Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 มิ.ย. 2552
SUMMARY:
1. ค่ายรถเศร้า ผลิตต่ำล้าน
2. IMF เล็งปรับประมาณเศรษฐกิจไทยดีขึ้น
3. ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แต่ราคาลดลง
HIGHLIGHT:
1. ค่ายรถเศร้า ผลิตต่ำล้าน
- โฆษกกลุ่มยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ปรับลดการผลิตรถยนต์ปี 2552 เหลือ 9.4 แสนคันจากปีก่อนที่มีปริมาณการผลิต 1.39 ล้านคัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่การผลิตรถยนต์ไม่ถึง 1 ล้านคัน นับตั้งแต่ปี 2548 การปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าว แยกเป็นการลดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 5.8 หมื่นคัน มาอยู่ที่ 4.3 แสนคัน ด้านการผลิตเพื่อการส่งออกได้ปรับลดการผลิตลง 8.2 หมื่นคัน มาอยู่ที่ 5.1 แสนคัน ทั้งนี้ยอดผลิตรถยนต์ในเดือนพ.ค. 52 หดตัวร้อยละ -50.9 ต่อปี ในขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศหดตัวร้อยละ -26.2 ต่อปี ในเดือนเดียวกัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ลดลง เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจโลก ทำให้รายได้ของประชาชนลดลง อีกทั้งราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 65 - 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ขณะที่การส่งออกรถยนต์ในเดือนพ.ค. 52 หดตัวร้อยละ -41.7 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวติดต่อ กันเป็นเดือนที่ 8 จากตลาดส่งออกหลักที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 52 จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก และปัจจัยฐานต่ำในช่วงปีก่อน
2. IMF เล็งปรับประมาณเศรษฐกิจไทยดีขึ้น
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยวานนี้ (24 พ.ค.)ว่า มีความเป็นไปได้ที่ IMF จะปรับขึ้นคาดการณ์ GDP ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ และอินโดนีซีย โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.0 ในขณะที่เศรษฐกิจจีนและอินเดีย คาดว่าจะยังขยายตัวเท่ากับที่ประมาณการไว้เดิมเมื่อเดือนเม.ย.52 ในวันเดียวกันองค์กรความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ได้ปรับขึ้นคาดการณ์เศรษฐกิจในปีหน้าของ 30 ปะเทศสมาชิกใน OECD ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 โดยระบุว่าประเทศที่ร่ำรวยเศรษฐกิจใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 52 หดตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี และจากการติดตามเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออก ในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 พบว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงปลายปี จากเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น โดยยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามาอีกครั้ง และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มหดตัวลดลง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 และ 3 จะหดตัวน้อยลง และเป็นบวกในไตรมาส 4
3. ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแต่ราคาลดลง
- ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐฯ เดือนพ.ค. 52 อยู่ที่ 4.77 ล้านหลังเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 4.66 ล้านหลังหรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ซบเซาลงมาก ส่งผลให้ราคาบ้านลดลงมาก โดยค่ากลางของราคาบ้านมือสองในสหรัฐฯ เดือนพ.ค. 52 อยู่ที่ 1.7 แสนดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 2.1 แสนดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -16.8 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเป็นสัญญาณว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่ซบเซาลงมากและเป็นชนวนของวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้เริ่มมีสัญญาณบวกและอาจมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าค่ากลางของราคาบ้านมือสองในเดือนพ.ค. 52 จะลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับค่ากลางของราคาบ้านมือสองในเดือนเม.ย. 52 พบว่าปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.8 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณว่ายอดขายบ้านมือสองในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเริ่มส่งผลดีต่อราคาบ้านมือสองไม่ให้ลดลงมากลงไปกว่านี้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th