รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 4, 2009 12:02 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 ส.ค. 2552

SUMMARY:

1. สินเชื่อส่วนบุคคลครึ่งปี 52 ยังคงชะลอตัว

2. ก.พาณิชย์เผยราคาดัชนีผู้บริโภคทั่วไปเดือนก.ค.52 ลดลงร้อยละ -4.4 ต่อปี

3. ภาคอุตสาหกรรมจีนขยายตัวท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

HIGHLIGHT:
1. สินเชื่อส่วนบุคคลครึ่งปี 52 ยังคงชะลอตัว
  • ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลช่วง 5 เดือนแรกของปีที่ผ่านมายังหดตัวลงจากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในเดือนพ.ค. 2552 มีมูลค่า 2.23 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.4 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม มูลค่ายอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลปรับลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 โดยมูลค่ายอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลสิ้นเดือนพ.ค. 2552 ลดลง 7,100 ล้านบาท จากสิ้นเดือนต.ค. 2551 ที่มีมูลค่า 2.30 แสนล้านบาท สอดคล้องกับจำนวนบัญชีที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนต.ค. 2551โดยจำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลสิ้นเดือนพ.ค. 2552 มี 9.22 ล้าน บัญชี ลดลงถึง 2.22 ล้านบัญชี หรือลดลงร้อยละ 19.4 จากสิ้นเดือนต.ค. 2551
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 2552 ภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้ความสามารถในการผ่อนชำระของผู้บริโภคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และบางรายอาจเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบในเดือนพ.ค. 52 ที่ลดลงนั้นน่าจะเกิดจากความสามารถในการผ่อนชำระของผู้บริโภคลดลง นอกจากนั้น ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลได้เข้มงวดหลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการปล่อยสินเชื่อบุคคลของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 52 สามารถปล่อยได้ถึงประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท บ่งชี้ว่า การปล่อยสินเชื่อของ SFIs มีส่วนช่วยบรรเทา

ภาวะความตึงตัวทางการเงินของภาคเอกชนได้บ้าง

2. ก.พาณิชย์เผยราคาดัชนีผู้บริโภคทั่วไปเดือนก.ค.52 ลดลงร้อยละ -4.4 ต่อปี
  • กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ค. 52 ลดลงร้อยละ -4.4 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. 52 ที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลงคืออยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อเดือน สาเหตุสำคัญมาจากการปรับตัวของราคาสินค้า เช่น ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับโครงสร้างค่าน้ำประปาในพื้นที่บางจังหวัดและการสูงขึ้นของราคาบุหรี่และเบียร์จากการปรับภาษีสรรพสามิตของรัฐบาล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 52 ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลมาจากฐานการคำนวณที่สูงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันในปี 51 อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การที่ราคาน้ำมันในปัจจุบันเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก มีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือน ก.ค. 52 ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การที่ราคาน้ำมันเริ่มทรงตัว ในขณะที่ฐานราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 51 ลดลง น่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในครึ่งหลังของปี 52 ปรับตัวเป็นบวกได้ และคาดว่า ทั้งปี 52 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 52)
3. ภาคอุตสาหกรรมจีนขยายตัวท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  • แหล่งข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี เป็นผลจากนโยบายการเงินของจีนที่ให้ภาคเอกชนปล่อยสินเชื่อที่มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐในช่วงไตรมาส 1- 2 ของปี 52 ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ เพื่อพยุงภาคการค้าและช่วยเหลือนักลงทุนต่างชาติ จนทำให้ภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ประกอบกับตลาดภายในประเทศของจีนสามารถรองรับการขยายตัวดังกล่าว ประกอบกับเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากการหดตัวลดลงของภาคการผลิตในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียในเดือน ก.ค. 52
  • สศค. วิเคราะห์ว่าจากการที่รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 4 ล้านล้านหยวน (5.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นส่วนทำให้ GDP ของจีนในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ดี เนื่องจากการเบิกจ่ายดังกล่าวกระทำผ่านธนาคารของรัฐเป็นหลัก ซึ่งมีส่วนทำให้ยอดสินเชื่อขยายตัวสูง นอกจากนั้น นโยบายของจีนที่กระตุ้นการบริโภคเอกชนในประเทศผ่านการปล่อยสินเชื่อนั้น ก็เป็นส่วนทำให้การบริโภคเอกชนรวมถึงยอดสินเชื่อขยายตัวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การปล่อยสินเชื่อในระดับสูงดังกล่าวเริ่มทำให้จีนมีความเสี่ยงเงินเฟ้อโดยเฉพาะในตลาดทรัพย์สิน (Asset Price Inflation) เห็นได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ในปัจจุบันที่ขยายตัวร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับต้นปี 51 ดังนั้น ในระยะต่อไป ทางการจีนอาจเริ่มยุติการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยอาจเริ่มปรับขึ้นสัดส่วนเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ และขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อบรรเทาความเสี่ยงภาวะฟองสบู่ในอนาคต

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ