Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 ก.ค. 2552
1. ครม. อนุมัติยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตอัญมณี
2. ฐานะการคลังของจีนอาจมีความเปราะบางมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิต (BSI) ของเกาหลีใต้ขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน
HIGHLIGHT:
- อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อัตราร้อยละ 7 สำหรับการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตอัญมณีและเครื่องประดับไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2554 แต่ยังคงเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ของมูลค่าการนำเข้าจากผู้ซื้อ ซึ่งแม้รัฐบาลจะยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าว แต่คาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากการยกเว้นภาษี VAT จะช่วยบรรเทาปัญหาการลักลอบนำวัตถุดิบอัญมณีจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยขยายฐานภาษีในระบบเพิ่มขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกอัญมณีของไทยในเดือน มิ.ย. 52 มีมูลค่า 473.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -40 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือนพ.ค. 52 ที่ร้อยละ -11.42 โดยตลาดส่งออกสำคัญของสินค้าอัญมณีไทยได้แก่ ตลาดในทวีปยุโรป ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าดังกล่าว จะเป็นปัจจัยในการลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ และจะส่งผลให้สินค้าอัญมณีของไทยมีศักยภาพทางการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น
- สำนักข่าว CNN รายงานว่า สถานภาพดุลการคลังของรัฐบาลจีนนั้นอาจมีความเปราะบางมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เนื่องมาจากตัวเลขหนี้ที่ทางการจีนประกาศออกมานั้นไม่ได้นับรวมหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นและหนี้จากสินทรัพย์เสี่ยงที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินหลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินโลก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณานับรวมตัวเลขหนี้ 2 รายการนี้เข้าไปแล้ว จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (Public debt-to-GDP ratio) ณ ช่วงสิ้นปี 51 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ของ GDP จากระดับร้อยละ 17.7 ของ GDP ที่ประกาศโดยทางการ โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายรวมถึงรัฐบาลจีนมีความกังวลในเรื่องรายจ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในครึ่งหลังของปี 2009 สืบเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวต่างๆ เช่น โครงการลงทุนสาธารณูปโภค และการศึกษา ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลมีความคล่องตัวน้อยลงในการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต
- สศค. วิเคราะห์ว่ารัฐบาลสามารถหารายได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการออกพันธบัตรในประเทศได้ เนื่องจากจีนมีสภาพคล่องที่สูง สะท้อนได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้จีนสามารถทำการกู้เงินภายในประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลการคลังได้อย่างไรก็ดี แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ ช่วงสิ้นปี 51 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ของ GDP ตามที่ CNN กล่าวอ้าง แต่ก็ยังอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานนานาชาติที่วัดจากมาตรฐาน Maastricht Treaty ของประเทศในยูโรโซน ซึ่งกำหนดที่ระดับไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP ทั้งนี้หากเทียบกับประเทศในยูโรโซนเอง เช่น อิตาลี ที่อยู่ในระดับร้อยละ 115.5 และ เยอรมัน ที่ระดับร้อยละ 78.4 ของการคาดการณ์ในปี 52 นั้น สถานภาพดุลการคลังของรัฐบาลจีนยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศตัวเลขของดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิต (BSI) เดือนก.ค. 52 ที่ระดับ 85 ซึ่งมากกว่าค่าคาดการณ์ที่เคยประกาศไว้ที่ 82 ในเดือน มิ.ย. 52 นอกจากนี้ยังได้ประเมินตัวเลขล่วงหน้าของเดือนสิงหาคมว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 86 โดยให้เหตุผลว่ามาจากตัวเลขการเติบโตของ GDP ที่สูงเหนือความคาดหมาย โดยไตรมาสที่ 2 ปี 52 หดตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากร้อยละ -4.2 ต่อปี ในไตรมาสก่อน หรือร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เร่งขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
- สศค. วิเคราะห์ว่าตัวเลขการเติบโตของจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเหนือความคาดหมายมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ต่างๆเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงอย่างชัดเจนโดยดูได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเดือนก.ค. ที่ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 109 ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 7 ปี นอกจากนี้การที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าใหญ่อย่างจีนขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องยังมีส่วนต่อความเชื่อมั่นผู้ผลิตเกาหลีใต้ด้วยจากภาคการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจีนนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 9.9 ของการนำเข้าทั้งหมด
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th