รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 31, 2009 11:17 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 ก.ค. 2552

SUMMARY:

1. รมว. คลังรับปากเอกชนพร้อมพิจารณายกเว้นภาษีดอกเบี้ยหุ้นกู้

2. การบินไทยเผย 5 เดือน ลดคอสท์ได้ประมาณ 8,100 ล้านบาท

3. ส่งออกฮ่องกงเริ่มฟื้นตัว หดตัวเพียงร้อยละ -5.4 ต่อปี

HIGHLIGHT:
1. รมว. คลังรับปากเอกชนพร้อมพิจารณายกเว้นภาษีดอกเบี้ยหุ้นกู้
  • นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับผู้ประกอบ การภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ว่าพร้อมพิจารณายกเว้นภาษีดอกเบี้ยหุ้นกู้ ที่ภาค เอกชนระดมทุนจากนักลงทุน เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนในลักษณะเดียวกับที่รัฐบาลยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท โดยแนวทางการลดภาษีดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้เอกชนจะเป็นการลดต้นทุนการระดมทุนของผู้ประกอบการในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้เป็นอย่างดี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากผู้ประกอบการภาคเอกชนได้รับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยหุ้นกู้จะส่งผลให้ภาคเอกชนสามารถออกหุ้นกู้ได้มากขึ้นเนื่องจากการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยหุ้นกู้จะเป็นการจูงใจให้ผู้ซื้อหุ้นกู้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันภาษีดอกเบี้ยหุ้นกู้อยู่ที่ร้อยละ 15
2. การบินไทยเผย 5 เดือน ลดคอสท์ได้ประมาณ 8,100 ล้านบาท
  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำแผนฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายเป็นส่วนหนึ่งในแผนฟื้นฟูธุรกิจระยะเร่งด่วนของบริษัทฯ กำหนดเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงการบิน ของปี 2552 ลงจำนวน 10,840 ล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายของปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 (มกราคม — พฤษภาคม) สามารถลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวลงประมาณ 8,100 ล้านบาท โดยบริษัทจะต้องดำเนินการตามมาตรการลดค่าใช้จ่ายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทฯ มีการบริหารจัดการด้านต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และทำให้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และราคาน้ำมันที่คาดว่าจะสูงขึ้นในอนาคต ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการเดินทางของผู้โดยสารโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวและนักลงทุน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 2 ของปี 52 หดตัวที่ร้อยละ -16.1 ต่อปี จะส่งผลด้านลบต่อการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม หากการบินไทยสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะลดภาระของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อที่จะนำเม็ดเงินไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
3. ส่งออกฮ่องกงเริ่มฟื้นตัว หดตัวเพียงร้อยละ -5.4 ต่อปี
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฮ่องกง เปิดเผยตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าของฮ่องกงเดือนมิ.ย.52 ที่ หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ -5.4 ต่อปี ชะลอลงมากจากร้อยละ -14.5 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยในแง่มิติสินค้า การส่งออกเครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ในสำนักงานขยายตัวถึงร้อยละ 16.0 และ 27.1 ต่อปี ตามลำดับ ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังเอเชียขยายตัวถึงร้อยละ 3.1 ต่อปี โดยการส่งออกไปยังจีนขยายตัวถึงร้อยละ 9.3 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ยังคงหดตัวถึงร้อยละ -23.7 และร้อยละ -13.0 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเดือนมิ.ย.52 หดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -19.2 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าฮ่องกงเดือน มิ.ย. 52 ขาดดุลที่ -16.5 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การชะลอลงของการหดตัวของการส่งออกและนำเข้าสินค้าของฮ่องกง ได้รับอานิสงส์จากการส่งออกไปยังจีนเป็นหลัก เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าหลักอันดับหนึ่งของฮ่องกง (สัดส่วนการส่งออกไปจีนร้อยละ 48.5) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนได้ช่วยฉุดการส่งออกของฮ่องกง จากที่หดตัวร้อยละ -23.0 ต่อปีในเดือนก.พ.52 กลับมามีแนวโน้มฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะสินค้าในหมวดเครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกของฮ่องกงยังมีความเสี่ยงจากสัญญาณการฟื้นตัวที่ไม่แน่นอนในประเทศคู่ค้าอันดับสองและสาม (สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ) ที่อาจชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากฮ่องกง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ