Economic Indicators: This Week
รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มิ.ย. 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 143.4 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 46.9 พันล้านบาทหรือร้อยละ 48.6 ต่อปี และต่ำกว่าประมาณการ 39.0 พันล้านบาทหรือร้อยละ -21.4 ส่งผลให้รายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 เท่ากับ 1,021.1 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 145.0 พันล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าหมายในเดือน มิ.ย. 52 มีสาเหตุสำคัญจากมูลค่าการนำเข้าหดตัวอย่างมีนัยสำคัญส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าต่ำกว่าปีก่อนจำนวน5.1 พันล้านบาทหรือร้อยละ -26.4 ต่อปี และ 2.4 พันล้านบาทหรือร้อยละ -29.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ผลการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมสูงกว่าปีก่อน 26.1 พันล้านบาทและ 26.3 พันล้านบาท ตามลำดับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน มิ.ย. 52 หดตัวลดลงที่ร้อยละ -11.7 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.0 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนได้บ้าง ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีสัญญาณดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าเพิ่มขึ้น
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือนมิ.ย.52 หดตัวลงร้อยละ -14.8 ต่อปีต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -19.7 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาส 2 หดตัวร้อยละ -31.0 ต่อปี โดยการหดตัวของภาษีจากการทำ ธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เป็นผลมาจากภาคการลงทุนในต่างประเทศที่หดตัวลง ประกอบกับกำลังซื้อของประชาชนลดลงตามภาคการว่างงานที่เพิ่มขึ้นและประชาชนยังคงมีความกังวลต่อภาคเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเดือน มิ.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 65.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 64.3 ในเดือนก่อนและเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยได้รับปัจจัยบวกจากการที่พ.ร.ก. และพ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทผ่านรัฐสภา ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่พร้อมจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจ และ สามารถกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปความเสี่ยงเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009อาจจะเป็นปัจจัยลบต่อบริโภคและเศรษฐกิจไทย
การประชุม กนง. เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี จากการประเมินของ กนง. ที่ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่องและแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายการคลังส่งผลอย่างชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับ นโยบายการเงินในปัจจุบันยังคงผ่อนคลายซึ่งจะสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้สภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ยังคงในระดับต่ำ
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มิ.ย. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.0 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญโดยเฉพาะยางพาราที่สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการกรีดยาง และมันสำปะหลัง ที่เกษตรกรเพาะปลูกเพิ่มตามราคาที่ขยายตัวในระดับสูงเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ผลผลิตข้าวนาปรังลดลง เนื่องจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนที่ราคาข้าวขยายตัวในระดับสูงจึงจูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น ประกอบกับฝนที่ตกชุกในช่วงนี้ส่งผลให้ความชื้นสูงและทำให้ผลผลิตข้าวลดลง
อัตราการว่างงานเดือนพ.ค. 52 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงานรวม โดยมีจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 6.6 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 8.2 แสนคน เมื่อพิจารณาด้านการจ้างงานพบว่า การจ้างงานรวมเดือนพ.ค. 52 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปี โดยเป็นผลจากการจ้างงานในการจ้างงานภาคเกษตรและภาคบริการ (สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรมและภัตตาคาร) ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันหลายเดือน จากปัญหาการหดตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และปัญหาการหดตัวของประเทศคู่ค้า
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน มิ.ย.52 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ79.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 78.5 จากการคาดการณ์ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในยอดคำสั่งซื้อและยอดขายทั้งตลาดในและต่างประเทศจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากยอดการส่งออกของไทยในเดือน พ.ค. 52 ไปยังประเทศคู่ค้าบางประเทศ เช่น จีน อินเดียและตะวันออกกลางเริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับภาษีมูลค่าเพิ่มณ ราคาคงในเดือน มิ.ย. 52 หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น
Foreign Exchange Review
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงในช่วงสัปดาห์นี้ตามความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่มีเพิ่มมากขึ้นของนักลงทุนตามความเชื่อมั่นของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีเพิ่มมากขึ้นหลังจากการประกาศ (1) ตัวเลขผลประกอบการที่ดีกว่าที่คาดไว้ของบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งของสหรัฐอาทิเช่น Goldman Sach (ผลกำ ไรในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33 ต่อไตรมาส) บริษัท Intel บริษัท JP Morgan and Chase เป็นต้น (2) ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของสหรัฐโดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประจำปี 52 และ 53 ที่ปรับเพิ่มขึ้น และ (3) ตัวเลข GDP ประจำไตรมาสที่ 2 ของปี 52 ของเศรษฐกิจจีนที่ร้อยละ 7.9 ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขดีกว่าที่กว่าที่คาดไว้นั้น ได้มีส่วนสนับสนุนให้ตลาดลดความต้องการที่จะถือสินทรัพย์สกุลที่ปลอดภัย (safe haven) อาทิ ดอลลาร์สหรัฐและเยนลง และเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและสกุลเงินของยุโรปและภูมิภาคซึ่งมีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่า (High risk-high return) ส่งผลให้ค่าเงินสกุลของประเทศดังกล่าวแข็งค่าขึ้นตามลำดับ
ค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นตามปัจจัย risk appetite ข้างต้นซึ่งสอดคล้องกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเช่นกันนอกจากนั้น การที่ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) แสดงความเห็นในแง่บวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรมากขึ้นได้เป็นปัจจัยส่งผลให้ค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้น
ในขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากปัจจัยความต้องการของเงินสกุลเยนในฐานะสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยลดลง นอกจากนั้น ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองญี่ปุ่นเป็นปัจจัยลบกับค่าเงินเยนเช่นกัน
อัตราการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการแข็งค่าขึ้นในระดับที่น้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคหลายสกุลยกเว้นค่าเงินรูเปียห์อินโดนิเซียและหยวน บ่งชี้ว่าค่าเงินบาทอาจเริ่มมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอืนๆภูมิภาคในระยะต่อไปหลังจากที่แข็งค่าขึ้นมามากเทียบกับค่าเงินภูมิภาคอื่นๆแทบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินรูเปียห์เมื่อนับจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นจากปัจจัยความต้องการเสี่ยงที่มีเพิ่มมากขึ้นจากปัจจัย risk appetite ข้างต้น โดยเฉพาะค่าเงินวอนที่แข็งค่าขึ้นมาก ในขณะที่ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงจากผลกระจากของการก่อวินาศกรรมในกรุงจาการ์ต้า
ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.12 จากสัปดาห์ก่อนหน้าแต่แข็งค่าขึ้นในระดับที่น้อยกว่าการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาคเมื่อเทียบกับ ดอลลาร์สหรัฐ บ่งชี้ได้ถึงเสถียรภาพของค่าเงินที่มีเพิ่มมากขึ้นจากการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 5.4) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 5.4) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 3.2) สิงคโปร์ (ร้อยละ 3.1) วอนเกาหลี (ร้อยละ 2.2) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 2.5) หยวน (ร้อยละ 2.1) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 2.0)ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 2.0) ยูโร (ร้อยละ 1.1) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -9.1) และรูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -9.1) ตามลำดับ
Foreign Exchange and Reserves
ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 10 ก.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ130.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นมากใน Forward Obligation จำนวน 1.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากนักในตลาด Forward ในขณะที่เมื่อพิจารณาด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายจากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์พบว่า มีมูลค่าการขายสุทธิที่ประมาณ 0.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในตลาด FWD ของธปท.มีน้อยกว่าความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออกโดยรวม จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (3 ก.ค. 52) ร้อยละ -0.12 บาท จาก 34.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯเดือนมิ.ย.52 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (โดยถ้าไม่รวมสินค้ายานยนต์แล้ว จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า) เปรียบเทียบกับเดือนพ.ค.52 (ตัวเลขปรับปรุง) ที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและยอดขายสินค้ายานยนต์ขยายตัวถึงร้อยละ 3.7 และ 4.3 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงหดตัวที่ร้อยละ -4.1 จากเดือนก่อนหน้า และร้อยละ -0.3 ต่อปี แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการจับจ่ายทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงหดตัวอยู่
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาส 2 ปี 52 อยู่ที่ร้อยละ 7.9 ต่อปี ขยายตัวเร่งขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปีโดยในครึ่งปีแรก ภาคการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวที่ร้อยละ6.2 และ 3.8 ต่อปี ตามลำดับ ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนประกาศเมื่อปลายปี 51 และการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อภาคเอกชน
ตัวเลขเบื้องต้นของการขยายตัวทางเศรษฐกิจสิงคโปร์ ในไตรมาส 2 ปี 52 อยู่ที่ร้อยละ -3.7 ต่อปี หดตัวลดลงจากร้อยละ -10.1 ต่อปี หรือขยายตัวที่ร้อยละ 20.4 ต่อปีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq annualized) ทำให้สิงคโปร์พ้นจากภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว ผลจากการหดตัวที่ชะลอลงของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 30 ของ GDP ที่ร้อยละ -1.5 ต่อปี จากไตรมาส 1 ที่หดตัวร้อยละ -24.3 ต่อปี ในขณะที่ภาคบริการซึ่งมีสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของ GDP ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -5.1 ต่อปี
ตัวเลขเบื้องต้นของการขยายตัวทางเศรษฐกิจเวียดนาม ในไตรมาส 2 ปี 52 อยู่ที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี ขยายตัวเร่งขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจในภาคหลักโดยเฉพาะภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 และ 4.4 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากผลของนโยบายภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเดือนพ.ค. 52 ที่ผ่านมา
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโซนในเดือนพ.ค. 52 หดตัวลงร้อยละ -17.0 ต่อปี และปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือนที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณการฟื้นตัวที่สนับสนุนว่ากลุ่มประเทศยูโรโซนได้ผ่านจุดหดตัวต่ำสุดทางเศรษฐกิจมาแล้ว
มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าของจีนเดือนมิ.ย. 52 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 โดยมูลค่าการส่งออกหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ -21.4 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -26.4 ต่อปี โดยการส่งออกสินค้นที่ใช้แรงงานเข้มข้น มีอัตราการหดตัวที่ต่ำกว่าสินค้าที่ใช้ทุนเข้มข้น บ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่เน้นการสร้างงานเริ่มส่งผล ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 8 เดือนที่ร้อยละ -13.2 ต่อปี ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -25.2 ต่อปีทำให้ดุลการค้าจีนเดือนมิ.ย. 52 เกินดุลลดลงที่ 8.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุลที่ 13.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออกสินค้าของมาเลเซียเดือนพ.ค.52หดตัวร้อยละ -29.7 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ร้อยละ -26.3 ต่อปี โดยในแง่มิติสินค้า การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นสัดส่วนร้อยละ 41.4 ของการส่งออกในเดือนพ.ค. 52 หดตัวร้อยละ -28.0 ต่อปี ส่วนการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ อาเซียน จีน และสหรัฐฯ มีการหดตัวร้อยละ -26.0 -27.7 และ -37.1 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนพ.ค.52 หดตัวร้อยละ -27.8 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -22.4 ต่อปี และดุลการค้าเกินดุล 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ของญี่ปุ่นเดือน มิ.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 37.6 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 35.7 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จากระดับต่ำสุดที่ 26.2 ในเดือน ธ.ค. 51 โดยเป็นปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านการขยายตัวของรายได้ การจ้างงาน และความต้องการซื้อสินค้าคงทน
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลียเดือนก.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 109.4 ปรับตัวสูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 100.1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 19 เดือนแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจมากขึ้น
ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เหลือร้อยละ 4.00 จากร้อยละ 4.25 ผลจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดต่ำลง
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th