รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 14, 2009 11:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 ส.ค. 2552

SUMMARY:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.52 อยู่ที่ระดับ 66.3

2. กระทรวงพลังงาน ปรับลดราคาน้ำมันดีเซล บี 2 และดีเซล บี5

3. เศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นจากภาวะถดถอย

HIGHLIGHT:
1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 66.3
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยรายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 66.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 65.4 เนื่องจากการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพ และความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สอง (SP2) นอกจากนี้ การที่ดัชนีหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้น ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย สะท้อนถึงกระแสเงินทุนที่ยังไหลเข้า ซึ่งส่งผลจิตวิทยาเชิงบวกต่อผู้บริโภค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค. 52 ถือได้ว่าเป็นปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สะท้อนว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในเดือนถัดไปคาดว่าดัชนีความเชื่อผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจาก 1.) คาดว่า GDP ไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 52 ที่จะประกาศในช่วงปลายเดือน ส.ค. 52 จะหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน และ 2.) ความก้าวหน้าของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่จะเริ่มมีการเบิกจ่ายได้จริง
2. กระทรวงพลังงาน ปรับลดราคาน้ำมันดีเซล บี 2 และดีเซล บี5
  • กระทรวงพลังงาน ประกาศลดราคาน้ำมันดีเซล บี 2 ลงลิตรละ 2 บาท ส่วนดีเซล บี5 ปรับลดลิตรละ 40 สตางค์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 สิงหาคม 2552 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีมาตรการตรวจเช็คสต็อกน้ำมันตามคลังน้ำมันและสถานีบริการต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งกรณีสต็อกเก่าผู้ค้าจะได้รับเงินชดเชยจากกากองทุนน้ำมัน ทำให้ไม่ขาดทุนจากการลดราคาในครั้งนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่รัฐบาลลด ราคาน้ำมันดีเซล บี 2 และดีเซล บี5 ซึ่งถือเป็นปัจจัยการผลิตและการขนส่งที่สำคัญของประเทศ จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของผู้ประกอบการในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ Sensitivity พบว่า หากราคาน้ำมันดีเซลลดลง 2 บาทต่อลิตร จะช่วยพยุงให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดีขึ้นประมาณ 0.2% จากกรณีฐาน แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงอีกราว -0.31% จากกรณีฐาน
3. เศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นจากภาวะถดถอย
  • สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปประกาศตัวเลขเบื้องต้นของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มยูโรโซน (EU-16) ในไตรมาส 2 ปี 52 ที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือร้อยละ -4.6 ต่อปี แต่หากรวมทั้งสภาพยุโรปแล้ว GDP จะหดตัวที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือร้อยละ -4.8 ต่อปี โดยเศรษฐกิจใหญ่สุดสองประเทศในกลุ่มยูโรโซน ได้แก่ เยอรมนีและฝรั่งเศส พ้นจากภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว ด้วย GDP ของทั้งสองประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่สโลวาเกีย ประเทศสมาชิกใหม่ของกลุ่มยูโรโซนไม่ตกอยู่ในภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยมี GDP ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขยายตัวเร่งขึ้นมากจากไตรมาสแรกที่หดตัวถึงร้อยละ -11.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยมีการหดตัวของ GDP รายไตรมาสติดต่อกันมาถึง 5 ไตรมาสแล้ว ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจหลักสองประเทศของยุโรป อันได้แก่ เยอรมนี และฝรั่งเศส พ้นจากภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้วก็ตาม ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภาครัฐของเยอรมนี และความพยายามกระตุ้นการส่งออกสินค้าของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของประเทศที่เหลืออาจจะช้ากว่าที่คาด อันเป็นผลจากอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงถึงร้อยละ 9.4 ในเดือน มิ.ย. 52 ซึ่งอาจทำให้ภาคเอกชนชะลอการบริโภคและการลงทุนได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ