รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 28, 2009 10:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 ก.ค. 2552

SUMMARY:

1. กระทรวงการคลังสั่งธสน.ปล่อยกู้รับโครงการไทยเข้มแข็ง

2. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. 52 ส่งสัญญาณฟื้น หลังติดลบลดลงร้อยละ 6.76

3. ประธานเฟดมั่นใจถึงประสิทธิภาพของมาตรการทางการคลังและการเงิน

HIGHLIGHT:
1. กระทรวงการคลังสั่งธสน.ปล่อยกู้รับโครงการไทยเข้มแข็ง
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) โดยต้องการให้ธสน.ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า นอกจากนี้ได้สั่งการให้เพิ่มบทบาทในการเข้าไปสนับสนุนโครงการลงทุนภายใต้แผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจีสติกส์ และพลังงานทดแทน เพื่อพัฒนาการส่งออกในระยะยาว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคเอกชนของไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะผู้ส่งออกและผู้นำเข้าต่างขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจเนื่องจากยอดขายที่หดตัวลงอย่างรวดเร็วและธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม ดังนั้นรัฐบาลได้เร่งรัดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เข้าเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ของ SFI ตั้งแต่เดือนก.พ.-เม.ย.อยู่ที่ร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่มีปริมาณการให้สินเชื่อหดตัวถึงร้อยละ 5.4 บ่งชี้ว่านโยบายสินเชื่อเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตให้กับภาคเอกชนได้
2. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. 52 ส่งสัญญาณฟื้น หลังติดลบลดลงร้อยละ 6.76
  • ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยว่า ขณะนี้ภาพรวมอุตสาหกรรมไทยถือว่ามีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน แม้ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังติดลบ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 170.4 หรือหดตัวร้อยละ -6.8 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เริ่มหดตัวน้อยลงจากเดือน พ.ค. 52 ที่หดตัวร้อยละ -12.4 ต่อปี ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี และคาดว่าภายในสิ้นปีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะสามารถกลับมาเป็นบวกได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นมาจากการส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย. 52 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -6.7 ต่อปี นั้น หากพิจารณาเป็นรายเดือนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.7(%mom) (ปรับปัจจัยฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจาก 1) กลุ่ม Hard disk drive 2) กลุ่มอาหารทะเลแปรรูป และ 3) กลุ่มการผลิตผงซักฟอกและสบู่ เป็นต้น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย. 52 เริ่มขยายตัวที่ร้อยละ 3.2(%mom)
3. ประธานเฟดมั่นใจถึงประสิทธิภาพของมาตรการทางการคลังและการเงิน
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวปกป้องการใช้มาตรการทางการคลังของรัฐบาลสหรัฐเพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินและกิจการขนาดใหญ่นั้น ถือเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง (The Great Depression) ครั้งที่ 2 ทั้งนี้ หากปล่อยให้บริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสถาบันการเงินล้มละลายจะมีผลกระทบรุนแรงต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ทางการสหรัฐได้พยายามที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กเพื่อเสริมสภาพคล่อง ทั้งนี้ คาดว่าการใช้มาตรการทางการคลังและการเงินที่ผ่านมาจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มขยายตัวในระดับที่เหมาะสมหรือร้อยละ 1 ในช่วงครึ่งปีหลัง 52 และไม่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในระดับที่สูงเกินไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การใช้มาตรการคลังและการเงินของทางการสหรัฐที่ผ่านมานับได้ว่ามีความจำเป็น เนื่องจากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่นการใช้จ่ายเอกชนและการส่งออกยังคงหดตัว และเผชิญกับกับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) อย่างไรก็ดี ผลกระทบการใช้มาตรการดังกล่าวนั้นอาจมีผลกระทบต่อฐานะการคลังและสภาพคล่องในระบบการเงิน รวมถึงอาจนำไปสู่ความคาดหวังเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ในอนาคตหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ดังนั้น รัฐบาลควรจะวางแผนอย่างชัดเจนและรัดกุมที่จะลดการขาดดุลงบประมาณ เพื่อสร้างวินัยทางการคลังขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ธนาคารกลางควรส่งสัญญาณว่าพร้อมจะดูดซับสภาพคล่องกลับหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เพื่อลด Inflation Expectation ในอนาคต

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ