รายงานนโยบาย Public Private Partnership สำหรับเอเชียของญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 25, 2009 15:28 —กระทรวงการคลัง

1. เหตุผลและความจำเป็น

ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2549 — 2553) คาดว่าภูมิภาคเอเชียมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำเป็นสำหรับโครงการ Infrastructure จำนวนประมาณ 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี แต่ในแท้ที่จริงแล้วภาคเอกชนสามารถลงทุนในโครงการด้านพลังงาน โทรคมนาคม การคมนาคมขนส่งและระบบน้ำประปา บำบัดน้ำเสียมีจำนวนเพียงประมาณ 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีเท่านั้นในขณะที่รัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วและองค์กรช่วยเหลือพัฒนาระหว่างประเทศก็มีข้อจำกัดด้านเงินทุนเพื่อลงทุนในโครงการ Infrastructure เช่นกัน ประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความต้องการเงินลงทุนโครงการ Infrastructure ในภูมิภาคเอเชียยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไปอีก ส่งผลให้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจากประเทศต่างๆ และองค์กรช่วยแพื่อพัฒนาระหว่างประเทศมีไม่เพียงพอ และหากรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนานำเงินงบประมาณของประเทศไปลงทุนในโครงการดังกล่าว ก็จะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะของประเทศมากขึ้นส่งผลฐานะการคลังของรัฐบาลเลวร้ายยิ่งขึ้น

ดังนั้น การดำเนินโครงการ Infrastructure และโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ภาครัฐบาลและภาคเอกชนควรจะร่วมมือกันแบ่งภาระและลดความเสี่ยง ซึ่งรูปแบบ PPP สามารถดำเนินการโครงการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ส่งผลให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นระดมเงินลงทุนโครงการเหล่านี้ยากขึ้น และต้องการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่นได้แก่ JICA JBIC และ Nippon Export Investment Insurance (NEXI) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนมากขึ้น

2. วัตถุประสงค์

จากเหตุผลที่กล่าวข้างต้น กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economic Trade and Industry (METI)) ได้จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนเติบโตทางเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า ผ่านการลงทุนโครงการ Infrastructure ในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้รูปแบบ Public Private Partnership (PPP) โดยใช้เงินช่วยเหลือ ODA ของรัฐบาลและเอกชน เพื่อร่วมมือลงทุนโดยอาศัยเงินทุน เทคโนโลยี่ตลอดจนความรู้ความเชี่ยวชาญของภาคเอกชน

3. สาขาธุรกิจภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพที่จะลงทุนในโครงการ Infrastructure

กระทรวง METI ได้คัดเลือกสาขาธุรกิจเอกชนญี่ปุ่น ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพสูง ในการดำเนินโครงการ Infrastructure แบบ PPP ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มีจำนวน 6 สาขา ดังต่อไปนี้

3.1 การไฟฟ้า บริษัทญี่ปุ่นดำเนินการโครงการไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียเป็นจำนวนมาก ในรูปแบบ Independent Power Producer เนื่องจากมีผลตอบแทนทางพาณิชย์สูง โดยเฉพาะโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่มีเทคโนโลยี่ก้าวหน้า ต้านทานแผ่นดินไหว

3.2 การคมนาคม ซึ่งรวมรถไฟ Shinkansen และ ระบบ Logistic โดยได้ดำเนินการในประเทศกำลังพัฒนารูปแบบ PPP แต่ยังมีความเสี่ยงหลายด้าน เนื่องจากใช้เงินลงทุนสูง แต่ผลตอบแทนต่ำและใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้รับผลตอบแทน

3.3 การท่าเรือ บริษัทที่ดำเนินการโครงการท่าเรือในภูมิภาคเอเชียมีเพียง 5 แห่งเท่านั้น ได้แก่ Hutchison Port Holdings ของ Hong Kong , PSA (Port of Singapore Authority) DPW (Dubai Ports World) APM Terminal ของ Denmark และ COSCO ของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่บริษัทญี่ปุ่นเพียงได้เริ่มเข้าร่วมโครงการที่ท่าเรือแหลมฉบัง

3.4 การประปาและการบำบัดน้ำเสีย ยังไม่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปช่วยดำเนินการโครงการด้านน้ำประปาและการระบายน้ำเสียในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากยังเป็นระบบสาธารณูปโภค ทั้งที่เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพมากบริษัทญี่ปุ่นมีเทคโนโลยี่ ในการบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำที่สามารถบริโภคได้ และเป็นเทคโนโลยี่ที่ประหยัด รวมทั้งนำน้ำทะเลมาแปรรูปเป็นน้ำจืดได้อีกด้วย

3.5 การสื่อสารและท่าอากาศยาน โดยพยายามใช้ทั้งในรูปแบบเงินทุนเอกชน- PFI (Private Finance Initiative) และการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน- PPP เพื่อให้มีการพัฒนาด้าน VFM (Value For Money) ของบริการของรัฐมากขึ้น

3.6 การสร้างถนน บริษัททางด่วนญี่ปุ่นได้แปรรูปเป็นเอกชนเมื่อเดือนตุลาคม 2549 กำลังจัดตั้งฝ่ายต่างประเทศขึ้นเพื่อขยายการลงทุนไปต่างประเทศ

4. การดำเนินการพัฒนาศูนย์กลางของเอเชียตะวันออก

รัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่นจะร่วมมือกันลงทุนเพื่อช่วยพัฒนาด้าน Infrastructure ในภูมิภาคเอเชีย ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนโครงการสำเร็จ สนับสนุนให้บริษัทเอกชนสามารถดำเนินการโครงการลงทุนได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่นคงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวมทั้งสามารถสนับสนุนกิจการของบริษัทเอกชนญี่ปุ่นที่มีสาขาอยู่ในต่างประเทศโดยจะเลือกพัฒนาพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงกันที่ง่ายก่อน เพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนา โดยจะดำเนินการอบรมบุคลากร และให้ความร่วมมือทางด้านเทคนิค และการจัดการ Infrastructure โดยมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม การไฟฟ้า การสร้างถนน การรถไฟ ท่าเรือและท่าอากาศยาน รวมไปสู่จุดเดียว ในฐานพัฒนาเป็นหลัก เขตที่จะลงทุนมี 3 ประเภท ได้แก่ 1) เขตเมืองใหญ่ ซ่งึเป็นเขตที่จะมีการจัดระบบ Logistic และนิคมอุตสาหกรรมดีขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยมีกรุงฮานอยและกรุงจาร์กาต้าเป็นศูนย์กลาง 2) เขตเมืองขนาดกลาง ซึ่งเป็นเขตที่ให้พัฒนาระบบ Logistic และนิคมอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมต่อกับเมืองใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ของอินเดีย และในกัมพูชา 3) เขตท้องถิ่นที่ใช้เป็นฐานพัฒนา จะจัดระบบ Infrastructure และสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ ชายแดนระหว่างประเทศลาวและประเทศไทย

5. Action Plan

5.1 จัดสรรงบประมาณ ODA โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2552 นายกรัฐมนตรี Aso Taro ได้ประกาศการจัดสรรงบประมาณ ODAเพื่อลงทุนในโครงการ Infrastructure โดยใช้ระบบ PPP เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเพิ่มเป็นเท่าตัว

5.2 ให้ JICA ปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัทญี่ปุ่นที่มีสาขาในต่างประเทศ เพื่อนำไปลงทุนในโครงการ Infrastructure

5.3 ให้ JICA จัดสรรเงินทุนจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนโครงการ Infrastructure ในภูมิภาคเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการและสนับสนุนการพัฒนาโครงการ Infrastructure โดยใช้ระบบ PPP อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเงินทุนนั้นก็จะเป็นการรวมทุนของสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ADB, JICA เป็นต้น ซึ่งกองทุนนี้จะลงทุนในโครงการ Infrastructure โดยตรง หรือให้เงินกู้แก่ผู้ดำเนินโครงการ รวมไปถึงการให้การค้ำประกันโครงการ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะมีการส่งผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านการเงิน ด้านกฎหมายเพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ดำเนินโครงการ ให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5.4 อำนวยความสะดวกในการให้เงินกู้สกุลเยน โดยลดขั้นตอนการให้เงินกู้สกุลเยน โดยเริ่มจากการยื่นขอเงินกู้ถึงการลงนามในสัญญาเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 9 เดือน และเริ่มการก่อสร้างหลังจากการลงนามสัญญาเงินกู้ภายในเวลา 1 ปี โดยเฉพาะกรณีที่ใช้ระบบ PPP จะต้องมีการวางแผนการก่อสร้างโดยความร่วมมือของภาครัฐ (JICA) และเอกชน รวมไปถึงการดูแลทางด้านการเงินโดยการจัดตารางการปล่อยเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการก่อสร้าง

ความเห็น

วิกฤตเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ได้ทำให้ญี่ปุ่นต้องทบทวนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากเดิมมุ่งการส่งออกไปสหรัฐฯและยุโรป มาให้ความสนใจการขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นโดยพยายามเชื่อมโยงการค้า การลงทุนระหว่างอินเดีย-เวียดนาม จึงเป็นที่มาของข้อเสนอสนับสนุนการลงทุนโครงการ Infrastructure โดยใช้ระบบ PPP นี้

นอกจากนี้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนได้กลายเป็นภัยคุกคาม(Threats) ของญี่ปุ่น ในการช่วงชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตามประเทศที่มีแนวโน้มรับการลงทุน (Recipient Country) ได้แก่ อินเดีย ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม อาจอยู่ในฐานะที่เลือกได้ว่าระหว่างจีนและญี่ปุ่น ประเทศใดจะสามารถให้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้ เพราะการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะได้รับประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวไม่น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้อีกต่อไป นอกจากนี้ ปัจจุบันทุกประเทศในโลกกำลังให้ความสนใจต่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นต้นทุนจากการพัฒนาเศรษฐกิจ มีผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ประเทศผู้รับการลงทุนต้องพิจารณาด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ข้อเสนอของกระทรวง METI นำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่ง่ายนัก

โดยกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น

แปลจากเอกสารฉบับภาษาญี่ปุ่น โดย สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำกรุงโตเกียว

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ