รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 10, 2009 10:43 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 ส.ค. 2552

SUMMARY:

1. คลังดันมาตรการภาษีอุ้มผู้ประกอบการท่องเที่ยว

2. ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 7 เดือนแรกลดลงร้อยละ -5.3

3. อังกฤษปรับนโยบายเพิ่มการซื้อพันธบัตร เพื่อขยายปริมาณเงินในระบบ

HIGHLIGHT:
1. คลังดันมาตรการภาษีอุ้มผู้ประกอบการท่องเที่ยว
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่ลงทุนเพื่อซ่อมแซมโรงแรม โดยจะเปิดให้นำค่าซ่อมแซมมาหักเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ ทั้งยังมีมาตรการเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ไว้ 5,000 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 6 เดือนแรกปี 2552 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีจำนวน 6.6 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -15.9 ต่อปี จากปัจจัยลบต่างๆ อันได้แก่ (1) ปัญหาภายในด้านการเมือง (2) ปัจจัยภายนอกเรื่องภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่งผลให้กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง และ (3) การแพร่ระบาดของของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั้งนี้ สศค. วิเคราะห์ว่าปัจจัยลบต่าง ๆ จะทำให้จำนวนผู้ว่างงานของแรงงานภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนคน ดังนั้น มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวน่าจะช่วยให้ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ และชะลอการเลิกจ้างงานได้
2. ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 7 เดือนแรกลดลงร้อยละ -5.3
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 มียอดรวม 588 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มี 701 ราย ขณะที่เงินลงทุนมีจำนวน 222,300 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเงินลงทุน 234,700 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ -5.3 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่ายอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 52 จะลดลง แต่คาดว่าในระยะต่อไป การลงทุนภาคเอกชนน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจไทยล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ปี 52 พบว่าสถานการณ์ด้านการผลิตล่าสุด โดยเฉพาะดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปรับตัวดีขึ้นมาก โดย MPI เดือนมิ.ย. 52 ขยายตัวร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ปรับผลฤดูกาลแล้ว) เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ดังนั้น หากภาครัฐมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระยะที่ 2 (SP2) ที่เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน น่าจะส่วนช่วยทำให้การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป
3. อังกฤษปรับนโยบายเพิ่มการซื้อพันธบัตร เพื่อขยายปริมาณเงินในระบบ
  • ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ (MPC) ลงมติในการปรับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Quantitative Easing: QE) โดยใช้มาตรการการซื้อพันธบัตรเพิ่มจาก 50 พันล้านปอนด์ มาอยู่ที่ 175 พันล้านปอนด์ ภายในสามเดือนหลังจากนี้ โดยMPC เชื่อว่า เศรษฐกิจโลกยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง และสถานะทางการเงินยังอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ทั้งนี้ การหดตัวของเศรษฐกิจอังกฤษยังคงรุนแรงกว่าที่คาดการไว้ อันเนื่องมาจากการขาดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องของตลาดเงินทุนและการปล่อยสินเชื่อ ที่ยังสร้างความเสี่ยงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าสัญญาณเบื้องต้นของเศรษฐกิจอังกฤษเริ่มส่งฟื้นตัว และมีแนวโน้มว่าเฉลี่ยทั้งปี 2552 อาจจะหดตัวน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ (IMF คาดการณ์ ณ มิ.ย. 52 ว่าเศรษฐกิจอังกฤษปี 52 จะหดตัวที่ร้อยละ -4.2) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากดัชนีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) พบว่ามีการปรับตัวดีขึ้น และการทีราคาภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ GDP ไตรมาสที่ 2 หดตัวที่ร้อยละ -5.60 ต่อปี (Y-o-Y) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ที่หดตัวที่ร้อยละ -4.90 ต่อปี ประกอบกับอัตราการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ ส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษยังคงมีความเสี่ยงต่อภาวะวิกฤตอยู่ ดังนั้น การทำนโยบายการเงินแบบพิเศษ (Unconventional Monetary Policy) เช่น การทำ QE ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนั้นการทำ QE เพิ่มไม่น่าจะทำให้ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระยะใกล้ เนื่องจากในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่หดตัวร้อยละ -1.8 .ในเดือน ก.ค. 52 ยังอยู่ในระดับต่ำและหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ