ADBI เสนอจัดตั้ง กองทุนการเงินเอเซีย (Asian Monetary Fund)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 7, 2009 11:21 —กระทรวงการคลัง

ADBI เสนอจัดตั้ง กองทุนการเงินเอเซีย (Asian Monetary Fund) และเวทีการหารือร่วมกันเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินเอเซีย (Asian Financial Stability Dialogue)

บทนำ

ภายหลังเวทีการหารือร่วมกันดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Forum (FSF)) ที่เริ่มก่อตั้งโดยกลุ่ม G7 ในปี 2542 สมาชิกประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารกลาง และผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งรวมการกำกับดูแลบริการการเงิน การสอดส่องดูแลสถาบันการเงิน รวมถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันสมาชิกประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมันนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี คานาดา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มสมาชิกให้ครอบคลุมประเทศสมาชิกจาก G20 ทั้งหมด รวมทั้งจากประเทศเกิดใหม่ เช่น จีน เข้าเป็นสมาชิกด้วย โดยมีผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลีเป็นประธาน มานับตั้งแต่ปี 2549 มีวาระ 6 ปี ฝ่ายเลขานุการเป็นแผนกเล็กๆ อยู่ที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements (BIS)) ณ เมืองบาเซิล (Basel) สวิตเซอร์แลนด์ (BIS เป็นหน่วยงานออกกฎระเบียบด้านมาตรฐานสากลสำหรับกำกับดูแลด้านความมั่นคงของธุรกิจธนาคารพาณิชย์)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา FSF ได้ล้มเหลวในการส่งสัญญาณเตือนภัยวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ยุโรป รวมทั้งยุโรปตะวันออก และเมื่อการประชุม G20 ณ กรุงลอนดอนที่ผ่านมา ได้เสนอจัดตั้งคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board (FSB)) แทน FSF

กองทุนการเงินเอเซีย (Asian Monetary Fund : AMF) และเวทีการหารือร่วมกันเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินเอเซีย (Asian Financial Stability Dialogue : AFSD)

Professor Masahiro Kawai, Dean, Asian Development Bank Institute (ADBI) และ Dr. Michael Pomerleano, Visiting Fellow at ADBI ได้เขียนบทความลงใน Financial Time ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 2552 ให้ความเห็นว่า G20 ได้คาดหวังว่า FSB จะแก้ปัญหาจุดอ่อนด้านเสถียรภาพทางการเงินของโลก โดยการพัฒนากฎระเบียบด้านการกำกับดูแลระบบการเงินที่เข้มเข็ง รวมทั้งนโยบายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพด้านการเงิน โดยร่วมมือกับ IMF ในการส่งสัญญาณเตือนภัยแก่ประชาคมโลก

FSB จะทำหน้าที่คล้ายคลึงกับ FSF ทั้งฝ่ายเลขานุการ ประธาน เพียงแต่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งยังเป็นที่กังขาว่า FSB จะทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระและประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เนื่องจาก สมาชิกจากหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน ในบางประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินมีผลประโยชน์ส่วนตัวแฝงอยู่ (Self-interest) ทำให้ไม่สามารถให้ข้อเสนอแนะที่เป็นอิสระและมีความน่าเชื่อถืออย่างแท้จริงได้

นอกจากนี้ การแบ่งปันข้อมูลในการหารือที่ไม่เสมอภาคกันระหว่างสมาชิกเนื่องจากกฎระเบียบการเปิดเผยข้อมูลในประเทศที่ต่างกัน ทำให้เกิดผู้ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว (Free rider) การหารือจึงอาจไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ADBI จึงเห็นว่า FSB ควรแยกตัวออกมาจาก BIS เพื่อทำหน้าที่สอดส่องดูแลเสถียรภาพทางการเงินในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค เมื่อเร็วๆนี้ อินโดนีเซียได้มีการผ่านกฎหมายพิเศษจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ (Financial System Stability Committee: KSSK)) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ผู้ว่าการธนาคารกลางร่วมเป็นสมาชิก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจเต็มในการสอดส่องดูแลปัจจัยคุกคาม (Threats) ที่จะเกิดในระบบการเงิน นอกจากนี้ มีความจำเป็นต้องมีหน่วยงานดูแลเสถียรภาพทางการเงินในระดับภูมิภาค ในสภาพยุโรปมี คณะกรรมการจัดการความเสี่ยง (European Systemic Risk Board) ทำหน้าที่ดูแลกฎระเบียบเกี่ยวกับความมั่นคง (Prudential) ในระบบการเงินในระดับมหภาค ในขณะที่คณะกรรมการกำกับดูแลระบบการเงิน ( European System of Financial Supervisors) ดูแลการดำเนินการด้านกฎระเบียบเกี่ยวกับความมั่นคงของระบบการเงินในระดับจุลภาค

ในขณะที่ เอเซียได้มีการหารือระหว่างหน่วยงานภาคการเงินในภูมิภาคถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง เวทีการหารือร่วมกันเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินเอเซีย (Asian Financial Stability Dialogue: AFSD)) ซึ่งหน่วยงานลักษณะดังกล่าวได้มีการจัดตั้งขึ้นแล้วในประเทศกลุ่มลาตินอเมริกา มีหน้าที่ช่วยสอดส่องดูแลเสถียรภาพทางการเงินทั้งภูมิภาค ตั้งแต่การกำกับดูแลบริการการเงิน (ซึ่งรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หลักทรัพย์ ประกันภัย และ ธุรกิจการเงินประเภท (Non-Bank)) สถาบันการเงินประเภทต่างๆ รวมทั้งตลาดการเงิน/ตลาดทุนในระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายมุ่งไปสู่การรวมตัวทางการเงินในภูมิภาค

นอกจากนี้ ADBI เห็นว่า เอเซียควรจัดตั้งกองทุนการเงินเอเซีย (Asian Monetary Fund: AMF)) เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้สุดท้ายของสมาชิกในภูมิภาคเอเซีย (A Lender of Last Resort) เนื่องจากประเทศในภูมิภาคมีความทรงจำที่ไม่ดีต่อ IMF ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จึงไม่อยากพึ่ง IMF อีก ทำให้หลังจากนั้น แต่ละประเทศหันมาสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลตนเอง และป้องกันการเกิดปัญหาดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ จนเกิดปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ทั้งนี้ AMF ควรร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ AFSD ของภูมิภาคในการสอดส่องดูแลระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินในภูมิภาคเอเซียด้วยกันเอง โดย ADBI เห็นว่าการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกฎระเบียบกำกับดูแลระบบการเงินระหว่างประเทศอย่างเดียวไม่น่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะระบบการเงินโลกปัจจุบันได้เชื่อมถึงกันอย่างมาก ดังนั้น การจัดตั้ง AMF และ AFSD เป็นสถาบันใหม่ (New Financial Architecture) เพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาคเอเซียเอง จะมีความเหมาะสมกว่า

ความเห็น

ปัจจุบันได้มีเวทีการหารือเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาคในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน +3 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค การประชุมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเซีย-ยุโรป ซึ่งในการประชุมหารือดังกล่าวจะมีรองผู้ว่าการธนาคารกลางร่วมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ในระดับเวทีของธนาคารกลาง ได้แก่การประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Central Banks: SEACEN)1 การประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางเอเซียแปซิฟิกตะวันออก (Executives’ Meeting of East Asia Pacific Central Banks : EMEAP)2 ซึ่งเนื้อหาการประชุมไม่พ้นการดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นหน้าที่หลักของธนาคารกลาง การดูแลเสถียรภาพทางการเงิน รวมทั้งการกำกับดูแลบริการการเงินต่างๆ ที่ในหลายประเทศธนาคารกลางทำหน้าที่กำกับดูแลบริการการเงินด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังต้องมีหน้าที่หลักในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน เพราะเมื่อเกิดวิกฤตการเงินแล้ว กระทรวงการคลังจะต้องนำเงินภาษีไปแก้ปัญหาเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ การจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ (Financial System Stability Committee) โดยเฉพาะ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เช่นในอินโดนีเซีย เพื่อนำไปสู่การหารือระดับภูมิภาคจึงเป็นแนวคิดริเริ่มที่ดี เพราะได้เป็นซักซ้อมระบบการทำงานในระดับประเทศ ก่อนหารือร่วมกันในระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายการพัฒนาไปสู่การจัดตั้ง AMF การป้องกันวิกฤตการเงินและรักษาเสถียรภาพในระบบการเงินเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าธนาคารกลางจะดูแลแต่เพียงผู้เดียว เพราะมีนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคอื่นๆ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงด้านการเงินอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาด้วย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการประชุมระหว่างประเทศที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันเป็นจำนวนมาก ปัญหาคือทำอย่างไรที่จะลดภาระการเดินทางประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงได้

สรุปและเรียบเรียงโดย สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำกรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


แท็ก asian  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ