Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 ก.ค. 2552
SUMMARY:
1. ผ่าแอกชันแพลน ไทยศูนย์กลางอัญมณีโลก
2. ไอเอ็มเอฟเพิ่มเป้าศก.เอเชีย อานิสงส์จีดีพี จีน อินเดีย ฟื้น
3. ยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่นเดือน พ.ค. 52 หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.0
HIGHLIGHT:
1. ผ่าแอกชันแพลน ไทยศูนย์กลางอัญมณีโลก
- นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมของไทยให้เหนือกว่าคู่แข่ง รับกับเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวในอนาคตอันใกล้นี้ โดยยุทธศาสตร์มี 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านภาษี โดยรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับวัตถุดิบอัญมณีนำเข้า 2) ด้านวัตถุดิบ โดยการเร่งเจรจากับประเทศที่มีวัตถุดิบเพื่อนำมาแปรรูปส่งออกอย่างจริงจัง 3) ด้านแรงงาน โดยการต่อยอดจากโครงการต้นกล้าอาชีพในการฝึกอบรมแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะกลับมาขยายตัวในอนาคต และ 4) ด้านการตลาด โดยการรุกเข้าไปยังตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งได้แก่ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และรัสเซีย
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยดูจากการมีสัดส่วนในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 6.2 ของอุตสาหกรรมรวมและสัดส่วนในการส่งออกร้อยละ 4.7 ของการส่งออกรวม โดยสถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงเดือนม.ค. - พ.ค. 52 นั้น ขยายตัวร้อยละ 65.6 ต่อปี จากผลของปริมาณการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น ตามราคาทองคำ และจากการส่งออกเครื่องประดับที่ทำด้วยทองและเงินไปยังยูโรโซน และสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มดีขึ้นในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา
2. ไอเอ็มเอฟเพิ่มเป้าศก.เอเชีย อานิสงส์จีดีพี จีน อินเดีย ฟื้น
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพิ่มการคาดหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียเป็นร้อยละ 5.5 ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 4.8 เพราะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน และอินเดียมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคและกระแสเงินทุนที่เพิ่มเร็วกว่าคาด แต่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของประเทศพัฒนาแล้ว โดยไอเอ็มเอฟได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของจีนขึ้นร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 7.5 และเพิ่มคาดหมายการเติบโตของอินเดียอีกร้อยละ 0.9 เป็นร้อยละ 5.4 ส่วนปีหน้า ไอเอ็มเอฟได้ปรับเพิ่มแนวโน้มการขยายตัวของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจากร้อยละ 6.1 เป็นร้อยละ 7.0
- สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤตการเงินโลกที่ลุกลามจากฝั่งตะวันตกมาสู่ฝั่งตะวันออก ทำให้ประเทศในภูมิภาคที่เน้นการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีประชากรมากและมีสัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนต่อจีดีพีสูง ทำให้การอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมีผลช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจในภาวะที่การส่งออกซบเซา โดยจีนมีการใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อินเดียอัดฉีดเงินมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเน้นในเรื่องการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานและกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจจีนและอินเดียจะขยายตัวร้อยละ 7.4 และ 4.3 ต่อปี ตามลำดับ
3. ยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่นเดือน พ.ค. 52 หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.0
- ยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักร (core machinery orders) ของญี่ปุ่นประจำเดือน พ.ค. 52 มีมูลค่าทั้งสิ้น 668.2 พันล้านเยน (7.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หดตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ -3.0 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามจากเดือน เม.ย. 52 และเดือน มี.ค. 52 ที่ร้อยละ -5.4 และร้อยละ -1.3 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนของญี่ปุ่นอาจชะลอแผนการลงทุนออกไป ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ารายจ่ายเพื่อการลงทุนของญี่ปุ่นจะยังคงหดตัว แม้ว่าผลผลิตอุตสาหกรรมจะมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า การหดตัวของ core machinery orders ของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. 52 นี้เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมอาจจะยังไม่ฟื้นตัว ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาณที่ดีจากตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 52 ที่ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.9 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความเชื่อมั่นในภาคแรงงาน (worker sentiment) ในเดือน มิ.ย. 52 ปรับตัวดีขึ้นที่ระดับ 42.2 จากระดับ 36.7 ในเดือน พ.ค. 52 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการภาษีของรัฐบาล
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th