บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 : ก้าวย่างสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 25, 2009 13:44 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

วิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้เศรษฐกิจไทยประสบภาวะหดตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยในไตรมาสที่ 4/2551 หดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี และไตรมาส 1/2552 หดตัวรุนแรงถึงร้อยละ -7.1 ต่อปีสาเหตุหลักมาจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน ที่หดตัวสูงมาก

รัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2552 จำนวน 1.167 แสนล้านบาท ผสมผสานกับนโยบายประกันราคาพืชผล และมาตรการภาษี หรือที่เรียกรวมกันว่า แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 หรือ Stimulus Package 1 (SP1) โดยมุ่งเน้นช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้น ผ่านการใช้จ่ายภาครัฐไปยังการบริโภคภาคเอกชน เพื่อบรรเทาการหดตัวของเศรษฐกิจ และการลดลงของการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวเป็นบวก และเข้าสู่การขยายตัวในระดับปกติอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง จำเป็นต้องอาศัยนโยบายระยะกลางและระยะยาวเพิ่มเติม รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายที่มีชื่อเรียกว่า แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (Stimulus Package 2 : SP2) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2553 — 2555 โดย SP2 มีวงเงินรวม 1,431,330 ล้านบาท แบ่งแยกได้เป็น โครงการที่รัฐบาลรับภาระการลงทุน วงเงินลงทุนรวม 1,110,168 ล้านบาท และโครงการที่รัฐวิสาหกิจรับภาระการลงทุนเอง มีวงเงินลงทุนรวม 321,162 ล้านบาท

ผลการคำนวณจากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของ สศค. พบว่า เมื่อมีโครงการ SP2 จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในหลายประการได้แก่ ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงขึ้นจากกรณีฐานเฉลี่ยร้อยละ 1.3 ต่อปี โดยพบว่าการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงจะขยายตัวสูงขึ้นจากกรณีฐานเฉลี่ยร้อยละ 2.6 และ 0.7 ต่อปี และการจ้างงานจะเพิ่มสูงขึ้นกว่ากรณีฐานเฉลี่ยประมาณ 5 แสนคนต่อปี อย่างไรก็ดีในด้านเสถียรภาพต่างประเทศจะพบว่ากรณีที่มีโครงการ SP2 ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวลดลงจากกรณีฐานเฉลี่ย -7.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี

1. ความเป็นมาของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยระยะที่ 2

ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้เศรษฐกิจไทยประสบภาวะชะลอตัวและหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ได้เผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา โดยไตรมาสที่ 4/2551 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี และหดตัวรุนแรงมากขึ้นในไตรมาสที่ 1/2552 ที่หดตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการ ที่ประสบปัญหาอุปสงค์ในตลาดโลกหดตัวลงตามการหดตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูงแต่การเติบโตได้ชะลอตัวลง เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสที่ 4/2551 และในไตรมาสที่ 1/2552 หดตัวร้อยละ -8.9 และ -16.4 ต่อปี ตามลำดับ ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชน (Ip) ในไตรมาสที่ 4/2551 และไตรมาสที่ 1/2552 หดตัวลงร้อยละ -1.3 และ -17.7 ต่อปี ตามลำดับ และ เนื่องจากความกังวลจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ผู้ประกอบการจึงขาดความเชื่อมั่นที่จะขยายการลงทุนในช่วงดังกล่าว นอกจากนั้น การบริโภคภาคเอกชน (Cp) ในไตรมาสที่ 1/2552 หดตัวลงมากถึงร้อยละ -2.6 ต่อปี เทียบกับไตรมาสที่ 4/2551 ที่ยังขยายตัวได้ร้อยละ 2.1 ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นและลดการจับจ่ายใช้สอยลงอย่างมาก สาเหตุหลักมาจากความไม่มั่นใจในเรื่องการจ้างงานและหรือชั่วโมงการทำงาน และรายได้เกษตรกรที่ลดลงอย่างรวดเร็วตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก

ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาและชะลอการหดตัวทางเศรษฐกิจในปี 2552 รัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2552 (งบประมาณกลางปี) จำนวน 1.167 แสนล้านบาท ผนวกกับนโยบายประกันราคาพืชผล และมาตรการภาษี หรือที่เรียกรวมกันว่า แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 หรือ Stimulus Package 1 (SP1) อาทิ โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท โครงการเรียนฟรี 15 ปี โครงการเบี้ยยังชีพให้กับคนชราและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน โครงการต้นกล้าอาชีพ โครงการชุมชนพอเพียงโครงการประกันราคาพืชผลทางการเกษตรวงเงิน 1.235 แสนล้านบาท โดยมุ่งเน้นที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นผ่านการใช้จ่ายภาครัฐไปยังการบริโภคภาคเอกชน เพื่อบรรเทาการหดตัวของเศรษฐกิจ และการลดลงของการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวเป็นบวก และเข้าสู่การขยายตัวในระดับปกติ อย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องอาศัยนโยบายระยะกลางและระยะยาวเพิ่มเติม รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายที่มีชื่อเรียกว่า แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือ Stimulus Package 2 (SP2) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2553 — 2555 โดย SP2 มีวงเงินรวม 1,431,330 ล้านบาท แบ่งแยกได้เป็น โครงการที่รัฐบาลรับภาระการลงทุน วงเงินลงทุนรวม 1,110,168 ล้านบาท และโครงการที่รัฐวิสาหกิจรับภาระการลงทุนเอง วงเงินลงทุนรวม 321,162 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2553 — 2555 จะช่วยฟื้นฟูสัดส่วนการลงทุนโดยรวมของประเทศให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 — 2541 สัดส่วนการลงทุนโดยรวมต่อ GDP สูงกว่าร้อยละ 40 แต่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา สัดส่วนนี้ลดลงเหลือร้อยละ 20 — 24 เท่านั้น และมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก ดังนั้น ปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2553 — 2555 นอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานแล้ว ยังช่วยให้เครื่องยนต์การลงทุนมีขนาดใหญ่ขึ้นในอนาคต

2. แผนการลงทุนและแหล่งเงินทุนในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2

2.1 แผนการลงทุน

แผนการลงทุนของโครงการ SP2 นี้จะประกอบไปด้วยโครงการต่างๆจำนวนกว่า 3,000 โครงการที่นำเสนอโดยหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆ โดยในช่วงแรกนั้นมีการเสนอโครงการต่างๆเข้ามารวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,566,867 ล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกโครงการที่มีศักยภาพเพียงพอและเหมาะสม พร้อมที่จะสามารถดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2552 - 2555 และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ SP2 ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ ดังนี้

1. สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และพลังงาน รวมทั้งการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

2. ปรับปรุงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่ทันสมัยและจำเป็นต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

3. เร่งรัดและสร้างศักยภาพในการหารายได้จากการท่องเที่ยว

4. สร้างฐานรายได้ใหม่ของประเทศจากเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์หรือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

5. ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบให้ทันสมัย

6. ปฏิรูปคุณภาพระบบสาธารณสุขที่มีมาตรฐานสูงสำหรับคนไทย

7. สร้างอาชีพและรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับชุมชน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เหลือโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองมาเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,431,330 ล้านบาท ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 : แผนการลงทุนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2

ความพร้อมของโครงการ

     สาขา                                 ประเภทที่ 1     ประเภทที่ 2     ประเภทที่ 3       รวม      สัดส่วนของทั้งหมด
1.การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร                222,477        7,224          8,814     238,515       16.70%
2.การขนส่งและโลจีสติก                          335,893      164,285         71,344     571,522       39.90%
3.พลังงานและพลังงานทดแทน                      156,621            -         49,184     205,805       14.40%
4.การสื่อสาร                                   24,811            -              -      24,811        1.70%
5.โครงการพื้นฐานด้านท่องเที่ยว                      5,638            -          4,393      10,031        0.70%
6.โครงการพื้นฐานพัฒนาบุคคลด้านการศึกษา            128,628        9,346              -     137,974        9.60%
7โครงการพื้นฐานพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข           98,234          549            616      99,399        6.90%
8.โครงการพื้นฐานเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน            8,482            -              -       8,482        0.60%
9.โครงการพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี        11,202          928              -      12,130        0.80%
10.โครงการพื้นฐานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   4,169          691              -       4,860        0.30%
11.การพัฒนาการท่องเที่ยว                          3,939          620          3,947       8,506        0.60%
12.เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์                         3,818       13,768              -      17,586        1.20%
13.การลงทุนในระดับชุมชน                         59,761       31,600            348      91,709        6.40%
         รวม                              1,063,673      229,011        138,646   1,431,330      100.00%

แผนงาน SP2 จะมีระยะเวลาในการลงทุน 3 ปีตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ถึง 2555 ประกอบไปด้วยโครงการในสาขาต่างๆรวม 13 สาขาดังแสดงในตารางที่ 1 โดยสาขาการขนส่งและโลจีสติกมีจำนวนเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนมากที่สุด โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 39.9 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด โครงการที่สำคัญประกอบไปด้วย ระบบรถไฟฟ้า : สายสีแดง ม่วง เขียว น้ำเงิน ชมพู น้ำตาล ระบบราง : จัดหาโบกี้+หัวรถจักรดีเซล ปรับปรุงทางระยะที่ 5-6 (แก่งคอย-บัวใหญ่-หนองคาย) รถไฟทางคู่ (ฉะเชิงทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) ทางพิเศษ (บางปะอิน-สระบุรี-โคราช) ถนนไร้ฝุ่น(ทางหลวงชนบท) ปรับปรุงท่าอากาศยาน 4 แห่ง ฯลฯ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือกระทรวงคมนาคม ส่วนรองลงมาคือสาขาการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร มีสัดส่วนร้อยละ 16.7 ของวงเงินลงทุนทั้งหมดมีโครงการที่สำคัญคือ บำรุงฟื้นฟูระบบชลประทานเดิม ก่อสร้างฝาย/อ่างเก็บน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัย ปรับปรุงและกระจายพันธุ์พืช พัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงมหาดไทย ส่วนสาขาอันดับ 3 คือสาขาพลังงานและพลังงานทดแทนมีสัดส่วนร้อยละ 16.7 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด ทำให้รวมแล้วใน 3 สาขาดังกล่าวมีสัดส่วนรวมถึงร้อยละ 71.0 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด

เมื่อพิจารณาด้านความพร้อมของโครงการในสาขาต่างๆ พบว่าแต่ละโครงการมีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินงานได้แตกต่างกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแบ่งประเภทตามความพร้อมของโครงการเพื่อให้สามารถเห็นภาพลำดับขั้นการดำเนินงานได้ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้สามารถจัดโครงการแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ

  • ประเภทที่ 1 กลุ่มโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินงานสูง เป็นโครงการลงทุนที่คณะกรรมการฯเห็นว่าสามารถจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายเงินลงทุนได้ภายในปีงบประมาณ 2553 รวมทั้งที่สามารถเริ่มดำเนินงานได้ตั้งแต่ปลายปีงบประมาณ 2552 ด้วย
  • ประเภทที่ 2 เป็นโครงการลงทุนที่หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอที่จะดำเนินงานได้ในปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นไป
  • ประเภทที่ 3 กลุ่มโครงการที่หน่วยงานเจ้าของโครงการได้เสนอแผนการดำเนินงาน โดยจะเริ่มดำเนินโครงการได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 เป็นต้นไป

ซึ่งจากโครงการทั้งหมดพบว่าส่วนใหญ่แล้วมีความพร้อมที่จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2553 คือจะจัดอยู่ในประเภทที่ 1 รวมร้อยละ 74.3 ของโครงการทั้งหมด ขณะที่ส่วนที่เหลือจะอยู่ในประเภทที่ 2 และ 3 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 16.0 และ 9.7 ตามลำดับ

2.2.แหล่งเงินทุน

ในส่วนของการจัดหาแหล่งเงินทุนของโครงการ SP2 มีการจัดทำแผนการระดมทุนออกไว้เป็น 6 ช่องทางได้แก่ งบประมาณ รายได้จากธุรกิจ(รัฐวิสาหกิจ) เงินกู้ในประเทศ เงินกู้ต่างประเทศ PPPs และเงินกู้ SP2 ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 : แหล่งเงินทุนสำหรับโครงการ SP2
   แหล่งเงินลงทุน                            ปี 2552-2553     ปี 2554        ปี 2555         รวม       สัดส่วน
 งบประมาณที่คาดว่าจะได้รับจัดสรร                    21,003*     72,080**      77,126**     170,209     11.9%
 รายได้ของรัฐวิสาหกิจ (สมทบ)                      88,589      47,222        43,798       179,609     12.5%
 เงินกู้ในประเทศตามกฎหมายปกติ                     24,792      37,115        53,821       115,728      8.1%
 เงินกู้ต่างประเทศตามกฎหมายปกติ                    26,198      79,453       128,454       234,105     16.4%
 เอกชนร่วมลงทุน (PPPs)                           2,771       9,061        15,900        27,732      1.9%
 ประมาณการความต้องการเงินลงทุน                  289,070     206,926       207,951       703,947     49.2%
เพิ่มเติมภายใต้ SP2 ตามกฎหมายกู้เงินพิเศษ
     รวม                                     424,349     451,857       527,050     1,431,330    100.0%

จำแนกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

2.2.1 โครงการที่รัฐบาลรับภาระการลงทุน : วงเงินลงทุนรวม 1,110,168 ล้านบาท มีแหล่งที่มาของเงินลงทุนดังนี้

ตารางที่ 3: แหล่งเงินทุนสำหรับโครงการที่รัฐบาลรับภาระการลงทุน

  แหล่งเงินลงทุน                    ปี 2552-2553       ปี 2554       ปี 2555        รวม        สัดส่วน
 งบประมาณที่คาดว่าจะได้รับจัดสรร          21,003*       72,080**     77,126**     170,209      15.3%
 รายได้ของรัฐวิสาหกิจ (สมทบ)                64           165          179           408       0.0%
 เงินกู้ในประเทศตามกฎหมายปกติ            3,054         4,215        4,934        12,203       1.1%
 เงินกู้ต่างประเทศตามกฎหมายปกติ          26,198        74,247       95,224       195,669      17.6%
 เอกชนร่วมลงทุน (PPPs)                 2,771         9,061       15,900        27,732       2.5%
 ประมาณการความต้องการเงินลงทุน        289,070       206,926      207,951       703,947      63.4%
เพิ่มเติมภายใต้ SP2 ตามกฎหมายกู้เงินพิเศษ
      รวม                          342,160       366,694      401,314     1,110,168     100.0%
หมายเหตุ : * วงเงินงบประมาณปี 2553 เป็นวงเงินลงทุนที่คาดว่าจะได้รับจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553

** วงเงินงบประมาณปี 2554-2555 เป็นวงเงินลงทุนที่คาดว่าสำนักงบประมาณจะจัดสรรให้กับโครงการ SP2 ได้ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554-2555

จากตารางที่ 3 จะพบว่ารัฐบาลจะใช้เงินลงทุนจากงบประมาณประจำปีในปีต่างๆ รวมเป็นเงิน 170,209 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.3 จากทั้งหมด เงินกู้ต่างประเทศตามกฎหมายปกติรวม 195,669 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.6 จากทั้งหมด เมื่อรวมรายได้ของรัฐวิสาหกิจ (สมทบ) เงินกู้ในประเทศตามกฎหมายปกติ และเงินทุนจากเอกชนร่วมลงทุน (PPPs) แล้วจะพบว่ายังมีความต้องการเงินลงทุนเพิ่มเติมอีกจำนวน 703,947 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63 จากทั้งหมด ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องออกพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท และพระราชบัญญัติกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อลงทุนอีก 4 แสนล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับการลงทุนทั้งหมดของโครงการ SP2 ในระยะ 3 ปีข้างหน้าได้ สำหรับแหล่งเงินกู้จะอาศัยแหล่งเงินกู้ในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากว่าโครงการส่วนใหญ่มีสัดส่วนการซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ ประกอบกับสภาพคล่องในระบบการเงินในประเทศที่อยู่ในระดับสูง จึงมีความสามารถเพียงพอต่อการระดมทุนจากภายในประเทศได้ อย่างไรก็ดีมีความจำเป็นที่จะพิจารณาเงินกู้จากต่างประเทศร่วมด้วย เนื่องจากในโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างเช่นในระบบรถไฟฟ้าสายต่างๆ จะมีส่วนประกอบและอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนค่อนข้างมาก (Import Content สูง) จึงทำให้มีรายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ การที่มีแหล่งเงินทุนเป็นเงินสกุลต่างประเทศด้วยนั้นจึงมีความเหมาะสม ช่วยให้การชำระค่าสินค้าและบริการมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

2.2.2 โครงการที่รัฐวิสาหกิจรับภาระการลงทุนเอง : มีวงเงินลงทุนรวม 321,162 ล้านบาท มีแหล่งที่มาของเงินลงทุน ดังนี้

ตารางที่ 4 : แหล่งเงินทุนสำหรับโครงการที่รัฐวิสาหกิจรับภาระการลงทุนเอง
  แหล่งเงินลงทุน            ปี 2552-2553           ปี 2554           ปี 2555           รวม     สัดส่วน
  รายได้รัฐวิสาหกิจ               88,525           47,057           43,619        179,201    55.8%
  เงินกู้ในประเทศ                21,738           32,900           48,887        103,525    32.2%
  เงินกู้ต่างประเทศ                    0            5,206           33,230         38,436    12.0%
      รวม                    110,263           85,163          125,736        321,162   100.0%

สำหรับโครงการที่ลงทุนโดยรัฐวิสาหกิจจะอาศัยแหล่งเงินทุนจากรายได้ของรัฐวิสหกิจเองเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนมากที่สุดที่ร้อยละ 55.8 ของวงเงินลงทุนรวม นอกจากนั้นในส่วนที่เหลือจะมีการใช้วงเงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยมีสัดส่วนร้อยละ 32.2 และ 12.0 ของววงเงินลงทุนรวมตามลำดับ

3. ช่องทางและผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค

โครงการ SP2 ซึ่งมีทั้งการลงทุนโดยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ จะส่งผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ด้านอุปทาน ด้านการจ้างงาน และด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

ในด้านอุปสงค์ การลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้น (Ig) จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาและก่อสร้างตามโครงการในแผน SP2 ส่งผลให้รายได้ของกลุ่มแรงงานที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีฐานรายได้ที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อมีการขยายตัวของรายได้จึงมีโอกาสที่จะนำเงินส่วนที่เพิ่มมานี้ใช้ในการบริโภคในสัดส่วนที่สูง (MPC สูง) จึงทำให้การบริโภคภาคเอกชน (Cp) ขยายตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชน (Ip) ก็จะขยายตัวขึ้นตามมา เนื่องจากผลของ Crowding-In Effect กล่าวคือภาคเอกชนจะต้องมีการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองการลงทุนของรัฐที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมาก อย่างไรก็ดีการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนจะมีส่วนทำให้การนำเข้าของสินค้า (Mg) เพิ่มขึ้นตามมา เนื่องจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในหลายโครงการจำเป็นต้องใช้วัสดุและชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในด้านอุปสงค์บ้าง ประกอบกับจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในเวลาต่อมาค่อยๆปรับตัวลดลงมา

สำหรับในด้านอุปทาน โครงการต่างๆในแผน SP2 จะทำให้เกิดการขยายตัวในการผลิตสินค้าและบริการในสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่น สาขาเกษตร สาขาการผลิต สาขาก่อสร้าง สาขาขนส่ง สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาการศึกษา และสาขาสาธารณสุข เป็นผลให้เกิดการจ้างงานในสาขาดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ผลที่ได้จะส่งผ่านสู่ด้านอุปสงค์ให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นหมุนเวียนต่อเนื่องกันเป็นพลวัตร

จากการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคของโครงการ SP2 โดยใช้แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค(Macroeconomic Model ของ สศค.) โดยมีสมมติฐานสำคัญที่ใช้ในการคำนวณ คือ กำหนดให้เม็ดเงินจากโครงการ SP2 ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ในปีงบประมาณ 2553 2554 และ 2555 จำนวน 4.6 4.5 และ 5.3 แสนล้านบาทตามลำดับ สำหรับในปีงบประมาณ 2552 มีเม็ดเงินเพียงเล็กน้อย

ผลการคำนวณจากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคพบว่า เมื่อมีโครงการ SP2 จะส่งผลดีต่อประเทศไทยในหลายประการได้แก่ ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงขึ้นจากกรณีฐานเฉลี่ยร้อยละ 1.3 ต่อปี การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน จะขยายตัวสูงขึ้นจากกรณีฐานเฉลี่ยร้อยละ 2.6 และ 0.7 ต่อปี แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนขนานใหญ่อาจจะทำให้การนำเข้าสินค้าขยายตัวในอัตราเร่งตามมา มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการที่แท้จริงเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานร้อยละ 3.5 ต่อปี สาเหตุเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รายได้ของประชาชนสูงขึ้น ซึ่งเมื่อประชาชนมีรายได้สูงขึ้นแล้วก็ย่อมที่จะมีโอกาสบริโภคสินค้าและบริการจากต่างประเทศมากขึ้นตาม (Income Effect) ประกอบกับในโครงการ SP2 จะมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มากมาย ซึ่งต้องอาศัยวัสดุและโครงสร้างจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการนำเข้ามาใช้ประกอบการก่อสร้างในโครงการต่างๆ ซึ่งล้วนมีส่วนที่ทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการที่แท้จริงดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลถึงดุลบัญชีเดินสะพัดให้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะปรับตัวลดลงจากกรณีฐานเฉลี่ย -7.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปี และในปี 2555 จะเหลือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพียง 0.2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือมีสัดส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีคิดเป็นร้อยละ 0.1 นอกจากนั้น การลงทุนขนานใหญ่ จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มตามขึ้นมา โดยจากแบบจำลองพบว่าการจ้างงานจะเพิ่มสูงขึ้นกว่ากรณีฐานเฉลี่ยประมาณ 5 แสนคนต่อปี

ตารางที่ 5: ผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2553-2555 กรณีฐานและกรณีมีโครงการ SP2
                                                            2553           2554           2555
สมมติฐานเกี่ยวกับเม็ดเงินที่ลงทุนในโครงการ SP2 (ล้านบาท)           465,347        456,074        531,175
กรณีฐาน
  อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (% ต่อปี)                            2.5            4.0            4.5
  อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริง (% ต่อปี)              1.3            5.0            6.8
  อัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริง (% ต่อปี)             2.6            3.4            4.1
  อัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการที่แท้จริง (% ต่อปี)    12.7           10.1            7.4
  ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน ดอลล่าร์สหรัฐฯ)                          17.9           11.5           10.7
  สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี (%)                                 7.3            4.3            3.7
  การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น (ล้านคน)                                    0.9            1.5            1.7
กรณีมีโครงการ SP2
  อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (% ต่อปี)                            4.1            5.2            5.5
  อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริง (% ต่อปี)              3.5            7.4           10.1
  อัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริง (% ต่อปี)             3.6            4.0            4.6
  อัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการที่แท้จริง (% ต่อปี)    16.0           13.5           11.4
  ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน ดอลล่าร์สหรัฐฯ)                         11.99           4.43           0.20
  สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี (%)                                 4.8            1.6            0.1
  การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น (ล้านคน)                                    1.5            1.9            2.2
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
  อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (% ต่อปี)                            1.5            1.2            1.1
  อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริง (% ต่อปี)              2.2            2.4            3.3
  อัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริง (% ต่อปี)             1.1            0.7            0.5
  อัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการที่แท้จริง (% ต่อปี)     3.2            3.4            3.9
  ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน ดอลล่าร์สหรัฐฯ)                          -5.9           -7.1          -10.5
  สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี (%)                                -2.5           -2.7           -3.7
  การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น (ล้านคน)                                    0.6            0.5            0.5
ที่มา : ประมาณการโดย สศค.
หมายเหตุ: การประมาณการเศรษฐกิจตามตารางใช้เพื่อการวิเคราะห์และประเมินผลของนโยบาย ไม่ถือเป็นการแถลงข่าวของ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และตัวเลขอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามภาวะเศรษฐกิจและสมมติฐาน


ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ