รายได้รัฐบาลประจำเดือนพฤษภาคม 2552 และในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 23, 2009 09:16 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนพฤษภาคม 2552 ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 217,056 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเป็นเดือนแรก ส่งผลให้รายได้รัฐบาลในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 — พฤษภาคม 2552) มีจำนวนทั้งสิ้น 874,678 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาแนวโน้มการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2552 จะมีปัจจัยบวกสำคัญ 3 ประการ คือ

การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบในเดือน พฤษภาคม 2552 ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มประมาณ 23,850 ล้านบาท

การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีทิศทางไม่ได้ลดลงมากจากที่ได้คาดการณ์ไว้เดิม

การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง (จากที่ได้เร่งคืนส่วนที่ค้างอยู่ในช่วงไตรมาสแรก)

ดังนั้น กระทรวงการคลังคาดว่า การจัดเก็บรายได้ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2552 จะต่ำกว่าประมาณการตาม เอกสารงบประมาณ (1,604,640 ล้านบาท) น้อยกว่า 280,000 ล้านบาท ตามที่คาดไว้เดิมโดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. เดือนพฤษภาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 217,056 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกัน ปีที่แล้ว 59,914 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.6 โดยมีภาษีที่สำคัญที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ได้แก่

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 85,744 และ 45,759 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 53,848 และ 9,138 ล้านบาท หรือร้อยละ 38.6 และ 16.6 ตามลำดับ เนื่องจากวันสุดท้ายของการยื่นชำระภาษีจากผลกำไรสุทธิ รอบสิ้นปีบัญชีปี 2551 ตรงกับวันหยุด จึงได้มีการเลื่อนระยะเวลาการยื่นชำระภาษีวันสุดท้ายเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2552 ทำให้มีรายได้ส่วนหนึ่งเหลื่อมไปอยู่ในเดือนมิถุนายน 2552 ประกอบกับผลประกอบการในครึ่งปีหลังของปี 2551 ซึ่งเป็นฐานในการคำนวณภาษีชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงด้วย
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 32,539 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 8,141 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.0 โดยเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่า
เดือนเดียวกันปีที่แล้วถึงร้อยละ 39.2 เป็นสำคัญ เพราะได้รับผลกระทบจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่หดตัวลง
  • อากรขาเข้าจัดเก็บได้ 4,897 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 2,728 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.8 เนื่องจากการหดตัวลงของมูลค่าการนำเข้า

แต่อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีสุรา และภาษีเบียร์ ในเดือนนี้สูงกว่าเดือน เดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 56.8 25.9 และ 10.0 ตามลำดับ เนื่องจากผลของการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตของสินค้าดังกล่าว

2. ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 — พฤษภาคม 2552) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 874,678 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 160,807 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.5 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมหลัก ที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วโดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติ บุคคลและเงินได้ปิโตรเลียมจากกำไรสุทธิของกรมสรรพากร เนื่องจากมีการเหลื่อมเวลาในการยื่นชำระภาษีดังกล่าว นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วอีกด้วย ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 700,686 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 119,976 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.6 โดยมีภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่ แล้ว 57,414 และ 6,272 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.1 และ 9.8 ตามลำดับ โดยเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการยืดระยะเวลาการยื่นชำระภาษีจากผลกำไรครึ่งปีหลังของปี 2551 ไปอีก 1 วัน เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2552 จึงทำให้มีรายได้ส่วนหนึ่งเหลื่อมไปอยู่ในเดือนมิถุนายน 2552 นอกจากนี้ การส่งค่าบริการและจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศก็ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วด้วยเช่นกัน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าปีที่แล้ว 44,228 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.5 สาเหตุสำคัญมาจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและการบริโภคในประเทศที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกัน ปีที่แล้วร้อยละ 25.5 และ 3.2 ตามลำดับ อันเนื่องมาจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวลงและการบริโภคของประชาชนที่ชะลอตัวลงตามสภาวะของเศรษฐกิจ
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้ต่ำกว่าปีที่แล้ว 6,760 ล้านบาท หรือร้อยละ 34.8 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ (มติคณะรัฐมนตรี 4 มีนาคม 2551)
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าปีที่แล้ว 4,913 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีจากฐานเงินเดือนที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วเป็นสำคัญ เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในกรณีเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 100,000 เป็น 150,000 ล้านบาท (มติคณะรัฐมนตรี 4 มีนาคม 2551)

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 179,383 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 15,592 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.0 สาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันและภาษีรถยนต์ที่ต่ำกว่าช่วง เดียวกันปีที่แล้ว ทั้งนี้ กรณีภาษีน้ำมันเป็นผลจากมาตรการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 และกรณีภาษีรถยนต์เป็นผลจากการที่ประชาชนชะลอการซื้อสินค้าคงทน ประกอบกับสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 52,785 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 12,199 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.8 เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 12,409 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.6 เป็นผลจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเป็นสำคัญ โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 - พฤษภาคม 2552) มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. และเงินบาทต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.2 และ 17.8 ตามลำดับ

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 56,524 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 12,639 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.3 โดยมีรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูง 5 อันดับแรก ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ธนาคารออมสิน บมจ. กสท.โทรคมนาคม และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามลำดับ

2.5 หน่วยงานอื่น นำส่งรายได้รวม 57,810 ล้าน สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7,521 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.0 เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ทั้งในส่วนของส่วนราชการอื่นและกรมธนารักษ์สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร 143,457 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 10.9 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 112,179 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2,670 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 และการคืนภาษีอื่น จำนวน 31,278 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 11,449 ล้านบาท หรือร้อยละ 57.7 เนื่องจากการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ค่อนข้างสูง

สำนักนโยบายการคลัง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 74/2552 23 มิถุนายน 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ