รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 7, 2009 11:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 ส.ค. 2552

SUMMARY:

1. นายกรัฐมนตรี เชื่อเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

2. รมต.คลังห่วงไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้เศรษฐกิจหดตัว

3. ภาคบริการสหรัฐฯทรุดหนัก หดตัวต่อเนื่องในเดือนก.ค.

HIGHLIGHT:
1. นายกรัฐมนตรี เชื่อเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
  • นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงในงานแถลงผลงานรัฐบาลในเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาวานนี้ ( 6 ส.ค.52) ว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และมีลักษณะการฟื้นตัวในอัตราเร่ง ซึ่งจะสอดคล้องกับตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัว เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อัตราการใช้กำลังการผลิต และดัชนีการบริโภคของภาคเอกชน ที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างชัดเจน สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปภาครัฐมีแผนที่จะอัดฉีดเงิน 4 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านทางโครงการไทยเข้มแข็งต่างๆ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการติดตามเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจไทยล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ปี 52 พบว่าสถานการณ์ในทั้งด้านการใช้จ่าย(ด้านอุปสงค์) เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และด้านการผลิต(ด้านอุปทาน) เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีหรือ QoQ ที่ขจัดผลของฤดูกาลออกแล้ว ทำให้เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วตามที่นายกกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ต้องผลักดันอย่างต่อเนื่องคือ การเบิกจ่ายภาครัฐ การเร่งปล่อยสินเชื่อ และดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสมและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
2. รมต.คลังห่วงไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้เศรษฐกิจหดตัว
  • นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการร่วมแถลงผลงานของรัฐบาล 6 เดือนว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยดูได้จากดัชนีบ่งชี้ต่างๆ เช่น ดัชนีด้านภาคการบริโภค ตัวเลขการส่งออก กำลังการผลิต การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ก็คือ ภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ ที่มากระทบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมถึงปัญหากำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ ไข้หวัด 2009 ที่ส่งผลกระทบต่อมากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งจากการประเมินพบว่า ในปี 2552 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ 12.2 ล้านคน แต่หากลดลง 1 ล้านคน จะส่งผลให้ GDP ลดลงร้อยละ 0.5 จากกรณีฐาน
3. ภาคบริการสหรัฐฯทรุดหนัก หดตัวต่อเนื่องในเดือนก.ค.
  • สถาบันเพื่อการบริหารจัดการอุปทาน (Institute for Supply Management: ISM) ประกาศตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อของภาคบริการ (Non-manufacturing Purchasing Manager Index) เดือนก.ค.52 อยู่ที่ระดับ 46.4 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.0 หลังจากปรับตัวสูงขึ้นติดกัน 3 เดือน โดยเป็นผลมาจากทั้งดัชนีราคา ยอดคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงานภาคบริการ อนึ่ง ตัวเลขดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคบริการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ภาคบริการสหรัฐฯยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 51 เนื่องจากภาคบริการมีความเกี่ยวโยงกับการใช้จ่ายภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต การใช้จ่ายและภาคบริการก็จะยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่ภาคการเงินที่ยังคงอยู่ในภาวะชะงักงัน และภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีสัญญาณฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผลผลิตในภาคทั้งสอง ซึ่งเป็นสองหมวดที่ใหญ่ที่สุดของภาคบริการยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง เศรษฐกิจสหรัฐฯมีภาคบริการเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ด้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของ GDP การหดตัวต่อเนื่องกว่า 10 เดือนของภาคบริการจึงทำให้สัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมยังคงคลุมเครือ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ