Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 ส.ค. 2552
1. ธปท. ผ่อนคลายเกณฑ์นิติบุคคลลงทุนต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป
2. ครม.ไฟเขียวเพิ่มสินเชื่อแบงก์รัฐกระตุ้นศก.เป็น 9.27 แสนลบ.
3. รายได้คนอเมริกันที่ลดลง ขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยให้นิติบุคคลที่มีสินทรัพย์เกิน 5 พันล้านบาท โดยสามารถลงทุนในตราสารในต่างประเทศได้ไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อราย พร้อมอนุญาตเพิ่มเติมให้ผู้ลงทุนสถาบัน ทำธุรกรรมอนุพันธ์อ้างอิงตัวแปรต่างประเทศ, การให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL), Repo กับคู่สัญญาในประเทศ และบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ โดยคาดว่าจะช่วยลดผลกระทบต่อค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า การผ่อนคลายหลักเกณฑ์แก่เอกชนของธปท. จะเอื้อให้เอกชนสามารถนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น และจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บางส่วน ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนของไทย ณ 5 ส.ค. 52 อยู่ที่ 33.95-34.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยล 2.5 นับจากต้นปี 52 โดยแข็งค่าขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเกินดุลการค้าของไทยที่สูงถึง 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตามมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงมากกว่าการลดลงของมูลค่าการส่งออก
- คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นกลไกของรัฐ เพื่อฟื้นฟูช่วย เหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจเป้าหมาย โดยกำหนดเป้าการอนุมัติสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในปี 52 เพิ่มอีก 301,500 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิม 625,500 ล้านบาท เพิ่มเป็น 927,000 ล้านบาท ส่วนบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA)นั้น กำหนดให้แยกบัญชีธุรกรรมที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลออกจากบัญชีธุรกรรมทั่วไป เพื่อที่จะได้ดูแลหรือชดเชยรายได้ส่วนที่ขาดหายไปอย่างเป็นระบบชัดเจน
- สศค. วิเคราะห์ว่านับตั้งแต่วิกฤติการเงินของสหรัฐเริ่มลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ธนาคารพาณิชย์ของไทยต่างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อกันมากขึ้น โดยเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อทั้งลูกค้ารายใหม่และรายเดิม จนถึงขั้นที่มีการเรียกสินเชื่อกลับเป็นจำนวนมากถึง 46,909 ล้านบาท ต่อเดือน ในช่วงหลังวิกฤติการเงิน (กพ. — พ.ค. 52) ดังนั้นการเพิ่มเป้าหมายสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ ให้มีเงินทุนไปใช้หมุนเวียนในการประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่องและรอดพ้นผ่านวิกติครั้งนี้ไปได้
- สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขรายได้และรายจ่ายของชาวอเมริกันในเดือนมิ.ย. 52 ว่า รายได้ส่วนบุคคลหดตัวร้อยละ -1.3 ต่อปี และราย ได้หลังหักภาษีที่แท้จริงหดตัวร้อยละ -1.8 ต่อปี ซึ่งถือเป็นการหดตัวรุนแรงสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนที่แท้จริงหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี ซึ่งจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของมนุษย์เงินเดือน และส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ประชาชนใช้จ่ายลดลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า การใช้จ่ายภาคเอกชนของสหรัฐฯ มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 ของGDP ดังนั้น รายได้ส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 52 ที่หดตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี และตัวเลขการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.5 ในเดือนมิ.ย. 52 เป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 48.9 จาก ระดับ 44.8 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th