รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 3, 2009 12:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 ส.ค. 2552

SUMMARY:

1. จี้คลายคุมไหลออกแก้บาทแข็ง

2. เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณของการฟื้นตัว ในช่วงครึ่งปีหลังและขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

3. เศรษฐกิจโลกส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นยาก รัฐควรลงทุนในระยะยาว

HIGHLIGHT:
1. จี้คลายคุมไหลออกแก้บาทแข็ง
  • รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แสดงความคิดเห็นเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นขณะนี้ว่า ค่าเงินบาทไม่ควรแข็งหรืออ่อน ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เนื่องจากการลงทุนในประเทศมีน้อย จึงควรเร่งส่งเสริมให้กลับสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้ เห็นว่าการแก้ไขต้องมาจากหลายมาตรการพร้อมกัน เช่น เร่งให้ภาคธุรกิจสั่งซื่อสินค้าจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ผลิต โดยการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบและเครื่องจักรในระยะสั้นเพื่อจูงใจให้นักธุรกิจลงทุนให้มากขึ้น อีกทั้งยังเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ทบทวนมาตรการควบคุมเงินไหลออก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 2552 ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯจะยังคงเผชิญแรงกดดันให้แข็งค่าขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะมีทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนยังคงถอนการลงทุนจากสินทรัพย์สกุลเงินสหรัฐ และเข้าลงทุนในสกุลเอเชีย 2. การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากดุลการค้าไทยที่ยังคงเกินดุลต่อเนื่อง โดยแม้ว่าการส่งออกของไทยหดตัวลงตามปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง แต่การที่เศรษฐกิจภายในประเทศหดตัวลงรุนแรงกว่า ทำให้การบริโภคและการลงทุนในประเทศหดตัวลง ส่งผลให้การนำเข้าหดตัวลงมากกว่า
2. เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณของการฟื้นตัว ในช่วงครึ่งปีหลัง และขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
  • นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกฯ อภิสิทธิ์ (2 ส.ค.) ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาสภาวะเศรษฐกิจ ของรัฐบาล ในช่วงที่ผ่านมาว่า จากการสำรวจความคิดเห็น ในแวดวงอุตสาหกรรม และนักลงทุน ทั้ง 3 แห่ง คือ นักธุรกิจหอการค้าญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ของไทยพบว่า ความเชื่อมั่นการประกอบการครึ่งปีหลัง เปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกพบว่า มีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น สอดคล้องกับการประมาณการณ์ และการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจของทางการในแต่ละไตรมาส พบว่าเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นลำดับ ในส่วนของการสำรวจ ในแวดวงสภาอุตสาหกรรมไทยพบว่าตัวเลขระดับความเชื่อมั่น และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม เริ่มปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายนว่าสูงสุดในรอบ 17 เดือน โดยมีปริมาณการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวที่ดีขึ้น สะท้อนได้จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานโดยเฉพาะภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. หดตัวที่ร้อยละ -6.8 ต่อปี ในขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวถึงร้อยละ 7.7 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่กลับมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดภูมิภาค เช่น จีน และอินเดีย อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งรัดการเบิกจ่าย จากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ในวงเงิน 1.4 พันล้านบาท และเร่งผลักดันโครงการลงทุนเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ฟื้นความเชื่อมั่น และทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างยั่งยืน
3. เศรษฐกิจโลกส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นยาก รัฐควรลงทุนในระยะยาว
  • ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้การค้าโลกที่เป็นเครื่องยนต์เดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยส่งผลให้ GDP ไตรมาส 1 ปี 52 หดตัวที่ร้อยละ -11.4 ต่อปี ซึ่งเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกที่ภาคเอกชนได้เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางธุรกิจ การใช้กำลังการผลิตลดลง ทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปใช้จ่ายทดแทน ซึ่งกรณีของประเทศไทยคือ ทำผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ที่คาดว่าเมื่อรวมกับงบประมาณขาดดุลปกติแล้ว จะทำให้ขาดดุลที่ร้อยละ 7 ถึง 8 ของ GDP
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 52 เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานของภาคการผลิต อุตสหกรรมที่หดดัวน้อยลงโดยในไตรมาส 2 ปี 52 หดตัวร้อยละ -10.7 ต่อปี หดตัวลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 52 ที่หดตัวร้อยละ -22.0 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่กลับมาเพิ่มขึ้นในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นในบางหมวดสินค้าจากการหดตัวที่ชะลอลง ทั้งนี้ สศค.คาดว่า มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ของภาครัฐ จะส่งผลให้ GDP ในปี 52 หดตัวลงที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -3.5 ถึง -2.5 ต่อปี ประมาณ ณ เดือน มิ.ย.52

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ