รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 26, 2009 09:29 —กระทรวงการคลัง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2552 ณ เดือนมิถุนายน ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 มีแนวโน้มหดตัวที่ ร้อยละ -3.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -3.5 ถึง -2.5 ต่อปี) โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากที่หดตัวต่ำสุดในไตรมาสแรกของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านรายจ่ายเพื่อการบริโภคและรายจ่ายเพื่อการลงทุน จากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 1 และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือที่เรียกว่า ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ภายในประเทศในช่วงที่เหลือของปีเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยหดตัวต่อเนื่องและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวมาก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอลงจากรายได้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลง ตามการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2552 จะลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -0.5 ถึง 0.5 ต่อปี) ตามราคาน้ำมันที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพภายในคือ อัตราการว่างงานที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจนอกประเทศ คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2552 จะเกินดุลมากถึงร้อยละ 9.0 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.5 ถึง 9.5 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่เกินดุลมากตามมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงในสัดส่วนที่สูงมากกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -3.5 ถึง -2.5 ต่อปี) เนื่องจาก การส่งออกสินค้าและบริการหดตัวลงมาก ตามการหดตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย และการท่องเที่ยวที่ลดลงจากปัญหาการเมืองและความเสี่ยงจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวลงมากมาอยู่ที่ร้อยละ -16.9 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -17.4 ถึง -16.4 ต่อปี) สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะหดตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ -25.4 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -25.9 ถึง -24.9 ต่อปี) ตามการส่งออกที่ลดลงและการชะลอตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะหดตัวมาอยู่ที่ร้อยละ -12.4 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -12.9 ถึง -11.9 ต่อปี) ตามการตัดสินใจที่จะชะลอการลงทุนของภาคเอกชน ในช่วงที่ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและในประเทศที่ลดลง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.8 ถึง 0.2 ต่อปี) เนื่องจากรายได้ของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง ตามรายได้เกษตรกรที่ลดลงตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ประกอบกับความไม่แน่นอนในเรื่องการจ้างงาน เพราะมีแรงงานจำนวนมากที่ถูกปรับลดชั่วโมงการทำงานลง และอัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีที่ช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้แก่ภาคครัวเรือน รวมถึงการที่ค่าครองชีพที่ลดลงมากตามอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

ทั้งนี้ บทบาทสำคัญในการชะลอการหดตัวของเศรษฐกิจไทย ขึ้นอยู่กับการเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านรายจ่ายเพื่อการบริโภคและรายจ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐ จากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 1 และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือที่เรียกว่า ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนและประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากที่ตกต่ำสุดในไตรมาสแรกของปี 2552 โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐในปี 2552 จะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 9.6 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.1 ถึง 10.1 ต่อปี) และคาดว่าการลงทุนภาครัฐในปี 2552 จะเร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.5 ถึง 7.5 ต่อปี)

2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -0.5 ถึง 0.5 ต่อปี) เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะปรับลดลงมากจากปี 2551 และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาน้ำมันและราคาอาหารสด จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 0.0 — 1.0 ต่อปี) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพภายในคือ อัตราการว่างงานที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ของกำลังแรงงาน (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ถึง 3.0 ของกำลังแรงงาน) ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลสูงมากถึงร้อยละ 9.0 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 8.5 ถึง 9.5 ของ GDP) เนื่องจากการเกินดุลการค้าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 20.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 19.4 ถึง 21.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) การที่ดุลการค้าเกินดุลมากเกิดจากมูลค่าสินค้านำเข้าที่หดตัวลงมากกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่าส่งออกจะหดตัวร้อยละ -20.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -21.2 ถึง -19.2 ต่อปี) ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะหดตัวมากจากฐานสูงในปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ -31.7 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -32.7 ถึง -30.7 ต่อปี)

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 76/2552 25 มิถุนายน 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ