ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดประจำเดือนมิถุนายน 2552 และในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 — มิถุนายน 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 22, 2009 15:34 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังได้แถลงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือนมิถุนายน 2552 รัฐบาลเกินดุลเงินงบประมาณจำนวน 112,952 ล้านบาท เนื่องจากรายได้นำส่งคลังที่เพิ่มขึ้นมากจากภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่เหลื่อมมาจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีรัฐบาลยังคงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ภาคเอกชนยังอ่อนแอโดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณจำนวนรวมทั้งสิ้น 386,623 ล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 9,876 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวมทั้งสิ้น 376,747 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.3 ของ GDP สะท้อนถึงความสำเร็จของการใช้จ่ายของภาครัฐในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและลดการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ชดเชยการขาดดุลเงินสดด้วยการออกพันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน และตั๋วเงินคลัง รวมทั้งใช้เงินคงคลังบางส่วน ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เท่ากับ 215,343 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงและมั่นคงต่อฐานะการคลังของรัฐบาล โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ฐานะการคลังเดือนมิถุนายน 2552

1.1 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 252,450 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 44,370 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 21.3) โดยมีสาเหตุสำคัญจากการนำส่งรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจากผลกำไรสุทธิรอบสิ้นระยะเวลาบัญชีปี 2551 ที่เหลื่อมมาจากเดือนที่แล้วค่อนข้างมาก ประกอบกับการนำส่งรายได้จากภาษีน้ำมัน ฯ ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 1.2 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 139,498 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 3,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.6 ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ 110,789 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว รายจ่ายลงทุน 20,236 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว และมีการเบิกจ่ายรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อนอีกจำนวน 8,473 ล้านบาท (ตารางที่ 1) การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ รายจ่ายให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจำนวน 9,478 ล้านบาท และเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 8,948 ล้านบาท

ตารางที่ 1 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเดือนมิถุนายน 2552

หน่วย: ล้านบาท

                                  เดือนมิถุนายน                  เปรียบเทียบ
                                     2552          2551         จำนวน       ร้อยละ
        1. รายจ่ายปีปัจจุบัน             131,025       137,088      -6,063        -4.4
        1.1 รายจ่ายประจำ             110,789       107,295       3,494        3.3
        1.2 รายจ่ายลงทุน              20,236        29,793       -9,557       -32.1
   2. รายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน          8,473         6,110        2,363        38.7
      3. รายจ่ายรวม (1+2)            139,498       143,198      -3,700        -2.6

ที่มา: กรมบัญชีกลาง

1.3 จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้น ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนมิถุนายน 2552 เกินดุล 112,952 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 8,827 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจาการไถ่ถอนตั๋วเงินคลัง ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดจำนวน 104,125 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อการชดเชยการขาดดุลโดยออกพันธบัตรจำนวน 9,500 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) เกินดุลจำนวน 113,625 ล้านบาท (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2 ฐานะการคลังตามระบบกระแสเงินสดเดือนมิถุนายน 2552

หน่วย: ล้านบาท

                                    มิถุนายน                 เปรียบเทียบ
                                     2552       2551         จำนวน       ร้อยละ
            1. รายได้               252,450     208,080      44,370        21.3
            2. รายจ่าย              139,498     143,198      -3,700        -2.6
        3. ดุลเงินงบประมาณ           112,952     64,882       48,070        74.1
       4. ดุลเงินนอกงบประมาณ          -8,827     32,513       -41,340      -127.1
      5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4)         104,125     97,395        6,730        6.9
     6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล        9,500      19,000       -9,500        -50
      7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6)         113,625     116,395      -2,770        -2.4

ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

2. ฐานะการคลังในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 — มิถุนายน 2552)

2.1 รายได้นำส่งคลัง รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,027,344 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 104,516 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.2 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมหลักที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และอากรขาเข้า นอกจากนั้นการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจก็ลดลงเช่นเดียวกัน

2.2 รายจ่ายรัฐบาล การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,413,967 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 193,885 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.9 ประกอบด้วยรายจ่ายปีปัจจุบัน 1,308,327 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.4 คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 67.0 ของวงเงินงบประมาณ (1,951,700 ล้านบาท) และรายจ่ายปีก่อน 105,640 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 22.8 (ตารางที่ 3) รายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 1,308,327 ล้านบาท แบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำ 1,100,016 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.1 และรายจ่ายลงทุน 208,311 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.4

ตารางที่ 3 การเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552

หน่วย: ล้านบาท

                                 9 เดือนแรก                   เปรียบเทียบ
                                    2552         2551          จำนวน       ร้อยละ
        1. รายจ่ายปีปัจจุบัน          1,308,327     1,134,057      174,270       15.4
        1.1 รายจ่ายประจำ          1,100,016      916,050       183,966       20.1
        1.2 รายจ่ายลงทุน            208,311       218,007       -9,696        -4.4
   2. รายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน       105,640       86,025        19,615        22.8
      3. รายจ่ายรวม (1+2)         1,413,967     1,220,082      193,885       15.9

ที่มา: กรมบัญชีกลาง

2.3 ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ขาดดุล 376,747 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 386,623 ล้านบาท ส่วนดุลเงินนอกงบประมาณเกินดุลจำนวน 9,876 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน รวมทั้งเพื่อเป็นการประหยัดภาระดอกเบี้ย จึงได้ชดเชยการขาดดุลดังกล่าวด้วยการออกพันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน และตั๋วเงินคลังรวม 363,030 ล้านบาท และใช้เงินคงคลัง 13,717 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 มีจำนวน 215,343 ล้านบาท (ตารางที่ 4)

ตารางที่ 4 ฐานะการคลังตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2552

(ตุลาคม 2551 — มิถุนายน 2552)

หน่วย: ล้านบาท

                                   9 เดือนแรก                   เปรียบเทียบ
                                      2552         2551          จำนวน       ร้อยละ
            1. รายได้               1,027,344     1,131,860     -104,516       -9.2
            2. รายจ่าย              1,413,967     1,220,082      193,885       15.9
        3. ดุลเงินงบประมาณ            -386,623      -88,222      -298,401      338.2
       4. ดุลเงินนอกงบประมาณ           9,876        -17,582       27,458       -156.2
      5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4)          -376,747     -105,804      -270,943      256.1
     6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล        363,030       151,891       211,139       139
      7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6)          -13,717       46,087        -59,804      -129.8

ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 0-2273-9020 ต่อ 3558 และ 3555

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 91/2552 22 กรกฎาคม 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ