Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 ก.ค. 2552
SUMMARY:
1. ผู้ส่งออกข้าวเตือน ระวัง5ปีไทยเสียแชมป์โลกส่งออกข้าว
2. คณะรัฐมนตรีอนุมัติออกพันธบัตรออมทรัพย์ล๊อตสอง 3 หมื่นล้านบาท
3. สิงคโปร์ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 52 เป็นการหดตัวลดลงที่ร้อยละ 4 — 6ต่อปี
HIGHLIGHT:
1. ผู้ส่งออกข้าวเตือน ระวัง 5 ปีไทยเสียแชมป์โลกส่งออกข้าว
- นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยในการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องข้าว ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ไทยมีโอกาสสูญเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 เนื่องจากราคาข้าวไทยขณะนี้สูงกว่าคู่แข่ง อีกทั้งเวียดนาม ผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 2 ก็เพิ่มสัดส่วนส่งออกข้าว โดยปีนี้ตั้งเป้าส่งออกเพิ่มเป็น 6 ล้านตัน ขณะที่ไทยตั้งเป้าส่งออก 8.5 ล้านตัน เหลือช่องว่างห่างกันแค่ 2.5 ล้านตันเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีประเทศผู้ส่งออกหน้าใหม่เกิดขึ้น เช่น พม่าที่ปีนี้ส่งออก 7 หมื่นตัน และคาดว่าปี 2553 จะเพิ่มผลผลิตส่งออกได้ถึง 1.5 ล้านตัน ขณะที่กัมพูชาก็ประกาศที่จะส่งออกถึง 1 ล้านตัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 52 ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นปริมาณรวมเพียง 4.4 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 51 ที่ส่งออกได้ถึง 6.0 ล้านตัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -26.9 ต่อปี ขณะที่ประเทศเวียดนามส่งออกข้าวในครึ่งแรกของปี 52 ไปแล้วกว่า 3.6 ล้านตัน (ข้อมูลจากสมาพันธ์อาหารเวียดนาม : VFA) ทำให้มีปริมาณการส่งออกห่างกันเพียง 8 แสนตันเท่านั้น ซึ่งในอดีตไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องเร่งหาตลาดใหม่ที่มีโอกาสขยายตัวได้ในอนาคต เพื่อมาชดเชยกับส่วนที่หดตัวลง ขณะที่นโยบายการระบายข้าวของรัฐที่เหมาะสมจะทำให้ราคาในตลาดไม่ผันผวนมากเกินไปและเป็นประโยชน์กับการส่งออกในที่สุด
2. คณะรัฐมนตรีอนุมัติออกพันธบัตรออมทรัพย์ล๊อตสอง 3 หมื่นล้านบาท
- คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนกระทรวงการคลังออกพันธบัตรออมทรัพย์ล๊อตที่ 2 วงเงินอีก 3 หมื่นล้านบาท หลังจากการออกพันธบัตรออมทรัพย์ล๊อตแรก 5 หมื่นล้านบาทในวันแรกประสบความสำเร็จอย่างมาก รวมพันธบัตรออมทรัพย์ทั้งสิ้นเป็น 8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติกรอบไว้เบื้องต้น ยังไม่ได้สรุปว่าจะออกเมื่อใด หรือขายให้กับใคร
- สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการกู้เงินจำนวน 8 แสนล้านบาท ได้ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าอุปทานพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งได้ส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธที่ 15 กรกฎาคม 2552 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
3. สิงคโปร์ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 52 เป็นการหดตัวลดลงที่ร้อยละ 4 — 6ต่อปี
- รัฐบาลสิงคโปร์ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจประจำปี 2552 ว่าจะหดตัวที่ประมาณร้อยละ -4 ถึง -6 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -9 ต่อปี หลังจากที่ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 2 ประกาศออกมาดีกว่าที่คาดไว้มากโดยสามารถขยายตัวจากไตรมาสก่อน (Q-o-Q annualized) ที่ระดับสูงถึงร้อยละ 20.4 มากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ค่าเฉลี่ยไว้ที่ร้อยละ 13.4 และเป็นการหดตัวต่อปีที่ร้อยละ -3.7 ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้เดิมที่ร้อยละ -5.4 ต่อปี ทั้งนี้การหดตัวที่ลดลงและน้อยกว่าที่คาดไว้ดังกล่าวมาจากภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจสิงคโปร์นั้นหดตัวลดลงมาจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ -1.5 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นมาจากไตรมาสที่ 1 ของปี 52 ที่หดตัวที่ร้อยละ -24.3 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่าการที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปรับตัวดีขึ้นนั้นน่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสิงคโปร์ซึ่งประกอบด้วยมาตรการการลดภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกซึ่งน่าจะมีส่วนส่งเสริมในการเพิ่มอุปสงค์ในการนำเข้าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจสิงคโปร์สามารถฟื้นตัวได้ชัดเจนกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคน่าจะมีส่วนมาจากการที่ภาคอุตสาหกรรมของสิงคโปร์นั้นมีสาขาผลิตภัณฑ์ทางด้านเภสัชกรรมมากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค การขยายตัวในสาขาดังกล่าวน่าจะมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากปัจจัยของการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ ทั้งนี้ สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 52 จะหดตัวที่ประมาณร้อยละ -9.0 ถึง -8.5 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจสิงคโปร์มีโครงสร้างพึ่งพิงการส่งออกสินค้าและบริการเป็นหลัก จึงอาจมีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า เนื่องจากอาจต้องรอการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั่วโลกก่อนที่จะสามารถกลับมาขยายตัวได้เหมือนเดิม
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th