Global Economics Report : China

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 13, 2009 11:40 —กระทรวงการคลัง

Outlook: China
  • เศรษฐกิจจีนในครึ่งแรกของปี 52 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
  • สาเหตุที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากโครงการภาครัฐที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (Crowding-in) ขณะที่การปล่อยสินเชื่อจากธนาคารของรัฐกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภาคเอกชน
  • อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนเริ่มเผชิญความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อในราคาสินทรัพย์ (Asset Price Bubble)
  • สศค. ประเมินว่า ในระยะต่อไป ทางการจีนอาจต้องเริ่มดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดขึ้น เพื่อชะลอภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว
ภาพรวมของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน

นับจากเดือนกันยายน 2551 หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกทวีความรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศตกต่ำ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนกลับขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกอยู่บ้างก็ตาม โดยการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 7.9 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว (Q-o-Q Annualized)พบว่าขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 16.4 ต่อปี ขณะที่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของเศรษฐกิจจีนพบว่า มาจากการขยายตัวของภาคการลงทุน และภาคการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ในส่วนของภาคการลงทุนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.8 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 นั้นมาจากการลงทุนรวมที่เพิ่มขึ้น(Gross Capital Formation) ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.4 ต่อปี ขณะที่ภาคการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวเช่นกัน โดยพิจารณาจากการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปีขณะที่ดัชนีชี้วัดต่าง ๆ บ่งชี้ว่าการบริโภคเริ่มฟื้นตัวเช่นกัน เช่น ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ขยายเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 15.0 ในครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ในภาคการค้าระหว่างประเทศนั้น การส่งออกของจีนได้หดตัวลงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ -19.7 ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 และ -23.5 ต่อปี ในไตรมาสที่2 สืบเนื่องมาจากตลาดใหญ่ในการส่งออกของจีน ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯหรือยุโรป ได้ชะลอตัวในการนำเข้าจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ส่วนการนำเข้ามีการหดตัวลดลงที่ร้อยละ -30.8 ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 มาอยู่ที่ -20.2 ในไตรมาสที่ 2 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าโดยรวมของจีนติดลบที่ร้อยละ -2.9 ในครึ่งปีแรกปี 2552

สาเหตุของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นเป็นผลจากการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐเป็นสำคัญโดยในส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวนั้นเป็นผลจากโครงการภาครัฐที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (Crowding-in Effect) โดยการลงทุนในสาธารณูปโภคที่ขยายตัวร้อยละ 57.4 ต่อปี ในครึ่งปีแรกนั้น ส่วนใหญ่มาจากการลงทุนในโครงการสร้างทางรถไฟที่ขยายตัวร้อยละ 126.5 ต่อปีและโครงการสร้างถนนที่ขยายตัวร้อยละ 54.7 ต่อปี ในขณะที่การขยายตัวของการบริโภคนั้นเป็นการขยายตัวของสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นหลัก

ทั้งนี้ กลไกหลักในการกระตุ้นภาคการบริโภคได้แก่การปล่อยสินเชื่อจากธนาคารของรัฐ โดยปริมาณสินเชื่อที่ปล่อยกู้ในครึ่งปีแรกมีถึง 7.8 ล้านล้านหยวน ซึ่งแม้จะช่วยให้เศรษฐกิจไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกมากนัก รวมทั้งไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อในระยะใกล้ (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่หดตัวร้อยละ -1.7 ในเดือนมิถุนายน) แต่ก็ทำให้เกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ (Asset price bubble) โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ขยายตัวถึงร้อยละ 75 นับจากต้นปีในเดือนมิถุนายน ในขณะที่ราคาบ้าน เพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 20 รวมไปถึงการที่ปริมาณเงินความหมายกว้าง(M2) ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละประมาณ 25 ต่อปี

การที่เศรษฐกิจจีนเริ่มมีความเสี่ยงของ Asset Price Bubble นั้นทำให้ทางการจีนออกมาตรการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยได้ประกาศตั้งเป้าสัดส่วนเงินกันสำรองหนี้เสีย (Loan loss Provisioning) เป็น 1.5 เท่า ในเดือนสิงหาคม 2552 จาก 1.34 เท่า ขณะที่ธนาคารกลางจีน(People’s Bank of China: PBOC) ได้เริ่มออกพันธบัตรอายุ 1 ปี เพื่อดูดซับสภาพคล่องจำนวน 1 แสนล้านหยวนเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนอกจากนั้น คณะกรรมาธิการการธนาคารของจีน (The China Banking Regulatory Commission) ยังได้ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศในการตรวจสอบสินเชื่อใหม่ ซึ่งทางคณะกรรมการได้ตักเตือนให้ทางสถาบันการเงินต่างๆ ทำตามกฎในการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้วางเงินดาวน์อย่างน้อยร้อยละ 40 ของมูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งการเข้มงวดสินเชื่อขึ้นดังกล่าวทำให้สัญญาณล่าสุดจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารธนาคารขนาดใหญ่ของจีน เช่น ธนาคารเพื่ออุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของจีน (ICBC) บ่งชี้ว่าแนวโน้มการปล่อยสินเชื่ออาจเริ่มลดลง

แนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตและแนวนโยบายของทางการจีน

สศค. วิเคราะห์ว่าในระยะต่อไปเศรษฐกิจจีนอาจเริ่มมีความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก แม้ว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น (Demand-pull Inflation) จะยังมีไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงน่าจะเป็นส่วนผลักดันให้ระดับการผลิตของจีนต่ำกว่าศักยภาพหรือเกิด Output Gap ขึ้น อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าในระยะต่อไป Output Gap ของจีนจะเริ่มลดลง โดยหากผู้ประกอบการปรับตัวโดยปรับลดคนงานออก ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการผลิตของจีนลดลง และเพิ่มความเสี่ยงของ Demand-pull inflation นอกจากนั้นความเสี่ยงเงินเฟ้อจากราคาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (Cost-push Inflation) อาจเริ่มเพิ่มขึ้นหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มปรับตัวสูงขึ้น (ปัจจุบันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มิใช่พลังงานในจีนเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5 ต่อปี แม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะยังหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -1.7 ต่อปีในเดือนมิถุนายนก็ตาม) ในขณะที่ระยะต่อไปมีแนวโน้มว่าราคาโภคภัณฑ์อาจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหากอุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัว และความคาดหวังเงินเฟ้อ ที่เริ่มเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ สศค. คาดว่าทางการจีนจะเข้าบริหารจัดการด้านเรื่องการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะเดียวกันจีนอาจเริ่มยุติการทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยอาจเริ่มปรับขึ้นสัดส่วนเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ และขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี (ดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี) และร้อยละ 5.31 ต่อปี (ดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี) ตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ