รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 10-14 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 17, 2009 14:21 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ค.52 จัดเก็บได้ 98.1 พันล้านบาท (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.8 พันล้านบาท หรือร้อยละ -9.1 ต่อปี) และต่ำกว่าประมาณการรายได้ 15.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนก.ค. จัดเก็บได้ 37.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดตั้งแต่ต้นปี 52 สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 (ต.ค.51-ก.ค.52) จัดเก็บได้จำนวนทั้งสิ้น 1,120.9 พันล้านบาท (ต่ำกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนจำนวน 119.0 พันล้านบาท หรือร้อยละ 9.6 ต่อปี) และต่ำกว่าประมาณการรายได้ 158.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ แนวโน้มการจัดเก็บรายได้รัฐบาลมีทิศทางที่ดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ทำให้คาดการณ์รายได้รัฐบาลล่าสุดของทั้งปีงบประมาณ 52 จะต่ำกว่าประมาณการ 206 พันล้านบาท ซึ่งดีกว่าคาดการณ์รายได้เดิมที่ต่ำกว่าประมาณการ 280 พันล้านบาท

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ก.ค. 52 หดตัวลงมากขึ้นที่ร้อยละ -16.4 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.6 ต่อปี อันเป็นผลจากการหดตัวลงของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าเป็นสำคัญ ในขณะที่ภาษีที่จัดเก็บในประเทศขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนได้บ้าง

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ค. 52 หดตัวลงที่ร้อยละ -15.7 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -14.6 ต่อปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงและทำให้ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ค. 52 อยู่ที่ระดับ 66.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 65.4 ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในระยะถัดไปคาดว่าดัชนีความเชื่อผู้บริโภคจะได้รับปัจจัยบวกจาก 1.) GDP ไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 52 ที่จะประกาศในช่วงปลายเดือน ส.ค. 52 คาดว่าจะหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน และ 2.) ความก้าวหน้าของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่จะเริ่มมีการเบิกจ่ายได้จริง

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนก.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -9.1 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.9 ต่อปี อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 52 พบว่าหดตัวในอัตราชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่หดตัวร้อยละ -13.0 ต่อปี เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในครึ่งปีหลังของปีจะปรับตัวดีขึ้นตาม ทั้งนี้ ในปี 52 คาดว่าปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งจะหดตัวที่ร้อยละ-10.0 ต่อปี (7 เดือนแรกปี 52 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวที่ร้อยละ -12.4 ต่อปี)

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนก.ค. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -16.5 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานการคำนวณที่ต่ำผิดปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงสุดในรอบปี ส่งผลให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนก.ค.51 ปรับตัวลดลงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในบางสาขาคาดว่าจะมีส่วนผลักดันให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -2.6 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตสำ คัญ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง เนื่องจากอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวลดลง ในขณะที่ผลผลิตข้าวนา ปรังยังหดตัวต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยฐานสูงเมื่อปีที่แล้วที่ราคาข้าวขยายตัวในระดับสูงจึงจูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ฝนที่ตกชุกในช่วงนี้ยังส่งผลให้ความชื้นสูง และทำให้ผลผลิตข้าวลดลงอีกด้วย

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ก.ค.52 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 85.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 83.5 เนื่องจากแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมในในไตรมาส 2 ปี 52 เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภทเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ ที่มีการผลิตเพื่อสงออกไปยังประเทศจีนจำนวนมาก นอกจากนี้ เศษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยูโรโซน ยังเริ่มมีสัญญาณฟื้นต้ว ส่งผลให้คาดว่ายอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้น

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลหลักของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแทบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินเยนและค่าเงินยูโร

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินเยนในช่วงสัปดาห์นี้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆส่วนใหญ่ตามกระแสความต้องการของสินทรัพย์ในสกุลที่ปลอดภัย (safe haven) อันได้แก่ดอลลาร์สหรัฐและเยนที่มีมากขึ้นหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือน ก.ค.ที่หดตัวลดลงร้อยละ -0.1 ต่อเดือน สวนทางกับตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าน่าจะขยายตัวที่ระดับประมาณ 0.7 สอดคล้องกับตัวเลขการขอสวัสดิการว่างงานในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 558,000 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่อยู่ที่ 554,000 คน สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวในช่วงถัดไปของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนในเดือน ก.ค.เช่น ตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial output) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 10.8 ต่อปีน้อยกว่าคาดไว้ที่ร้อยละ 11.7 ต่อปี ขณะที่ตัวเลขมูลค่าการส่งออกของจีนที่หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ที่ร้อยละ -23.0 ต่อปีนั้นเป็นการส่งสัญญาณในเชิงลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน

ด้านค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจ GDP ของเศรษฐกิจยุโรปในไตรมาสที่ 2 เบื้องต้นหดตัวที่ร้อยละ -0.1ต่อปีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า(Q-o-Q Annualized) ซึ่งเป็นการหดตัวลดลงอย่างมากจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี (เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน) โดยเฉพาะเศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศส ขยายตัวร้อยละ 0.3 ต่อปี (Q-o-Q Annualized) จากไตรมาสก่อน ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีและฝรั่งเศสจะหดตัวที่ -0.3 ต่อปี (Q-o-Q Annualized) ในทั้งสองประเทศ ในขณะที่ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์อ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่รายงานอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE inflation report) กล่าวว่ามีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษจะอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 2.0 ไปอีกอย่างน้อย 3 ปี

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงที่ร้อยละ 0.15 นับจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าและอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.03 นับจากช่วงต้นเดือน

อัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินในภูมิภาคสกุลอื่นๆ ที่อ่อนค่าลงตามปัจจัยความเสี่ยงที่มีมากขึ้น (risk aversion) และส่งผลให้นักลงทุนโยกย้ายเงินทุนออกจากสกุลเงินที่มีความเสี่ยงสูงกว่า (high yielding) อาทิตลาดหลักทรัพย์และสกุลเงินในภูมิภาคไปลงทุนในสินทรัพย์และสกุลเงินที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าอาทิดอลลาร์สหรัฐและเยนส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคแทบทุกสกุลอ่อนค่าลง

ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.15 จากสัปดาห์ก่อน โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์สเตอร์ลิงค์ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 14 ส.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.94 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.92

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 7.1) ริงกิตมาเลเซีย(ร้อยละ 3.7) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 2.9) สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.2) ดอลลาร์ ไต้หวัน (ร้อยละ 2.2) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 2.1) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 2.1) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -10.2) และรูเปียห์อินโดนิ เซีย (ร้อยละ -7.0) ยูโร (ร้อยละ -2.2) วอนเกาหลี (ร้อยละ -0.4) หยวน (ร้อยละ -0.4) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 7 ส.ค. 52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 0.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 134.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Forward Obligation จำนวน 0.40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากนัก ในภาวะที่มีเงินไหลเข้า โดยในตลาดหลักทรัพย์ พบว่าต่างชาติมีการซื้อสุทธิต่อเนื่องที่ประมาณ 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การเข้าดูแลค่าเงินบาทของธปท.มีน้อยกว่าความต้องการขายเงินดอลลาร์สหรัฐโดยรวม จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (31 ก.ค. 52) ร้อยละ -0.19 บาท จาก 33.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์นี้

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ตัวเลขตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือนก.ค.52 หดตัวน้อยสุดในรอบ 11 เดือน โดยลดลง 247,000 ตำแหน่ง ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 443,000 ตำแหน่ง (ตัวเลขปรับปรุง) โดยตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการลดลง 128,000 และ 199,000 ตำแหน่งตามลำดับ ในขณะที่ตำแหน่งงานในภาคการศึกษาและสาธารณสุข และภาคการโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้น 17,000 และ 9,000 ตำแหน่ง ตามลำดับส่งผลให้อัตราว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 9.4 โดยนับตั้งแต่เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย ผู้จ้างงานปรับลดตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรลงแล้ว 6.7 ล้านตำแหน่ง

ตัวเลขเบื้องต้นของ GDP กลุ่มประเทศยูโรโซนในไตรมาส 2 ปี 52 หดตัวที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแล้ว จะหดตัวที่ร้อยละ -0.1 ซึ่งเป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าสะท้อนว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ทั้งนี้ประเทศที่ GDP ในไตรมาส 2 ปี 52 หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี โปรตุเกส และสโลวาเกีย

ยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรภาคเอกชนของญี่ปุ่นในเดือนมิ.ย.52 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน แต่ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -29.8 ต่อปี อย่างไรก็ตามตัวเลขการใช้กำลังการผลิตยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤต ทำให้คาดว่าการลงทุนของญี่ปุ่นจะฟื้นตัวไม่เร็วนัก ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นคาดว่ายอดคำสั่งซื้อดังกล่าวในไตรมาส 3 จะหดตัวที่ร้อยละ -8.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าของจีนเดือนก.ค. 52 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 โดยมูลค่าการส่งออกกลับมาหดตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ -23.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -21.4 ต่อปีอย่างไรก็ตาม หากปรับจำนวนวันทำ การแล้ว ทางการจีนประกาศว่าการส่งออกจีนในเดือนก.ค.ขยายตัวจากเดือนมิ.ย.ที่ร้อยละ 5.2 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -14.9 ต่อปี ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -13.2 ต่อปี ผลจากการเร่งนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเมื่อเดือนก่อนหน้า โดยดุลการค้าจีนเดือนมิ.ย. 52 ยังคงเกินดุลที่ 10.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองของจีนถึงเดือนก.ค.52 ขยายตัวเกินร้อยละ 30 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 32.9 ต่อปีชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 33.6 ต่อปี โดยการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 11.6 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในโครงการของรัฐบาลกลางและท้องถิ่นยังขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 25.3 และ 33.7 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 41.4 และ 34.1 ต่อปีตามลำดับ ผลจากการเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างสาธารณูปโภคในเขตเมือง

สิงคโปร์ประกาศปรับตัวเลข GDP หดตัวที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ -9.6 ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq annualized) ขยายตัวร้อยละ 20.7 ต่อปี จากร้อยละ 12.7 ในไตรมาสก่อน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของออสเตรเลียเดือนส.ค.52 อยู่ที่ระดับ 113.4 ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี สาเหตุหลักมาจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในครั้งนี้ อาจทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลียมีแนวโน้มที่จะเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้

อัตราการว่างงานของเกาหลีใต้เดือนก.ค.52 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน มาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 จาก ร้อยละ 4.0 ในเดือนก่อนหน้าสะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้จะยังไม่เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะเวลาอันใกล้นี้

GDP อินโดนีเซียไตรมาสที่ 2 ปี 52 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปีที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 4.4 ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 ปี 52 โดยการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.8 2.7 และ17.0 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 3.5 และ19.2 ต่อปี ตามลำดับ อันเป็นผลจากการจัดการเลือกตั้งและแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการ หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -15.7 และ -23.9 ต่อปี จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -19.1 และ -24.1 ต่อปี ตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ