รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 30, 2009 11:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 มิ.ย. 2552

SUMMARY:

1. สวค. เสนอรัฐใช้เงินกู้ 8 แสนล้านให้มีประสิทธิภาพ

2. ธนาคารกรุงเทพชี้สัญญาณเอ็นพีแอลยังน่าห่วง

3. อัตราการออมของครัวเรือนสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ปีที่ร้อยละ 6.9

HIGHLIGHT:
1. สวค. เสนอรัฐใช้เงินกู้ 8 แสนล้านให้มีประสิทธิภาพ
  • ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ได้กล่าวว่าการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจากเงินกู้ 8 แสนล้านบาท ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง (SP2) จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หากรัฐบาลได้ใช้จ่าย 8 แสนล้าน อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ พบว่าในหลายโครงการของ SP2 เป็นโครงการเก่าของสมัยรัฐบาลก่อนซึ่งอาจไม่ทันกันสถานการณ์ปัจจุบันและอาจไม่มีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะยังไม่เป็นบวกถึงแม้ว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เนื่องจากรัฐบาลจะต้องใช้เวลาเบิกจ่าย SP2 อย่างน้อย 6 เดือน และจะมีผลต่อกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างน้อย12 เดือนข้างหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ผ่านโครงการลงทุนภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง (SP2) วงเงิน 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องมีการระดมทุนจากการกู้เงินพิเศษ 8 แสนล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินกว่า 4 แสนล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนในปี 52-53 และช่วยให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้เพิ่มจากกรณีที่ไม่มี SP2 ได้ร้อยละ 1.3 ต่อปี อย่างไรก็ดี การกู้เงินพิเศษนี้คาดว่าจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 61 ต่อจีดีพี จากปัจจุบันที่ร้อยละ 43 ต่อจีดีพี แต่คาดว่าภาระหนี้สาธารณะจะปรับตัวลดลงภายหลังปี 57 และเท่ากับร้อยละ 46 ในปี 61
2. ธนาคารกรุงเทพชี้สัญญาณเอ็นพีแอลยังน่าห่วง
  • กรรมการ รองผู้จัดการใหญ่ ธ.กรุงเทพ เปิดเผยว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ดี และบางภาคอุตสาหกรรมยังไม่ส่อแววจะปรับปรุงคุณภาพ จึงยังไม่เห็นการฟื้นตัวของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่ขอปรับโครงสร้างหนี้ ขอยืดเวลาชำระหนี้จำนวนยังเหมือนเดิม ถึงสิ้นปีนี้ธนาคารพยายามรักษาเอ็นพีแอลไม่ให้เกินร้อยละ 4.8 ซึ่งเป็นระดับเอ็นพีแอลในปัจจุบัน โดยลูกหนี้กลุ่มน้ำตาลปรับโครงสร้างหนี้เรียบร้อยแล้ว และมีทิศทางที่ดีขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 52 ยอดสะสมของ NPLs มีจำนวนทั้งสิ้น 4.2 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.51 ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 4 ของปี 51 ที่มี NPLs จำนวนทั้งสิ้น 4.0 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.29 ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้ NPLs แบ่งออกดังนี้ 1) NPLs ของภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.3 ของ NPLs รวม 2) NPLs ของภาคพาณิชย์มีจำนวน 6.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.6 ของ NPLs รวม และ 3) NPLs ของภาคอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีจำนวน 5.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.1 ของ NPLs รวม
3. อัตราการออมของครัวเรือนสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ปีที่ร้อยละ 6.9
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานตัวเลขอัตราการออมภาคครัวเรือนในเดือน พ.ค. 2552 ว่าสูงที่สุดในรอบ 16 ปี โดยอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ของรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง (Personal Saving Rate as percent of disposable income) เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโอบามา ที่ทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในเดือน พ.ค. ในขณะที่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่อัตราการออมภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการปรับสมดุลทางการเงินโลก (Global Rebalance) อันสืบเนื่องมาจากวิกฤตการเงินโลก ที่เกิดจากความไม่สมดุลทางการเงินโลก (Global Imbalance) หรือการที่สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้สหรัฐมีความต้องการเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การที่สหรัฐและโลกเผชิญกับวิกฤตการเงิน ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐจำเป็นต้องหดตัวลงเพื่อปรับเข้าสู่สมดุล ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยลง รวมถึงมีการออมมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 52-53 สหรัฐจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง 2-7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราการออมภาคครัวเรือนจะขึ้นสูงสุดถึงประมาณร้อยละ 10-11ต่อรายได้ อย่างไรก็ตาม หากอัตราการออมเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเป็นเพราะการที่ภาคครัวเรือนชะลอการใช้จ่ายเพื่อเก็บออม เนื่องจากวิตกกังวลในภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงเศรษฐกิจโลกตกต่ำยาวนานได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ