ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 10, 2009 08:41 —กระทรวงการคลัง

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (วันที่ 9 กรกฎาคม 2552) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้สามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกัน ในการขอสินเชื่อได้ เนื่องจากในปัจจุบันระบบการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องการจำนอง (จำกัดเฉพาะอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์บางประเภทที่จะนำมาจำนองได้) และการจำนำ (ต้องส่งมอบสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าหนี้) ทำให้ทรัพย์สินอื่น ๆ ในกิจการอีกมากมายที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น กิจการ สินค้าคงคลัง เครื่องจักร วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า สิทธิเรียกร้องต่าง ๆ เป็นต้น ผู้ประกอบกิจการไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้ ทำให้ผู้ประกอบกิจการขาดโอกาสในการขอสินเชื่อ เพื่อนำเงินทุนไปใช้ในการประกอบธุรกิจต่อไป

ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายเพื่อเข้ามารองรับทรัพย์สินต่าง ๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ โดยที่ผู้ประกอบธุรกิจยังสามารถใช้สอย จำหน่ายจ่ายโอน ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันต่อไปได้ และสร้างระบบการติดตาม ตรวจสอบทรัพย์สิน ที่เป็นหลักประกัน เพื่อให้ความมั่นใจแก่เจ้าหนี้ด้วย รวมทั้ง มีระบบบังคับหลักประกันที่มีความรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ให้หลักประกัน และยังเป็นการลดภาระของศาลและเจ้าพนักงานบังคับคดี

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ สรุปได้ ดังนี้

ทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกัน เช่น กิจการ สิทธิเรียกร้อง เครื่องจักร สินค้าคงคลัง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า

การทำสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ และต้องจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

สิทธิและหน้าที่ของผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกัน เช่น ผู้ให้หลักประกันมีสิทธิครอบครอง ใช้สอย จำหน่ายจ่ายโอนหลักประกันได้ ส่วนผู้รับหลักประกันมีสิทธิเข้าตรวจดูทรัพย์สินได้

ลำดับบุริมสิทธิ กำหนดให้เป็นไปตามลำดับวันและเวลาในการจดทะเบียน ทั้งการจดทะเบียนจำนอง และการจดทะเบียนหลักประกันตามร่างกฎหมายนี้

กระบวนการบังคับหลักประกัน แบ่งเป็น 2 กรณี คือ หลักประกันที่เป็นกิจการต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับใบอนุญาตจากรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่วนหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินอื่น เจ้าหนี้สามารถดำเนินการบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินนั้นได้

สำหรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... นั้น เป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... โดยให้เจ้าหนี้ยังสามารถได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้เต็มจำนวนหนี้ ในกรณีเจ้าหนี้บังคับจำนองแล้วราคาทรัพย์สินที่จำนองต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระหรือเมื่อนำทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระอยู่ และกำหนดให้ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นด้วย

ในภาวะที่การขอสินเชื่อยังไม่มีความคล่องตัว การมีร่างกฎหมายฉบับนี้เข้ามาเสริมระบบการนำทรัพย์สินเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อของระบบปัจจุบันให้มีทรัพย์สินที่หลากหลายมากขึ้น และให้เจ้าหนี้มีบุริมสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินนั้นได้ก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น ๆ จะเป็นการเพิ่มทางช่องทางและโอกาสในการขอสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่เจ้าหนี้ในการรับทรัพย์สินตามร่างกฎหมายนี้เป็นหลักประกันมากขึ้น

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ได้รับการเพิ่มทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เกิดความมั่นใจในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

02 273-9020 ต่อ 3262-3268

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 84/2552 9 กรกฎาคม 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ