีปแอฟริกามีการขยายตัวรายเดือนในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตะวันออกกลางในเดือนเมษายน 2552 มีการหดตัวอย่างเห็นได้ชัด ผลจากวันทำการที่น้อยกว่าทั้งเดือนก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้การส่งออกสินค้าไปยังตะวันออกกลางใน 4 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่ารวม 2,641.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -6.1 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณาการส่งออกไปยังตะวันออกกลางในไตรมาสแรกของปี 2552 จะมีมูลค่ารวม 2,125.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวเพียงร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกหลัก 5 อันดับแรกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ รถยนต์ ข้าว เครื่องปรับอากาศ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2552 มีการขยายตัวที่สูง โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์ที่มีอัตราการขยายตัวดีทั้งรายปีและรายเดือน ในขณะเดียวกัน การส่งออกข้าว มีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ต่อเนื่องถึงเดือนมีนาคม 2552 ดูได้จากอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่เป็นบวกในระดับที่สูง และการส่งออก เครื่องปรับอากาศ ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 22.1 ต่อปี หรือร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยหักผลทางฤดูกาลแล้ว ผลจากภูมิอากาศในแถบตะวันออกกลาง ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้าและจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
3.6 ทวีปแอฟริกา
ในปี 2551 ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังทวีปแอฟริกาเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 6,765.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 44.5 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2550 และมีสัดส่วนร้อยละ 3.8 ของการส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกหลัก 5 อันดับแรกได้แก่ ข้าว เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ยานยนต์ อาหารทะเลแปรรูป และเม็ดพลาสติก สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากทวีปแอฟริกานั้น มีมูลค่าทั้งสิ้น 2,303.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.2 ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยสินค้านำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดิบ สินแร่อื่นๆ อัญมณีและเครื่องประดับ เส้นใย และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ทำให้ดุลการค้าในปี 2551 ไทยเกินดุลทั้งสิ้น 4,461.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขการส่งออกไปยังทวีปแอฟริกาในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2552 มีมูลค่า 455.6 และ 701.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ถือเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.9 และ 17.6 ต่อปี ตามลำดับ ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนมกราคมที่หดตัวร้อยละ -25.1 ต่อปี และหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว การส่งออกไปยังทวีปแอฟริกามีการขยายตัวรายเดือนติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2552 สำหรับการส่งออกสินค้าไปยังทวีปแอฟริกาใน 4 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่า รวม 1,974.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -5.0 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังทวีปแอฟริกาในไตรมาสแรกของปี 2552 มีมูลค่ารวม 1,511.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกหลัก 5 อันดับแรกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ข้าว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเม็ดพลาสติก อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม 2552 มีการขยายตัวที่สูง ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกโครงสร้างที่ทำด้วยเหล็ก ซึ่งอยู่ในหมวดสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เป็นการส่งออกไปยังประเทศมาดากัสการ์กว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าสินค้าส่งออกหมวดนี้ผลจากนโยบายของรัฐบาลมาดากัสการ์ที่ส่งเสริมการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของผู้ได้รับสัมปทานเหมืองเพชรพลอย
การส่งออกไปยังตลาดใหม่ของไทย อาจเป็นหนึ่งในน้ำมันที่จะช่วยหล่อลื่นการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้ โดยเห็นได้ชัดจากในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดใหม่เหล่านี้ เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงหมวดสินค้าส่งออกด้วย เนื่องจากการส่งออกสินค้าบางรายการ เช่นทองคำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไม่หดตัวมากนักนั้น เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทยต่ำ ดังนั้น นอกจากการเร่งการเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการส่งออกแล้ว เราควรคำนึงถึงการใช้ข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของไทย และเน้นการส่งออกสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจได้ในระดับสูงไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ที่ยังคงมีสัดส่วนการส่งออกที่ต่ำเมื่อเทียบกับสินค้าหมวดอื่นๆ และยังคงมีศักยภาพของการขยายตัวของการส่งออก และสามารถเป็นสินค้าส่งออกที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม เพื่อที่การส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสามารถนำเศรษฐกิจไทยพ้นวิกฤตได้ แม้ในยามที่ตลาดส่งออกหลักประสบภาวะวิกฤต
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th