รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 22-26 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 29, 2009 10:55 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย.52 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,799.02 พันล้านบาทหรือร้อยละ 43.02 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 91.12 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นสุทธิ 81.01 พันล้านบาท จากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้ประเภทตั๋วเงินคลังจำนวน 61.69 พันล้านบาทและพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 20.0 พันล้านบาท สำหรับหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินและหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 7.20 พันล้านบาทและ 4.95 พันล้านบาท ตามลำดับทั้งนี้ หนี้สาธารณะคงค้างส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ) สกุลเงินบาท (ที่ร้อยละ 89.95 และเป็นหนี้ระยะยาว) มากกว่า 1 ปี (ที่ร้อยละ 88.83 ของยอดหนี้สาธารณะรวม)

รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ย. 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 217.1 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 59.9 พันล้านบาทหรือร้อยละ -21.6 ต่อปี แต่สูงกว่าประมาณการ 6.9 พันล้านบาทหรือร้อยละ 3.3 ส่งผลให้รายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 เท่ากับ 874.7 พันล้านบาท ต่ำ กว่าเป้าหมาย 108.9 พันล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ที่สูงกว่าเป้าหมายในเดือน พ.ย. 52 มีสาเหตุสำคัญจากผลจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่สูงกว่าประมาณการ 22.6 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มยังคงต่ำกว่าปีก่อนหน้า 8.1 พันล้านบาทหรือร้อยละ -20 ต่อปี เนื่องจาก มูลค่าการนำเข้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือนพ.ค.52 หดตัวร้อยละ -7.2 ต่อปี ลดลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี การหดตัวของภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมี.ค. 52 ที่ผ่านมาผู้บริโภคมีการเร่งโอนธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ก่อนหน้าที่ทางการจะประกาศขยายระยะเวลาลดหย่อนภาษีในการโอนธุรกรรมสังหาริมทรัพย์ออกไปอีก 1 ปี

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน พ.ค. 52 หดตัวลดลงที่ร้อยละ -17.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.7 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐ เช่น มาตรการเช็คช่วยชาติจำนวน 2000 บาท ที่ให้แก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท และมาตรการเบี้ยคนชรา ซึ่งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายประชาชนได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกหดตัวลงและรายได้ประชาชนโดยรวมลดลง ซึ่งส่งผลให้ประชาชนยังคงระมัดระว้งในการจับจ่ายใช้สอยอยู่

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. 52คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ -12.5 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ1-3.1 ต่อปี ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้รับสัญญาณบวกจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะจากประเทศจีน อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตฯ ดังกล่าวยังคงเป็นอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนหน้า

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ .ย. 52 คาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -4.0 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 เนื่องจากมีฐานการคำนวณที่สูงจากปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปจะขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก ประกอบกับราคาสินค้าประเภทผักและผลไม้มีราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยกเว้นค่าเงินวอน เปโซ และปอนด์สเตอลิงค์ที่อ่อนค่าลง

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) ได้มีมติคงปริมาณการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล (Quantitative credit easing) และอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม พร้อมทั้งกล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นแล้ว ซึ่งส่งผลให้ความต้องการของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (safe haven) ลดลง

ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากที่เยอรมันประกาศตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ก.ค.ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 2.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 2.5 จุดในเดือน มิ.ย. ประกอบกับสมาชิกของธนาคารกลางยุโรป(ECB) กล่าวว่า ECB ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับปัจจุบันอีกนั้นเป็นการส่งสัญญาณให้กับตลาดว่าเศรษฐกิจยุโรปน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงต่อไปแล้วจึงส่งผลให้ความต้องการเงินยูโรมีมากขึ้นและแข็งค่าขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์อ่อนค่าลงจากปัจจัยความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอังกฤษ

ในขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นหลังจากที่ทางการญี่ปุ่นประกาศว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเกินดุลการค้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ที่ระดับ 229.8 พันล้านเยน (3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นการเกินดุลที่สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นและความต้องการเงินเยนในตลาดมีเพิ่มมากขึ้น

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.23 นับจากช่วงต้นสัปดาห์ แต่อ่อนค่าลงนับจากช่วงต้นเดือนเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.06

อัตราการเปลี่ยนแปลงจากช่วงต้นสัปดาห์ดังกล่าวเป็นการแข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินสกุลวอนและเปโซ แข็งค่าขึ้นใกล้เคียงกับค่าเงินริงกิต หยวนและดอลลาร์สิงคโปร์แต่แข็งค่าขึ้นน้อยกว่าค่าเงินรูเปียห์

ค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในช่วงค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยกเว้นค่าเงินรูเปียห์ที่แข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาจากการเข้าทำกำไรของนักลงทุนหลังจากที่ค่าเงินรูเปียห์ปรับลดต่ำลงไปมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลว่าค่าเงินรูเปียห์จะปรับตัวขึ้นมามากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเงินภูมิภาคสกุลอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากปัจจัยความกังวลทางด้านการเมืองในเกาหลีเหนือประกอบกับความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้หลังจากที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเกาหลีประกาศออกมาในระดับที่ต่ำกว่าที่ตาดไว้ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อความต้องการของค่าเงินเกาหลีเช่นกัน

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.23 จากสัปดาห์ก่อนหน้าจากปัจจัยพื้นฐานทางด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น บ่งชี้ได้จากดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าในช่วงสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติจะเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นจำนวนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในช่วงแคบเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและสอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเช่นเดียวกัน

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลีดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 19 มิ.ย. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 2.67 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 2. 53

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 7.4) ริงกิตมาเลเซีย(ร้อยละ 4.1) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 3.6) วอนเกาหลี (ร้อยละ 3.6) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 3.0) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.3) หยวน (ร้อยละ 2.0) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 1.9) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 1.9) ยูโร (ร้อยละ 1.5) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -9.5) และรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -3.8) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 19 มิ.ย.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 128.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน 0.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยสาเหตุที่ทำ ให้ทุนสำ รองเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ ธปท.เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินในสภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวน ประกอบกับมีเงินลงทุนไหลออกโดยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์พบว่า มีมูลค่าการขายสุทธิที่ประมาณ 0.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการขายทำ กำไรในตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นผลทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (12 มิ.ย.52) ร้อยละ 0.21 บาท จาก 34.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้

Major Trading Partners’ Economies: This Week

สหรัฐฯประกาศปรับปรุงตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 52 ครั้งสุดท้าย โดยหดตัวร้อยละ -5.5 ต่อปีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq annualized) หรือร้อยละ -2.5 ต่อปี ซึ่งดีขึ้นเล็กน้อยจากการประกาศตัวเลขปรับปรุงเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

ยอดจำหน่ายบ้านมือสอง (Existing home sales) ของสหรัฐเดือนพ.ค. 52 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 2.4 จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 4.77 ล้านหลัง โดยเป็นการขยายตัวในอัตราคงที่จากเดือนเม.ย.ที่ร้อยละ 2.4 จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ราคากลางบ้าน (Median Home Price) ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ 173,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.8 จากเดือนก่อนหน้า เป็นสัญญาณว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯที่ปรับตัวลดลงมามากเริ่มส่งผลดีต่อการซื้อขายบ้าน เป็นอีกสัญญาณบวกว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นชนวนของวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้มีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ในอนาคตอันใกล้

ดัชนี Purchasing Managers Index (PMI) ภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน มิ.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 42.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 40.7 และนับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 51 เนื่องจากผู้ประกอบการมีการระบายสินค้าคงคลังออกไปได้เป็นจำนวนมากและเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าและผลผลิตยังหดตัวในระดับที่น้อยลง สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวดีขึ้นและเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนอาจใกล้จะออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนพ.ค.52 หดตัวร้อยละ -40.9 ต่อปีมีมูลค่า 4.02 ล้านล้านเยน หดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -42.4 ต่อปี อยู่ที่ 3.72 ล้านล้านเยน ส่งผลให้เดือนนี้ เกินดุลการค้า 2.99 แสนล้านเยน ซึ่งเป็นการเกินดุลต่อเนื่องมาจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 68.95 พันล้านเยน

ผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Output) ของสิงคโปร์ในเดือนพ.ค.52 อยู่ที่ระดับ 87.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ต่อปี เนื่องจากผลผลิตด้านเวชภัณฑ์เพิ่มขึ้นซึ่งได้เขามาเพิ่มขึ้นทดแทนการผลิตด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มียอดผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง

ผลผลิตอุตสาหกรรมไต้หวันเดือนพ.ค.52 หดตัวน้อยที่สุดในรอบ 7 เดือนที่ร้อยละ -18.3 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -19.9 ต่อปี ทั้งนี้ เป็นการหดตัวที่น้อยกว่าที่ตลาดคาดมาก ถึงแม้จะยังมีการหดตัวในทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -18.6 ต่อปี เป็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมไต้หวันน่าจะผ่านพันจุดต่ำสุดไปแล้ว

มูลค่าการส่งออกสินค้าของฮ่องกงเดือนพ.ค.52 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ -14.5 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ -18.2 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดย re-export ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 97 ของการส่งออกรวม หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -13.7 ต่อปี ในขณะที่ domestic export หดตัวร้อยละ -19.2 ต่อปี ในแง่มิติสินค้า การส่งออกเครื่องจักรไฟฟ้าและสินค้าอุตสาหกรรมเบ็ดเตล็ดหดตัวถึงร้อยละ -12.0 และ -15.9 ต่อปี ตามลำดับ ในแง่มิติคู่ค้าการส่งออกไปยังจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น หดตัวถึงร้อยละ -10.8 -34.6 และร้อยละ -20.9 ตามลำดับ แต่การส่งออกไปยังตลาดใหม่ เช่นไต้หวันและอินเดียขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ1.5 และ 0.3 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเดือนพ.ค.52 หดตัวร้อยละ -19.2 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.0 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าฮ่องกงเดือน พ.ค. 52 ขาดดุลที่ -11.0 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง

มูลค่าการนำเข้าสินค้าของฟิลิปปินส์เดือนเม.ย.52 หดตัวร้อยละ -37.4 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -36.2 ต่อปี หดตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี โดยเป็นผลจากการนำเข้าในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 30.4 ของการนำเข้าทั้งหมด มีการหดตัวร้อยละ -42.0 ต่อปี รวมทั้งผลจากการนำเข้าน้ำมันดิบที่หดตัวถึงร้อยละ -46.8 ต่อปี สำหรับในเดือนเม.ย. 52 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้า 238 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ