รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 29, 2009 10:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 มิ.ย. 2552

SUMMARY:

1. นายกรัฐมนตรีหารือกับประธาราธิบดีจีนร่วมแก้วิกฤติเศรษฐกิจ

2. นักวิเคราะห์ประเมินหุ้นครึ่งปีหลังผันผวน แม้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

3. การขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น

HIGHLIGHT:
1. นายกรัฐมนตรีหารือกับประธาราธิบดีจีนร่วมแก้วิกฤติเศรษฐกิจ
  • นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การหารือกับ นายหู จิ่น เทา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ โดยการย้ำถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนด้านการค้า การลงทุน และการผลักดันแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งภายในของแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาค และระดับโลกและในโอกาสฉลองครบรอบ 35 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน จะดูเรื่องของเส้นทางคมนาคม เชื่อมโยงทางตอนเหนือของไทย และทางตอนใต้ของจีน ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 4 ของไทย ที่มีสัดส่วนตลาดส่งออกของคิดเป็นร้อยละ 9.1 ซึ่งข้อมูลส่งออกล่าสุดเดือน พ.ค. 52 การส่งออกของไทยไปจีนหดตัวที่ร้อยละ -10.9 ต่อปี ซึ่งลดลงจากไตรมาส1 ที่หดตัวถึงร้อยละ -27.6 ต่อปี สะท้อนถึงการส่งออกไปจีนที่ดีของไทยและภาวะเศรษฐกิจที่มีทิศทางดีขึ้นของประเทศจีน ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันจะช่วยให้ภาคการผลิตและการลงทุนขยายตัวระหว่างทั้ง 2 ประเทศเพิ่มขึ้น และยังเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยให้สามารถขยายตัวได้
2. นักวิเคราะห์ประเมินหุ้นครึ่งปีหลังผันผวน แม้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
  • นักวิเคราะห์มองว่าเงินเฟ้อเป็นประเด็นที่ต้องติดตามในระยะยาว และอาจเป็นปัจจัยให้ตลาดหุ้นทั่วโลกต้องสั่นสะเทือนอีกรอบหากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และมีการเข้ามาเก็งกำไรในตลาดน้ำมันอีกครั้ง ส่วนทิศทางตลาดหุ้นไทยคาดว่าสิ้นปีจะเคลื่อนไหวระหว่าง 550-600 จุด ซึ่งต้องติดตามราคาน้ำมันในตลาดโลกเนื่องจากเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางของตลาดหุ้น เนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงานมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทยมาก สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มอ่อนตัวก็จะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นเอเชีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่าตลาดหลักทรัพย์ของไทย (SET Index) ปรับตัวสูงขึ้นจากสิ้นปี 2551 จนถึงปัจจุบันประมาณร้อยละ 31.25 ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ที่มียอดซื้อสุทธิ (Net Buy) 19.0 พันล้านบาท สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ได้แก่ (1) ภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศที่ขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจโลก (2) ภาวะการเมืองภายในประเทศ และ (3) แนวโน้มของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เช่น ราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยอาจผันผวนในช่วงครึ่งปีหลัง
3. การขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น
  • ทางการสหรัฐฯประกาศตัวเลขการขอรับสวัสดิการการว่างงานสะสม (US jobless contingency claims) ที่ปรับตัวขึ้นมาที่ ระดับ 6.738 ล้านคน ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 6.700 ล้านคน ซึ่งสวนทางกับตัวเลขปรับการขยายตัวของ GDP ที่หดตัวลดลงมาอยู่ที -5.5 จากไตรมาสก่อน (Q-o-Q annualized) จากเดิมที่อยู่ที่ระดับ -5.7 (Q-o-Q annualized)
  • สศค. วิเคราะห์ว่าตัวเลขการว่างงานซึ่งเป็นตัวแปรตามเศรษฐกิจ (Lagging indicator) ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลจากภาวการณ์ถดถอยของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาเนื่องการปรับตัวตอบสนองต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาคแรงงานจะช้ากว่าเศรษฐกิจภาคอุปสงค์และภาคอื่นๆ ทั้งนี้ ตัวเลขแปรพ้องเศรษฐกิจ (Coincidence indicator) อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการใช้จ่ายภาคผู้บริโภคสหรัฐฯประจำเดือน พ.ค. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ต่อปี เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ยอดขายบ้าน (Existing home sales) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องที่ 4.77 ล้านหลัง ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ที่ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.8 และดัชนีการซื้อของผู้บริหารที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 280.3 จุดจากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 261.2 จุดและซึ่งล้วนแล้วแต่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะผ่านจุดที่ต่ำสุดไปแล้วและอาจจะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในช่วงต่อไปและจะส่งผลให้การจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ