Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 ก.ค. 2552
SUMMARY:
1. มหาวิทยาลัยหอการค้าเผย ปัจจัยไข้หวัด2009กระทบเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง
2. การส่งออกสินค้าญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย. 52 หดตัวลงร้อยละ -35.7 ต่อปี
3. เอดีบีเผย เศรษฐกิจเอเชียอาจฟื้นเร็วกว่าที่คาด
HIGHLIGHT:
1. มหาวิทยาลัยหอการค้าเผยปัจจัยไข้หวัด 2009 กระทบเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง
- ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.ห้อการค้าไทย เปิดเผยว่า ความกังวลต่อสถานการณ์ไข้หวัดมีผลทางจิตวิทยาอันดับหนึ่ง ซึ่งส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แซงหน้าราคาน้ำมันและการเมืองที่เคยเป็นปัจจัยลบหลัก ส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายทั้งสินค้าจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือยลง ทั้งนี้ หากสถานการณ์ดำเนินไปถึงไตรมาสที่ 4 จะทำให้เม็ดเงินหายไป 3-6 หมื่นล้านบาท หากรวมไตรมาสที่ 3 และ 4 เม็ดเงินจะหายไปทั้งสิ้น 6 หมื่นถึง 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้GDP ลดลงอีกร้อยละ 0.5 - 1.0 ต่อปี ส่งผลให้ทั้งปี 52 หดตัวร้อยละ -4.0 ถึง -5.5 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า การแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายช่องทาง ทั้งด้านการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนคิดเป็นร้อยละ 15.4 ของ GDP และครอบคลุมด้านบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 27.3 ของ GDP นอกจากนี้ ยังส่งผลด้านลบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านดุลบัญชีเดินสะพัด และการจ้างงาน ทั้งนี้ หากทางการสามารถยุติสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ จะสามารถทำให้จำนวนนักท่องเทียวกลับมาเท่ากับ Q4 ปี 51 จะทำให้เม็ดเงินหายไป 7.2 หมื่นล้านบาทจากกรณีก่อนเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาด หรือหายไป1.53 แสนล้านบาทเมื่อเทียบปี 2551 ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตลดลงจากกรณีไม่เกิดการแพร่ระบาดร้อยละ -0.85 ต่อปีและการจ้างงานหายไปประมาณ 3 แสนคน
2. การส่งออกสินค้าญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย. 52 หดตัวลงร้อยละ -35.7 ต่อปี
- สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานตัวเลขการส่งออกสินค้าของประเทศญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย. 52 หดตัวลงร้อยละ -35.7 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน พ.ค. 52 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.1 (mom) ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ของสินค้าญี่ปุ่นจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศจีนปรับตัวดีขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ในขณะที่การนำเข้าในเดือน มิ.ย. หดตัวร้อยละ -41.9 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่มุ่งเน้นการบริโภคและลงทุนภายในประเทศเป็นหลักนั้น ได้ผลดีกับการส่งออกของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียไม่เฉพาะประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ยังมีประเทศไต้หวัน ฮ่องกง และไทยที่การส่งออกปรับ ตัวดีขึ้น ในส่วนของประเทศไทย พบว่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนปรับตัวดีขึ้นมากจากที่เคยหดตัวที่ร้อยละ -10.9 ต่อปี ในเดือน พ.ค. เป็นร้อยละ -3.6 ต่อปี ในเดือนมิ.ย. 52
3. เอดีบีเผย เศรษฐกิจเอเชียอาจฟื้นเร็วกว่าที่คาด
- ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจเอเชียอาจฟื้นเร็วกว่าที่คาด (V-shaped recovery) โดยเอดีบีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น เอเชียใต้ และเอเชียกลาง) อาจขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ในปี 2552 และมากกว่าร้อยละ 6 ในปี 2553 ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการเก่า ณ เดือนมี.ค.52 แต่ธนาคารกลางของประเทศในเอเชียยังคงต้องดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หากยังไม่มีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเอเชียที่อาจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดนั้น ได้รับอานิสงส์มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมุ่งเน้นการกระตุ้นการบริโภคและลงทุนภายใน ประเทศ ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว โดยจะเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองของจีนช่วงครึ่งแรกของปี 52 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี ถึงร้อยละ 33.6 ต่อปี ในขณะที่ยอดขายปลีกเดือนมิ.ย.52 ยังคงขยายตัวดีที่ร้อยละ 15.0 ต่อปี ทำให้จีนต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศคู่ค้าในเอเชียมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆในเอเชีย ที่ยังคงพึ่งพาการส่งออกสูง สามารถส่งออกไปยังจีนได้มากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจเอเชียรวมไปถึงจีน คือการที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ทำให้ตลาดสินค้าสำเร็จยังคงซบเซา ซึ่งจะส่งผลลบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกได้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th