สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ก่อตั้งขึ้นแห่งแรกของโลกและเป็นต้นแบบให้แก่สถาบันคุ้มครองเงินฝากของหลายประเทศทั่วโลกคือ สถาบันคุ้มครองเงินฝากของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือรู้จักกันในชื่อ Federal Deposit Insurance Corporation1: FDIC ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2476 หรือก่อนประเทศไทย 75 ปี โดยมีสาเหตุมาจากการถดถอยของเศรษฐกิจครั้งใหญ่หรือ Great Depression ทำให้ผู้คนขาดความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินงานของสถาบันการเงิน จึงพร้อมใจกันถอนเงินออกมา ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งไปสู่สถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่งเป็นเหตุให้สถาบันการเงินหลายพันแห่งต้องถูกปิดกิจการ ปัจจุบันมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากในประเทศต่างๆ แล้ว จำนวน 101 ประเทศ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้ง 8 ประเทศและอยู่ระหว่างเตรียมการ 10 ประเทศ (ข้อมูล จาก IADI ณ วันที่ 30 กันยายน 2551)
สำหรับประเทศไทยได้มีการนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 โดยการออกพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551
แนวคิดในการก่อตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากในประเทศไทยเริ่มจากปัญหาของระบบสถาบันการเงิน โดยในปี 2522 บริษัทเงินทุนหลายแห่งประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง และวิกฤตการณ์ทางการเงินในช่วงปี 2526 สถาบันการเงินมีปัญหาหนี้สูญ ขาดสภาพคล่อง และปัญหาความพอเพียงของเงินกองทุนส่งผลให้ผู้ฝากเงินขาดความไม่เชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน จึงได้มีการเสนอร่างกฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝากต่อรัฐสภา ในเวลาเดียวกันได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ขึ้นในปี 2528 เพื่อดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน
ในช่วงปี 2530 - 2539 เศรษฐกิจของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ภาคเอกชนมีความต้องการเงินทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องเพิ่มการกู้ยืมจากต่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดทำแผนพัฒนาระบบการเงิน (Financial System Development Plan) ในปี 2533 ซึ่งรวมถึงการใช้นโยบายเปิดเสรีทางการเงิน แต่ขณะนั้นประเทศไทยยังขาดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและติดตามฐานะของสถาบันการเงินที่ดี จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 หรือที่เรียกกันว่า “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” ดังนั้น รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีจึงได้ประกาศรับประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ในสถาบันการเงินอย่างเต็มจำนวน (Blanket Guarantee) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2540 เป็นการชั่วคราวเพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินกลับคืนมาจากความตื่นตระหนกของผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการคุ้มครองเงินฝาก โดยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินทำ หน้าที่เปรียบเสมือนสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (Implicit Guarantee) โดยมีข้อเสนอแนะจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศให้หน่วยงานที่รับประกันเงินฝากควรเก็บเงินประกันในอัตราร้อยละ 0.4 ของยอดเงินฝากรวมของแต่ละสถาบันการเงิน และควรตั้งเป้าหมายของเงินกองทุนไว้เพื่อให้เพียงพอที่จะรองรับธนาคารขนาดกลางที่ประสบปัญหาอย่างน้อย 2 แห่ง หรือธนาคารขนาดใหญ่ 1 แห่ง
ภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 กระทรวงการคลังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะนำระบบคุ้มครองเงินฝากแบบชัดเจน (Explicit Guarantee) มาใช้กับประเทศไทย จึงได้มีการศึกษาและยกร่างกฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากตามที่กระทรวงการคลังเสนอเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551
ระบบคุ้มครองเงินฝากเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงินเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งเป็นกลไกในการดูแลผู้ฝากเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฝากเงินรายย่อยในกรณีที่สถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการ
3.1 วัตถุประสงค์และผู้เกี่ยวข้องของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
สถาบันคุ้มครองเงินฝากตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการ 1) คุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงิน 2) เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และ 3) ดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ระบบคุ้มครองเงินฝากเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญของตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน (Financial Safety Net) ของประเทศ ซึ่งหน่วยงานและบุคคลต่างๆที่อยู่ในตาข่ายความมั่นคงทางการเงินนี้มีหน้าที่ดูแลระบบสถาบันการเงินอย่างครบวงจร กล่าวคือ สถาบันการเงินทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่กำกับ ตรวจสอบสถาบันการเงินรวมทั้งแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินและเป็นแหล่งให้กู้แหล่งสุดท้าย (Lender of Last Resort) กระทรวงการคลังดูแลในเชิงนโยบายและเชิงมหภาค รวมทั้งการให้และเพิกถอนใบอนุญาตสถาบันการเงิน ในขณะที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทำหน้าที่ดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตนอกจากนี้แล้วสถาบันคุ้มครองเงินฝากยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับธนาคารแห่งประเทศไทยหรือหน่วยงานอื่นที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อประโยชน์ในการติดตามฐานะและการดำเนินงานของสถาบันการเงิน
ระบบคุ้มครองเงินฝากได้ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงินเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และชำระบัญชีสถาบันการเงินแต่โดยนัยแล้วการจะทำให้วัตถุประสงค์ของระบบสถาบันคุ้มครองเงินฝากลุล่วงไปได้คือ การสร้างวินัยทางการเงิน (Financial Discipline) ให้ผู้ฝากเงินและสถาบันการเงิน เพราะหากผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินมีวินัยทางการเงิน ระบบสถาบันการเงินก็จะมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพตามมา
3.2 ประโยชน์ของระบบคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดวงเงิน
การจำกัดวงเงินจ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงิน (Limited Guarantee) ในกรณีที่สถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการนั้นถือว่าเป็นหัวใจหลักของระบบคุ้มครองเงินฝาก เพราะการให้ความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน (Blanket Guarantee) อาจจะเป็นการสร้างปัญหาพฤติกรรมการชักนำความเสี่ยง(Moral Hazard) กล่าวคือ การให้ความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนจะทำให้ผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินไม่ระมัดระวังในการฝากเงินหรือให้สินเชื่อ เนื่องจากแน่ใจว่ามีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ฝากเงิน ตรงกันข้ามหากจำกัดวงเงินจ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงิน ผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินจะใช้ความรอบคอบในการฝากเงินหรือให้สินเชื่อมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเกิดพฤติกรรมการชักนำความเสี่ยง (Moral Hazard) ได้
ภายใต้ระบบการคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดวงเงินแทนการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนจะช่วยเพิ่มวินัยทางการเงินทั้งของผู้ฝากเงินและสถาบันการเงิน โดยผู้ฝากเงินจะใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาสถาบันการเงินที่จะฝากเงิน ซึ่งจะพิจารณาถึงความเข้มแข็งของสถาบันการเงินเป็นหลักแทนการใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเป็นสิ่งจูงใจ อย่างไรก็ตาม ภายใต้บริบทดังกล่าวมิได้หมายความว่าสถาบันการเงินขนาดเล็กจะไม่เข้มแข็ง เพราะการให้ความคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะช่วยลดความเสี่ยงในการฝากเงินของสถาบันการเงินขนาดเล็ก
ดังนั้น การแข่งขันของสถาบันการเงินภายใต้ระบบคุ้มครองเงินฝากจะเป็นการแข่งขันด้านบริการ และประเภทของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองตลอดเวลาเพื่อรักษาฐานลูกค้าและดึงดูดลูกค้า นอกจากนี้สถาบันการเงินจะดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อเพื่อป้องกันปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) ซึ่งจะทำให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นสินเชื่อคุณภาพ(Quality Loan)
การจำกัดวงเงินจ่ายคืนผู้ฝากเงินนอกจากจะช่วยลดปัญหา Moral Hazard และเพิ่มวินัยทางการเงินแล้ว ภายใต้การให้ความคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดวงเงิน จะทำให้ผู้ฝากเงินรายใหญ่ที่มีความต้องการผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินกับสถาบันการเงิน ต้องมองหาทางเลือกในการหาผลตอบแทนอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินไปยังตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้มากขึ้นการกระทำเช่นนี้จะช่วยให้ระบบตลาดด้านการเงิน อันได้แก่ การให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้มีความสมดุลมากขึ้น
3.3 การกำหนดวงเงินจ่ายคืนของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
บทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติไว้ว่า ปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะให้ความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนและจะทยอยลดการจ่ายคืนเงินผู้ฝากเงินเหลือ 1 ล้านบาทในปีที่ 5
การทยอยลดวงเงินจ่ายคืนผู้ฝากเงินลงในระยะเวลา 4 ปีแรก มีเจตนาเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฝากเงินมีช่วงระยะเวลาในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ลดการตื่นตระหนก และมีเวลาทำความเข้าใจกับระบบคุ้มครองเงินฝาก ในขณะเดียวกันสถาบันการเงินจะมีเวลาในการเตรียมตัวเพื่อรองรับระบบใหม่อย่างน้อยในช่วง 2 ปีแรก
จากการศึกษาพบว่าให้การคุ้มครองแบบจำกัดวงเงิน 1 ล้านบาทเป็นจำนวนเงินที่มีความเหมาะสม เนื่องจากวงเงินคุ้มครองจะคุ้มครองผู้ฝากเงินได้ถึงร้อยละ 98.77 ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งระบบซึ่งครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยทั้งหมดและเป็นผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ของระบบ หรือประมาณ 3.57 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per Capita) หรือประมาณ 280,000 บาทต่อหัว
ระบบคุ้มครองเงินฝากเป็นกลไกหนึ่งเพื่อใช้รักษาระดับความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินต่อระบบสถาบันการเงิน สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ลุกลามสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินโดยการขาดหลักเกณฑ์และการกำกับดูแลที่เข้มงวดทำให้สถาบันการเงินที่ดำเนินธุรกรรมทางการเงินดังกล่าวประสบปัญหาด้านการเงินจนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ทางการเงินดังกล่าวยังส่งผลต่อการลดความเชื่อมั่นระหว่างสถาบันการเงินกันเองด้วย
หนึ่งในมาตรการที่ภาครัฐของหลายๆ ประเทศนำมาใช้ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินเพื่อช่วยรักษาระดับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบสถาบันการเงิน คือ การเพิ่มวงเงินจ่ายคืนผู้ฝากเงินหรือคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน (Blanket Guarantee) ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะแตกต่างจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐโดยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินซึ่งมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินโดยตรง เนื่องจากภาครัฐตระหนักดีว่าการรักษาระดับความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินรายย่อยถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินที่มีต่อสถาบันการเงินมีแนวโน้มลดลง จะส่งผลให้ผู้ฝากเงินเริ่มถอนเงินออกจากสถาบันการเงิน จนอาจเกิดปัญหาBank run และอาจทำให้วิกฤตการณ์ดังกล่าวเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
ประเทศแรกที่มีการนำมาตรการขยายความคุ้มครองเงินฝากมาใช้คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ประกาศเพิ่มวงเงินจ่ายคืนผู้ฝากเงินจากเดิม 1 แสนเหรียญสหรัฐ เป็น 2.5 แสนเหรียญสหรัฐต่อมาหลายประเทศได้ทยอยประกาศเพิ่มวงเงินจ่ายคืนผู้ฝากเงินหรือคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนเพื่อเตรียมรับกับวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยมีตัวอย่างประเทศที่มีการเพิ่มวงเงินจ่ายคืนผู้ฝากเงินตามตารางดังนี้
ตัวอย่างประเทศที่มีการเพิ่มวงเงินจ่ายคืนผู้ฝากเงิน
ประเทศ วงเงินจ่ายคืนเดิม วงเงินจ่ายคืนที่กำหนดใหม่ วันเริ่มใช้บังคับ Iceland ยูโร 20,000 เต็มจำนวน 30 ก.ย.51 United Stated $ 100,000 $ 250,000 3 ต.ค.51-31 ธ.ค.56 Denmark DKK 300,000 เต็มจำนวน 5 ต.ค.51—5 ต.ค.53 Austria ยูโร 20,000 เต็มจำนวน 6 ต.ค.51 Sweden SEK 250,000 SEK 500,000 6 ต.ค.51 England ปอนด์ 33,000 ปอนด์ 50,000 7 ต.ค.51 Germany ยูโร 20,000 เต็มจำนวน 7 ต.ค.51 Taiwan TWD 1,500,000 เต็มจำนวน 7 ต.ค.51-31 ธ.ค.52 Australia AUD 20,000 เต็มจำนวน 12 ต.ค.51—12 ต.ค.54 New Zealand เดิมไม่มีระบบ คุ้มครองเงินฝาก เต็มจำนวน 12 ต.ค.51—12 ต.ค.54 Philippines PHP 250,000 PHP 1,000,000 22 ต.ค.51 Indonesia IDR 100 Million IDR 2 Billion 13 ต.ค.51 Greek ยูโร 20,000 ยูโร 100,000 13 ต.ค.51 Hungary 6 million forints 13 million forints 13 ต.ค.51 Czech Republic ยูโร 25,000 ยูโร 50,000 14 ต.ค.51 Hong Kong HKD 100,000 เต็มจำนวน 14 ต.ค.51-31 ธ.ค.53 Singapore SGD 20,000 เต็มจำนวน 16 ต.ค.51-31 ธ.ค.53 ข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2552 รวบรวมโดย: สำนักงานเศรษฐกิจการคลังและสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
ตารางที่ 4 แสดงให้เห็นถึงการใช้กลไกของระบบคุ้มครองเงินฝากในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินในช่วงวิกฤต ซึ่งสังเกตได้ว่าเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งมีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศแถบยุโรป หรือแถบเอเชียจะส่งผลให้ประเทศใกล้เคียงต้องประกาศใช้มาตรการแบบเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อยับยั้งการเคลื่อนย้ายเงินฝากหรือเงินทุนไปยังประเทศที่ให้ความคุ้มครองสูงกว่า
สำหรับประเทศไทยแม้จะมีระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เข้มแข็งขึ้น แต่การที่เศรษฐกิจโลกมีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด จึงคาดการณ์ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อาจส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินของประเทศไทย ประเทศไทยจึงต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่อาจจะกระทบต่อจิตวิทยาความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินในระบบสถาบันการเงินไทยและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้องกันการเคลื่อนย้ายเงินตราต่างประเทศได้ในระดับหนึ่ง
ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ. .... เพื่อขยายวงเงินในการคุ้มครองเงินฝากในปีที่ 2 และปีที่ 3 เต็มจำนวนตามปรากฏในบัญชีของผู้ฝากเงิน โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2552 โดยตารางข้างล่างนี้แสดงการเปรียบเทียบระหว่างการให้ความคุ้มครองเงินฝากตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ. 2552 ที่กระทรวงการคลังเสนอ
การขยายระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวนในปีที่ 2 และปีที่ 3 (11 สิงหาคม 2552 - 10 สิงหาคม 2554) จะคุ้มครองผู้ฝากเงินเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 0.02 แต่สามารถคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.11 ของเงินฝากทั้งระบบ นอกจากนี้การขยายระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวนไปอีก 2 ปี จะทำให้ผู้ฝากเงินรายใหญ่หรือผู้ฝากเงินรายสถาบัน เช่น บริษัทมหาชน มูลนิธิ องค์กรการกุศล กองทุนบำเหน็จบำนาญต่างๆ สหกรณ์ประเภทต่างๆ เป็นต้น ได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้รับความคุ้มครองแบบจำกัดจำนวนตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งจะส่งผลดีทางจิตวิทยาต่อระบบการเงินของประเทศและจะช่วยรักษาระดับ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนิติบุคคลที่มีเงินฝากในบัญชีเกินกว่าที่กฎหมายเดิมกำหนดไม่ให้ตื่นตระหนกถอนเงินฝากออกไปยังประเทศที่ให้การคุ้มครองที่สูงกว่าด้วย
การนำระบบคุ้มครองเงินฝากมาใช้โดยการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นในประเทศไทยเพื่อต้องการสร้างวินัยทางการเงิน (Financial Discipline) ให้เกิดขึ้นทั้งด้านของผู้ฝากเงินและสถาบันการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้สถาบันการเงินต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ พร้อมกันนั้นระบบคุ้มครองเงินฝากก็มีกลไกที่ช่วยลดปัญหาพฤติกรรมชักนำความเสี่ยงและกลไกในการรักษาระดับความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินต่อระบบสถาบันการเงินโดยการจำกัดวงเงิน จ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงินในกรณีที่สถาบันการเงินถูกปิดกิจการ นอกจากนี้แล้ว กลไกของระบบคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดวงเงินจ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงิน ยังมีส่วนช่วยให้สัดส่วนการพึ่งพิงเงินจากสถาบันการเงินตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทยมีความสมดุลมากขึ้น
ดังนั้น ระบบคุ้มครองเงินฝากถือได้ว่าเป็นมาตรการป้องกันมากกว่าที่จะเป็นมาตรการแก้ไข ภายใต้กรอบแนวคิดนี้โอกาสที่สถาบันการเงินจะถูกสั่งปิดกิจการก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งระบบคุ้มครองเงินฝากจะเป็นกลไกหนึ่งของการพัฒนาประสิทธิภาพให้กับระบบสถาบันการเงิน อันส่งผลให้ระบบสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพมากขึ้น
สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th