รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 1, 2009 09:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ก.ค. 2552

SUMMARY:

1. ธปท.มองเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค.ค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน

2. ผลผลิตอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเดือน พ.ค. พุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 5.9

3. จีนและฮ่องกงบรรลุข้อตกลงการค้า Bilateral trade โดยสามารถชำระเป็นเงินหยวนได้

HIGHLIGHT:
1. ธปท.มองเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค.ค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยประจำเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมค่อนข้างทรงตัวจากเดือนเมษายน และหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนในอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อนทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกและการนำเข้า อย่างไรก็ดี ผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญในภาคเกษตรหดตัวมากขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากนักท่องเที่ยวยังไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และผลกระทบจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่อย่างไรก็ดี หากดูในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2/52 ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้ดีขึ้นจากไตรมาส 1/52
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. 52 มีสัญญาณการหดตัวในอัตราที่ชะลอลง สะท้อนจากอุปสงค์ภายในประเทศด้านการบริโภคภาคเอกชนเริ่มหดตัวชะลอลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศจากภาคการส่งออกยังคงหดตัวแต่น้อยกว่าการนำเข้าที่หดตัว ทำให้ดุลการค้ายังคงเกินดุลมาก การเร่งการใช้จ่ายภาครัฐและมาตรการไทยเข้มแข็งจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัว ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 มีแนวโน้มหดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -3.5 ถึง -2.5 ต่อปี)
2. ผลผลิตอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเดือน พ.ค.52 พุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 5.9
  • กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเผยว่าผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค.52ขยายตัวกว่าร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.52 นับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สาเหตุจากภาคอุตสาหกรรมมีการผลิตเพิ่มขึ้นหลังจากได้ระบายสินค้าคงคลังออกไปจนระดับต่ำลง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มส่งผล โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัวคือกลุ่มยานยนต์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มผลิตเหล็กและโลหะ ขณะที่ทางการได้ปรับผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย.52 ใหม่เป็นขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อเดือน ทะยานขึ้นมากที่สุดในรอบ 50 ปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของประเทศญี่ปุ่นเริ่มกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริงครั้งหนึ่ง หลังจากในช่วงที่ผ่านมามีการชะลอการผลิตและใช้สินค้าคงคลังจนมีระดับลดลงไปมาก ประกอบกับในเดือน พ.ค.รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีก 13.93 ล้านล้านเยน เพื่อใช้สนับสนุนแก่ภาคยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูกลง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 52 จะหดตัวที่ร้อยละ -6.0 ถึง -6.5
3. จีนและฮ่องกงบรรลุข้อตกลงการค้า Bilateral trade โดยสามารถชำระเป็นเงินหยวนได้
  • จีนกับฮ่องกงบรรลุข้อตกลงและจะมีการเซ็นสัญญาเพื่อให้ธุรกรรมการค้าระหว่างจีนและฮ่องกงสามารถชำระราคาเป็นสกุลเงินหยวนได้ ซึ่งเป็นขั้นแรกของยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนเพื่อผลักดันเงินหยวนให้เป็นเงินสกุลหลักในการใช้ทำธุรกรรมระหว่างประเทศ (Internationalization) มากขึ้น โดยขั้นแรกของยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือการให้ทำสิทธิสัญญาให้บริษัทในฮ่องกงสามารถใช้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักในการทำธุรกรรมต่างๆ ในบัญชีเงินทุนได้ โดยผู้ว่าการธนาคารกลางจีนกล่าวว่าการเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในการทำธุรกรรมการเงินดังกล่าวจะเป็นการลดความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยนและต้นทุนจากการแลกเปลี่ยนสกุลเงินลงได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มบทบาทของเงินหยวนให้เป็นเงินสกุลหลักของภูมิภาคนั้นน่าจะ มีส่วนช่วยสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ และลดความเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดมาจากความไม่สมดุลทางการเงินโลก (Global Imbalance) ดังนั้น หากค่าเงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นและสามารถกลายมาเป็นค่าเงินหลักของภูมิภาคนั้นน่าจะมีส่วนสำคัญในการลดความผันผวนของค่าเงินในภูมิภาคเนื่องจากค่าเงินในภูมิภาคจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใกล้เคียงกันซึ่งอ้างอิงมาจากเงินหยวนและจะช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่สมดุลของโลกจากเหตุผลข้างต้นเช่นกัน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ