นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ I bank เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้กำหนดให้ I bank ขยายเป้าสินเชื่อเพิ่มอีก 13,000 ล้านบาท จากเดิม 20,700 ล้านบาท เป็น 33,700 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นกลไกในการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในกลุ่มเป้าหมายที่มีวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม และ จัดทำโครงการ Fast Track ให้สามารถอนุมัติเงินกู้ได้ใน 7 วัน
นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าธนาคารมี มาตรการในการอำนวยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น แบ่งเป็นประเภทสินเชื่อ 4 ประเภท ดังนี้ 1. การเพิ่มเป้าหมายในการอำนวยสินเชื่อทางธุรกิจจากเดิม 9,000 ล้านบาท เป็น 22,500 ล้านบาท 2. การเพิ่มเป้าหมายในการอำนวยสินเชื่อธุรกิจฮาลาล จากเดิม 2,400 ล้านบาท เป็น 3,900 ล้านบาท 3. การเพิ่มการอำนวยสินเชื่อกระจายตามภูมิภาค จากเดิม 1,800 ล้านบาท เป็น 3,300 ล้านบาท และ 4.การเพิ่มการอำนวยสินเชื่อในด้านเช่าซื้อ จากเดิม 1,500 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโครงการสนับสนุนสินเชื่อโครงการภาครัฐ ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงธันวาคม 2552 จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 12,680 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. โครงการ สินเชื่อเพื่อทดแทน Soft Loan วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา และเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชากรในพื้นที่ และทำให้ GDP ของประชากรในพื้นที่ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการขออนุมัติงบประมาณจากกระทรวงการคลัง
2. โครงการสินเชื่อส่งเสริมผู้ประกอบการอาชีพให้บริการรถสาธารณะ วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างอาชีพให้บริการรถสาธารณะภาคใต้ ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างการดำเนินการ
3. โครงการ Islamic Micro Finance วงเงิน 1,150 ล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนกิจการของผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กที่มีรายได้น้อยและเป็นการสร้างโอกาสและกระจายรายได้สู่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กโดยธนาคารดำเนินการระยะแรกในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา
4. โครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงไก่แบบฟาร์มปิด จำนวน 1,160 ล้านบาท เพื่ออำนวยสินเชื่อแก่กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ระบบปิดและโรงเชือดไก่ และเพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในพื้นที่และสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการขออนุมัติงบประมาณจากกระทรวงการคลัง
และ 5. โครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโรงเชือดไก่ฮาลาล จำนวน 370 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับรองเครื่องหมายมาตรฐานฮาลาลและธุรกิจที่อยู่ระหว่างการขอหรือจะขอเครื่องหมายรับรองเมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้ผู้ประกอบการและเพื่อขยายกิจการผู้ประกอบการฮาลาลให้เพิ่มผลผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดรวมถึงเป็นการสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการ
สำหรับการอนุมัติสินเชื่อ ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง มิถุนายน 2552 ธนาคารมียอดอนุมัติสินเชื่อทั้งสิ้น 14,004 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67.65 ของเป้าสินเชื่อเดิม (20,700 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 41.5 ของเป้าหมายใหม่ (33,700 ล้านบาท) ซึ่งธนาคารอิสลามต้องทำการปล่อยสินเชื่อประมาณเดือนละ 3,300 ล้านบาท ในระยะเวลาที่เหลือของปี 2552
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวในตอนท้ายว่า “ได้มอบนโยบายให้ธนาคารกำหนดมาตรการในการเร่งรัดการอำนวยสินเชื่อซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาประมาณ 20,000 ล้านบาท การปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อให้มีความผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น พิจารณาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ของธุรกิจหรือโครงการ มองถึงโอกาสระยะปานกลางและยาวของผู้ยื่นขอกู้แทนที่จะพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ จากปัญหาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และจัดทำโครงการ Fast Track โดยผู้ขอสินเชื่อต้องรู้ผลการอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วันทำการ และมีความพึงพอใจในบริการของธนาคาร”
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
โทร. (02) 650-6992, 650-6997
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 107/2552 17 สิงหาคม 52--