บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน : จุดอ่อนที่ต้องพลิกฟื้นให้เข้มแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 17, 2009 14:26 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

ในปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่มีต้นกำเนิดมาจากวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกา ที่ลุกลามต่อเนื่องสู่เศรษฐกิจจริง (Real Sector) ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศของไทย อันได้แก่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน หดตัวลงถึงร้อยละ -17.7 และ -2.6 ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ซึ่งเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับจากวิกฤตการเงินเอเชียปี 2540-41

นอกจากปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกแล้ว อุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยเช่น รายได้เกษตรกรที่หดตัวลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง จำนวนผู้ว่างงานที่มากขึ้น และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจรุนแรงในอนาคต เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้ในปี 2552 สศค. คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะหดตัวลงที่ร้อยละ -2.6 และ -12.4 ต่อปี ตามลำดับ

จากแบบจำลองเศรษฐกิจไทยของ สศค. พบว่า การที่อุปสงค์ภายในประเทศที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 68.5 ของ GDP หดตัวลงมากเช่นนี้ เป็นจุดอ่อนหลักที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้หดตัวลงถึงร้อยละ -3.0 ในปี 2552 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -2.5 ถึง -3.5) ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นการใช้จ่ายพร้อมๆ กับการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆอย่างมีศักยภาพ เพื่อพลิกฟื้นจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็งเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 (Stimulus Package 1: SP1) ซึ่งเน้นกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนระยะสั้นเป็นหลัก โดยจากแบบจำลองเศรษฐกิจไทยของ สศค. พบว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลโดยตรง (First-round Effect) ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวขึ้นจากกรณีฐาน (ที่ไม่มีมาตรการ) ที่ร้อยละ 0.5 และ ร้อยละ 0.08 ของ GDP (Percentage Point) ตามลำดับ และจะส่งผลต่อเนื่อง (Second-round Effect) ทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวได้จากกรณีฐานประมาณร้อยละ 1.0 ของ GDP ทั้งนี้ ในระยะต่อไป รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (Stimulus Package 2: SP2) ที่เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น

ทั้งนี้ สศค. เห็นว่า ภาครัฐควรมุ่งเน้นการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งเร่งผลักดันโครงการ SP2 ให้เร็วที่สุดเพื่อเป็นการกำจัดจุดอ่อนของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถพลิกฟื้นขึ้นได้และขยายตัวได้อย่างยั่งยืน

1.คำนำ

ในปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่มีต้นกำเนิดมาจากวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกา ที่ลุกลามต่อเนื่องสู่เศรษฐกิจจริง (Real Sector) ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะ สหรัฐ และยุโรปหดตัวลงรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจประเทศต่างๆทั่วโลกหดตัวตามไปด้วย สำหรับเศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกดังกล่าวผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ภาคการผลิตที่เน้นการส่งออกต้องปรับลดกำลังการผลิตลง แรงงานตกงานมากขึ้น ส่งผลให้รายได้ประชาชนลดลง ซึ่งกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนอย่างชัดเจน โดยในปี 2552 สศค. คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะหดตัวลงที่ร้อยละ -2.6 และ -12.4 ต่อปี ตามลำดับ และจะเป็นปัจจัยหลักผลักดันให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงที่ร้อยละ -3.0 ต่อปีดังนั้น สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จึงศึกษาถึง (1) ความสำคัญของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ (2) ทิศทางและแนวโน้มของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ (3) ปัจจัยที่ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงและ (4) มาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในอนาคตดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

2.ความสำคัญของการบริโภคและการลงทุนต่อเศรษฐกิจไทย

หากพิจารณาองค์ประกอบของเศรษฐกิจไทยด้านอุปสงค์แล้ว จะพบว่าการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก โดยในปี 2551 การบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริงของไทยคิดเป็นสัดส่วนโดยรวมถึงร้อยละ 68.5 ของ GDP โดยการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงของไทยคิดเป็นร้อยละ 51.8 ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเศรษฐกิจ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคิดเป็นร้อยละ 16.7 ของ GDP ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกสุทธิมีสัดส่วนน้อยกว่าที่ร้อยละ 14.8 และ 16.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ ถ้านับรวมอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศแล้วนั้น จะพบว่ามีสัดส่วนถึงร้อยละ 68.5 ของ GDP

3. สถานการณ์การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

o สถานการณ์การบริโภคภาคเอกชน

การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัวที่ร้อยละ -2.6 ต่อปี หดตัวลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 โดยได้รับผลของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ภาคการผลิตในประเทศทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการหดตัวลงอย่างมาก ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.1 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 จากไตรมาสที่4 ปี 2551 ที่ร้อยละ 1.3 ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งรายได้เกษตรกรยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนโดยรวม

o สถานการณ์การลงทุนภาคเอกชน

สถานการณ์ด้านการลงทุนภาคเอกชนของไทยเริ่มส่งสัญญาณการอ่อนแรงตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2551ต่อเนื่องจนในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัวมากขึ้นที่ร้อยละ -17.7 ต่อปีจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.3 ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นการติดลบติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 แล้ว โดยการลงทุนภาคเอกชนของไทย สามารถแบ่ง 2 หมวดดังนี้

1. การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร พบว่าในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัวลงที่ร้อยละ -20.3 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่หดตัวลงร้อยละ -1.4 ต่อปี เป็นการลดลงในหมวดยานพาหนะ หมวดเครื่องจักรอุตสาหกรรม และหมวดเครื่องใช้สำนักงาน เนื่องการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิตลดลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

2. การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง พบว่าในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัวลงที่ร้อยละ -8.1 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ -0.7 ต่อปี ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้รายได้ของประชาชนโดยรวมลดลง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนลดลง ประกอบกับปัญหาทางความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภคให้ชะลอการลงทุนและการซื้อสินค้าลง

4. ปัจจัยที่ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลง

o วิกฤตเศรษฐกิจโลก

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2550 เป็นต้นมา นักวิเคราะห์หลายฝ่ายได้ตระหนักถึงผลของวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Sub-Prime Mortgage) ในสหรัฐ ที่เริ่มลุกลามเข้าสู่ตลาดเงินตลาดทุนโลก ทำให้สภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกเริ่มผันผวนมากขึ้นและต่อมาสถาบันการเงินรวมทั้งวานิชธนกิจระดับโลกหลายแห่งทั้งในสหรัฐและยุโรปล้มละลาย เกิดวิฤตการเงินโลก จนลุกลามเข้าสู่เศรษฐกิจจริง (real sector) ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศต้นตอวิกฤตอย่างสหรัฐได้รับผลจากวิกฤตดังกล่าว ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลงเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปยังมหาอำนาจเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น หดตัวตามไปด้วย

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก 2 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศต่างๆ โดยในส่วนของไทยนั้น การที่สหภาพยุโรปและสหรัฐเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 และ 2 ของไทย (โดยมีสัดส่วนร้อยละ 12.0 และ 11.4 ของการส่งออกรวมของไทยปี 2551) ทำให้การส่งออกรวมของไทยลดลงมาก ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่ามูลค่าการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกปี 2552 หดตัวลงที่ร้อยละ - 21.5 ต่อปี จากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งจากการส่งออกที่หดตัวลงจะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง มีการลดการผลิตและปลดคนงานตามมา ส่งผลให้รายได้ประชาชนโดยรวมลดลงด้วย และจะทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลงตามไปด้วย

o ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง

นับจากมีการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน ปี 2549 เป็นต้นมา เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยปรับลดลงมาโดยตลอด โดยมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี 4 คน และมีสถานการณ์ทางการเมืองที่กระทบต่อความเชื่อมั่น 3 ครั้งคือ 1. รัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 2. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสนามบินทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิเดือนธันวาคมปี 2551 3. เหตุการณ์จลาจลของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติในช่วงเดือนเมษายนปี2552 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง และส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ หลังการรัฐประหารในช่วงเดือนกันยายนปี 2549 ทำให้การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ปี 2549 ชะลอลงที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี (จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี) และไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ปี 2550 หดตัวลงที่ร้อยละ -2.4 และ-0.5 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนการบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ในไตรมาสที่ 4 ปี 2549 มาเป็นร้อยละ 1.4 และ 1.2 ต่อปี ในไตรมาสที่1 และ ไตรมาส 2 ในปี 2550

ในขณะที่เหตุการณ์การบุกยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ในช่วงเดือนธันวาคม 2551 มีผลให้ทำให้การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 หดตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี ส่วนการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี จากไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี

ผลที่เกิดขึ้นทั้ง 2 เหตุการณ์นั้น ทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 น่าจะยังติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 เนื่องจากมีเหตุการณ์จลาจลในช่วงเดือนเมษายนปี 2552

o รายได้เกษตรกรลดลง

ในปี 2551 ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ขยายตัวในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ โดยขยายตัวที่ร้อยละ 25.1 ต่อปี จนมีการกล่าวขานว่าเป็นยุคทองของภาคการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 19.4 ต่อปี ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สะท้อนได้จากปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (อันเป็นเครื่องชี้วัดการบริโภคของประชาชนในส่วนภูมิภาค) ในปี 2551 ขยายตัวถึงร้อยละ 7.9 ต่อปีนอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 13.0 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวได้เป็นเครื่องชี้วัดการบริโภคเอกชนได้อย่างดี โดยการบริโภคเอกชนที่แท้จริง (ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี จากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี) ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและราคาน้ำมัน ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2552 ราคาสินค้าเกษตรหดตัวลงที่ร้อยละ 10.2 ต่อปี ส่งผลให้รายได้เกษตรที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อชนบท) หดตัวลงที่ร้อยละ -10.1 ต่อปี ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป

5. แนวโน้มเศรษฐกิจภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนของไทยในปี 2552

5.1 การบริโภคภาคเอกชน

จากการติดตามเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภค พบว่า การบริโภคในประเทศเริ่มอ่อนกำลังลงมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆมา เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้การส่งออกไทยหดลงมากเป็นประวัติการณ์ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งทางด้านเมืองในประเทศส่งผลให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยรายละเอียดของเครื่องชี้ด้านการบริโภคภาคเอกชน ดังนี้

o ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในช่วง 5 เดือนแรก ปี 2552 หดตัวลงมากที่ร้อยละ -17.8 ต่อปี จากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 ต่อปี เนื่องจากตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกชะลอลงที่ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกหดตัวลงมาก ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาก ส่งผลให้รายได้ประชาชนโดยรวมลดลงผู้บริโภคจึงชะลอการใช้จ่ายลง โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ -18.2 ต่อปี ในในช่วง 5 เดือนแรก ปี 2552 จากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.1 ต่อปี นอกจากนี้ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ซึ่งสะท้อนถึงการบริโภคสินค้าคงทนของคนชั้นกลางในช่วง 5 เดือนแรก ปี 2552 หดตัวลงที่ร้อยละ -13.9 ต่อปี จากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 33.3 ต่อปี เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และปัจจัยฐานสูงจากปีก่อน ภาครัฐออกมาตรการปรับลดภาษี E20 ในช่วงต้นปี 2551 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวในระดับสูง ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ซึ่งสะท้อนการบริโภคสินค้าคงทนของกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำและคนในชนบท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัวลงที่ร้อยละ -15.1 ต่อปี จากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี เนื่องจาก เกษตรกรมีรายได้ลดลงตามราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วประกอบกับรายได้แรงงานอาจลดลงตามการลดชั่วโมงการทำงานหรือถูกลดเงินเดือนหรือถูกเลิกจ้างตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 70.7 ในปี 2551 มาอยู่ที่ระดับ 66.2 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 อันเป็นผลจากความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมือง การปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง การจราจลในช่วงเดือนเมษายน รวมทั้งวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย

o จากการประเมินเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภค คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2552 จะหดตัวลงที่ร้อยละ -2.6 ต่อปี จากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ที่จะได้รับในอนาคตและทำให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยที่ไม่จำเป็นออกไป 2) รายได้เกษตรกรที่หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนตามการลดลงของราคาพืชผลทางเกษตร ที่ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนโดยรวมลดลง 3) จำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับ 8.8 แสนคนส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งสู่ระดับร้อยละ 2.4 ของกำลังแรงงานรวมในเดือนมกราคม 2552 ถือเป็นจำนวนผู้ว่างงานสูงที่สุดนับจากปี 2544 เป็นต้นมา โดยเฉพาะสาขาบริการที่มีสัดส่วนของแรงงานร้อยละ 45.8 ของกำลังแรงงานรวม ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และ 4) ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจส่งผลรุนแรงต่อภาคการบริโภคได้ในอนาคต เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

5.2 การลงทุนภาคเอกชน

จากการติดตามเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน พบว่า การลงทุนภาคเอกชนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวนับตั้งแต่ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตั้งแต่ในช่วงปลายที่แล้ว ซึ่งเป็นการหดตัวลงทั้งการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเห็นสัญญาณในช่วงกลางปีที่แล้วประกอบกับการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว โดยรายละเอียดของเครื่องชี้ด้านการการลงทุนภาคเอกชน ดังนี้

o ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหักรายการพิเศษ (เครื่องบิน เรือ รถไฟ ) ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2552 หดตัวที่ร้อยละ -21.2 ต่อปี จากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ต่อปี สะท้อนถึงการลงทุนในหมวดการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรยังคงหดลงต่อเนื่อง เนื่องจากภาคเอกชนไม่มีการนำเข้าเพื่อทำการผลิตเพิ่ม ในขณะที่การจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (ซึ่งสะท้อนการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์) ในช่วง 5 เดือนแรกปี พบว่าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี จากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 ต่อปี สอดคล้องกับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และยอดจำหน่ายเหล็กในช่วง 4 เดือนแรกปี 2552 ที่หดตัวลงร้อยละ -47.3 และ -12.1 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนในหมวดการก่อสร้างภาคเอกชนยังหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าราคาวัสดุก่อสร้างจะเริ่มปรับตัวลดลงแล้วในช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้

o จากการประเมินเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุน คาดว่าในปี 2552 การลงทุนภาคเอกชน จะหดตัวลงที่ร้อยละ -12.4 ต่อปี จากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี โดยคาดว่า จะเป็นการหดตัวลงทั้งการลงทุนในการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนชะลอการลงทุน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยทางด้านการใช้จ่าย (Demand side) โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 68.5 ของ GDP อ่อนกำลังลงมากเมื่อเทียบกันปีก่อน และจะเป็นปัจจัยหลักที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้หดตัวในปี 2552 ดังนั้น ภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นการใช้จ่ายพร้อมๆกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆ อย่างมีศักยภาพ เพื่อกำจัดจุดอ่อนหลักออกไป

6. มาตรการภาครัฐในการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

หลังจากที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในประเทศ รัฐบาลได้มีนโยบายเชิงรุกในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาโดยตลอด โดยได้มีการวางแผนการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว (Expansionary Fiscal Policy)เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง รวมถึงการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยรัฐบาลได้วางกรอบนโยบายการคลังแบบขาดดุลภายใต้งบประมาณปี 2552 ในกรอบวงเงิน งบประมาณ 1.835 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.9 ของ GDP (โดยมีการขาดดุลงบประมาณจำนวน 2.45 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 ของ GDP)

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้มีการใช้นโยบายทางด้านภาษีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยดังกล่าว ซึ่งมาตรการภาษีดังกล่าวประกอบด้วย

มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ตามแนวนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการขยายระยะเวลาของมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ออกอีก 2 ปี โดยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ จากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราที่ร้อยละ 3.0 ลดลงเหลือร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ และการลดการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิมเก็บที่ร้อยละ 2.0 ของราคาประเมิน และลดการเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 1.0 ของราคาประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ลดค่าธรรมเนียมเหลือร้อยละ 0.01 ของราคาประเมิน โดยการขยายระยะเวลาดังกล่าวออกเพื่อเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ของภาคอสังหาริมทรัพย์และลดภาระการใช้จ่ายภาคเอกชน

มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน โดยการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจะต้องทำการโอนภายในปี 2552 ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมิน จำนวน 300,000 บาท ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากการหักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้านเป็นจำนวนไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

มาตรการด้านการลดต้นทุนในภาคที่อยู่อาศัย โดยการสนับสนุนให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับต่ำและมีสินเชื่ออย่างพอเพียง สำหรับการพัฒนาและการซื้อที่อยู่อาศัย โดยเป็นนโยบายให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในการปล่อยสินเชื่อให้ภาคที่อยู่อาศัย อาทิ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อในปี 2552 ไว้จำนวน 73,000 ล้านบาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงได้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีจำนวน 1.16 แสนล้านบาท (หรือที่รู้จักในนามงบกลางปี หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 หรือ Stimulus Package 1: SP1) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ที่มีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2552 สามารถจำแนกตามแผนงานที่สำคัญ ได้ดังนี้

ตาราง: การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 หน่วย : ล้านบาท
           แผนงาน                                         วงเงินงบประมาณ
1. แผนงานฟื้นฟูและเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ                   37,464.6
2. แผนงานเสริมสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงด้านสังคม        56,004.6
3. แผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น                        4,090.4
4. แผนงานรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง                               19,139.5
          รวมทั้งสิ้น                                           116,700.0
ที่มา : สศค.

โดยหากพิจารณาจากงบประมาณเพิ่มเติมกลางปีที่เกี่ยวข้องทางด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนการบริโภคและการลงทุนและขนาดความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

ด้านการบริโภคภาคเอกชน

ในส่วนการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนนั้น มาตรการ SP1 ได้มีการมุ่งเน้น (Target) ไปยังผู้บริโภคหลายกลุ่มโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น ผู้มีรายได้น้อย คนชรา และผู้ถูกเลิกจ้าง เป็นต้น ซึ่งการมุ่งเน้นมาตรการไปยังกลุ่มดังกล่าว นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือด้านสังคมต่อผู้ด้อยโอกาสแล้ว ยังได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วยกล่าวคือ ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะนำเงินที่ได้จากมาตรการ SP1 มาใช้ในการบริโภคทันที (หรือกล่าวอีกนัย หนึ่งคือ กลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนการบริโภคส่วนเพิ่ม (Marginal Propensity to Consume หรือ MPC) สูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ และมีแนวโน้มที่จะเก็บเงินน้อยกว่า) ซึ่งจะส่งผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ จากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของ สศค. พบว่ามาตรการ SP1 จะส่งผลโดยตรง (First-round Effect) ทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวขึ้นจากกรณีฐาน (ที่ไม่มีมาตรการ) ที่ร้อยละ 0.5 ของ GDP (Percentage Point)

ด้านการลงทุนภาคเอกชน

ในส่วนการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนนั้น มาตรการ SP1 ได้มีการมุ่งเน้น (Target) ไปยังโครงการขนาดเล็กที่มีการเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็ว เช่น โครงการเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจ เป็นต้น ซึ่งการมุ่งเน้นโครงการขนาดเล็กที่เบิกจ่ายได้รวดเร็วนี้ จะทำให้เป็นการกระตุ้นการลงทุนได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ทั้งนี้ จากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของ สศค. พบว่ามาตรการ SP1 จะส่งผลโดยตรง (First-round Effect) ทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวขึ้นจากกรณีฐาน (ที่ไม่มีมาตรการ) ที่ร้อยละ 0.08 ของ GDP (Percentage Point) ตามลำดับ

นอกจากจะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจในเบื้องต้น (First round Effect) แล้ว สศค. คาดว่า ผลจากการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนจะส่งผลสืบเนื่อง (Second-round Effect) ทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวได้จากกรณีฐานประมาณร้อยละ 1.0 ของ GDP

นอกจากนี้ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 รัฐบาลยังได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีชื่อเรียกว่า แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือ Stimulus Package 2 (SP2) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2553 — 2555 โดย SP2 มีวงเงินรวม 1,431,330 ล้านบาท แบ่งแยกได้เป็น โครงการที่รัฐบาลรับภาระการลงทุน วงเงินลงทุนรวม 1,110,168 ล้านบาท และโครงการที่รัฐวิสาหกิจรับภาระการลงทุนเอง มีวงเงินลงทุนรวม 321,162 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือฟื้นฟูสัดส่วนการลงทุนโดยรวมของประเทศให้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น (รายละเอียดสามารถอ่านได้จากบทความ เรื่องแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 : ก้าวย่างสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย) ซึ่งจะมีผลในช่วงปลายปี 2552 เป็นต้นไป

7. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

จากการวิเคราะห์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศ อันได้แก่ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางหดตัวมาโดยตลอด อันเนื่องมาจากปัจจัยลบทั้งภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งการที่ภาคเศรษฐกิจดังกล่าวมีขนาดใหญ่ถึงร้อยละ 68.5 ของGDP ประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ การหดตัวของภาคเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2552 หดตัวลงอย่างรุนแรงถึงประมาณร้อยละ -3.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -2.5 ถึง -3.5 ต่อ GDP)

ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทมากขื้นในการกระตุ้นการใช้จ่าย โดยรัฐบาลควรมุ่งเน้นการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนภูมิภาคมากขึ้น ในขณะที่หน่วยงานในส่วนภูมิภาค รวมถึงรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ จะต้องมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงเร่งดำเนินโครงการลงทุนต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนั้น ภาครัฐจำเป็นจะต้องเร่งผลักดันโครงการ SP2 ให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นการกำจัดจุดอ่อนของเศรษฐกิจไทย และทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถพลิกฟื้นขึ้นได้และขยายตัวได้อย่างอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ