Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 มิ.ย. 2552
1. ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.52 เพิ่มขึ้นเป็น 78.5
2. คณะรัฐมนตรีสั่ง ธพว. ขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ธุรกิจที่ขาดสภาพคล่อง
3. ธนาคารโลกปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 52 ลงมาที่หดตัวร้อยละ -2.9 ต่อปี
- ประธานสภาอุตฯ เผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (TISI) เดือน พ.ค.52 อยู่ที่ระดับ 78.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.52 ที่ระดับ 76.3 เนื่องจากนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทยและประเทศต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัว ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ตลอดจนสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง อย่างไรก็ตามค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 38 นับตั้งแต่เดือนเม.ย.49 เป็นต้นมา สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ไม่แข็งแกร่งมากนัก
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยที่มีมากขึ้นหลังจากเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามาอีกครั้งโดยเฉพาะในสินค้าหมวดอิเลคทรอนิกส์มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยในเดือนพ.ค. 52 มีมูลค่าการส่งออก 2.1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐสูงที่สุดในรอบ 6 เดือน ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในปี 51 ที่ 2.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อเดือน อย่างไรก็ดีสถาบันการเงินควรพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องเมื่อการผลิตกลับมาสู่ระดับปกติ
- เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 52 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) ขยายเวลาชำระหนี้ หรืองดชำระหนี้เงินต้นเป็นการชั่วคราวให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากปัจจัยภายนอกตามภาวะธุรกิจของแต่ละกิจการ พร้อมกับให้ขยายความร่วมมือไปสู่สถาบันการเงินของรัฐและเอกชนต่อไปตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และมอบให้กระทรวงการคลังและ ธพว. จัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้งภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้เปิดรับสมัครเอสเอ็มอีให้เข้าโครงการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป
- สศค. วิเคราะห์ว่า การดำเนินมาตรการการขยายเวลาชำระหนี้และงดชำระหนี้เงินต้น จะช่วยลดภาระให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ยังเป็นการช่วยธนาคารให้สามารถรับชำระหนี้จากธุรกิจได้มากขื้นในอนาคต อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวต้องมีการส่งเสริมร่วมกับเอสเอ็มอี ในด้านความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากยอดคงค้างสินเชื่อของ ธพว. ในปี 2552 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ณ เดือนพฤษภาคม 52 ธพว. มียอดคงค้างสินเชื่อจำนวน 44,407 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 44,285 ล้านบาท) ทั้งนี้ จากข้อมูลการสิ้นสภาพกิจการเอสเอ็มอีในเดือนมกราคม 2552 พบว่า กิจการที่มีการสิ้นสภาพสูงสุด ได้แก่ กิจการขายส่งขายปลีก คิดเป็นร้อยละ 39.1 ของจำนวนกิจการสิ้นสภาพ 1,337 ราย
- ธนาคารโลกได้ประกาศปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 52 ลงมาอยู่ที่ระดับการหดตัวที่ร้อยละ -2.9 ต่อปีจากเดิมที่คาดไว้จะหดตัวที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี พร้อมกล่าวเตือนว่าประเทศกำลังพัฒนาอาจเผชิญกับความเสี่ยงจากไหลออกของเงินทุนซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ตกงานและผู้ที่มีรายได้น้อย โดยทางธนาคารโลกคาดว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายภาคเอกชนอาจจะหดตัวลงจากระดับ 707 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 51 มาอยู่ที่ประมาณระดับ 363 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 52 ทั้งนี้ ทางธนาคารโลกได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 53 เช่นกัน โดยคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 2.0 ต่อปี ลดลงจากเดิมที่คาดว่าน่าจะขยายตัวได้ในระดับที่ร้อยละ 2.3 ต่อปีในเดือน มี.ค. 52
- สศค. วิเคราะห์ว่า ความเสี่ยงจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่มาก แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในด้านการผลิตและความเชื่อมันจะบ่งชี้ว่าภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลกน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้วและน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาประกอบภาคการส่งออกในหลายประเทศได้รับอานิสงค์จากอุปสงค์ความต้องการนำเข้าของประเทศจีนที่ยังขยายตัวในระดับที่ดีอยู่ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจภาคอุปสงค์โดยเฉพาะภาคการลงทุนเอกชนในประเทศส่วนใหญ่ยังคงหดตัวอยู่มาก ทั้งนี้ ฐานะทางการคลังที่ปรับตัวลดลงอาจส่งผลให้หลายประเทศต้องเริ่มพิจารณาถึงการลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงและอาจจะส่งผลต่อความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจริงอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปได้ช้า
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th