Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 ก.ค. 2552
SUMMARY:
1. มติกนง.คงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.25
2. ยอดขายรถยนต์รวมในช่วง 6 เดือนแรกปี 52 หดตัวลงร้อยละ -28.0 ต่อปี
3. GDP สิงคโปร์ในไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 20.4
HIGHLIGHT:
1. มติกนง.คงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.25
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี อย่างไรก็ตาม กนง.จะยังคงติดตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมที่จะเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าวิกฤตการเงินโลกยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศหลัก และประเทศในภูมิภาคเอเชียให้อ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกและสถานการณ์การเงินระหว่างประเทศค่อยๆ ปรับตัวในทิศทางดีขึ้นบ้าง โดยอัตราการหดตัวทางเศรษฐกิจเริ่มลดลง แต่ยังมีความเปราะบาง นอกจากนี้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและนโยบายกระตุ้นการคลังในหลายประเทศ จะช่วยเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกต่อไป
- สศค. วิเคราะห์ว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยในอนาคตคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีประกอบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในปัจจุบันยังคงมีไม่มาก อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ทั้งนี้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ดี หากปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกมีเพิ่มมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้อีก เพื่อให้เหมาะสมที่จะเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป
2. ยอดขายรถยนต์รวมในช่วง 6 เดือนแรกปี 52 หดตัวลงร้อยละ -28.0 ต่อปี
- รายงานข่าวจากบริษัท ตรีเพชร อีซูซุ เซลล์ ระบุว่ายอดจำหน่ายรถยนต์รวมทุกประเภทในช่วงครึ่งแรกปี 52 จำหน่ายได้ทั้งสิ้น 231,428 คัน ลดลงร้อยละ -28.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายรถปิกอัพขนาด 1 ตัน จำหน่ายได้ 112,869 คัน หรือลดลงร้อยละ -35.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในช่วง 6 เดือนแรกปี 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 96,056 คันหรือลดลงร้อยละ -13.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการจำหน่ายรถยนต์ในภาพรวม คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 52 เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ หดตัวน้อยลงในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 และจะขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 4 อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงเรื่อง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ที่จะกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจไทยไม่ให้ฟื้นตัวเร็วนัก
3. GDP สิงคโปร์ในไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 20.4
- GDP สิงคโปร์ไตรมาส 1 ปี 52 ขยายตัวร้อยละ 20.4 (QOQ annualized) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพิ่มขึ้นมากจากไตรมาส 1 ปี 52 ที่หดตัวร้อยละ -12.7 (QOQ annualized) สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นบ้าง และเป็นไปได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้อาจจะผ่านพ้นไปแล้ว ส่งผลให้รัฐบาลสิงคโปร์ปรับประมาณการ GDP ในปี 52 มาอยู่ที่ร้อยละ -6.0 ถึง -4.0 ต่อปี จากเดิมที่คาดว่าจะอยูที่ร้อยละ -9.0 ถึง -6.0 ต่อปี อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรมสิงคโปร์ยังคงเป็นห่วงว่า แม้เศรษฐกิจสิงคโปร์จะปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของประเทศคู่ค้า ได้แก่ สหรัฐฯ และยุโรปที่ลดลง ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่พึ่งพาการส่งออกสูง
- สศค. วิเคราะห์ว่า GDP สิงคโปร์ (QOQ annualized) ไตรมาส 2 ปี 52 ที่ปรับตัวดีขึ้นนั้น เมื่อพิจารณาเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนพบว่า GDP หดตัวร้อยละ -3.7 ต่อปี หดตัวน้อยลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่หดตัวร้อยละ -10.1 ต่อปี เป็นผลจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตยา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของสิงคโปร์และมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 ของ GDP ที่ส่งผลให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมของสิงคโปร์หดตัวลงเพียงร้อยละ -1.5 ต่อปี หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -24.3 ต่อปี ขณะที่ GDP ภาคบริการหดตัวที่ร้อยละ -5.1 ต่อปี เท่ากับไตรมาสก่อน เพราะภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ยังคงอ่อนแออยู่
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th