ยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 17, 2009 16:27 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงานยอดรายได้การใช้จ่ายและการออมของสหรัฐฯ ประจำเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งจัดทำโดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (Bureau of Exonomic Analysis - BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดังนี้

1. รายได้ส่วนบุคคล (Personal Income) ของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน 2552 ปรับตัวลดลง 159,800 ล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 1.3 หลังจากปรับเพิ่มขึ้น 155,100 ล้านเหรียญสรอ.

2. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (Disposable Personal Income - DPI) หรือรายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมนั้น ปรับตัวลดลง 143,800 ล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 1.3 ในเดือนมิถุนายน หลังจากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนือ่งในช่วงสามเดืนอที่ผ่านมา โดยในเดือนพฤษภาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 168,700 ล้าน เหรียญสรอ. หรือร้อยละ 1.6

3. รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง (Real Disposable Personal Income - Real DPI) หรือรายได้สุทธิหลังหักภาษีและเงินเฟ้อที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมได้จริงในเดือนมิถุนายน 2552 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.8 หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในเดือนก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ทางการสหรัฐฯ ได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางเครดิตภาษี (Tax Credit) และการปรับเพิ่มระดับเงินประกันสังคม ภายใต้กฎหมายฟื้นฟูและการลงทุนแห่งสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2009 (The American Recovery and Reinvestment Act of 2009 - ARRA) ซึ่งมาตรการดังกล่าวช่วยกระตุ้นระดับรายได้ในเดือนพฤษภาคมมากกว่าเดือนมิถุนายน ส่งผลให้รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงจะปรับลดลงที่ร้อยละ 0.5 หากไม่รวมผลของมาตรการข้างต้น

4. ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลที่แท้จริง (Real Personal Consumption Expenditures - Real PCE) ชะลอตัวร้อยละ 0.1 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากคงตัวในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ มูลค่าการใช้จ่ายด้านสินค้าไม่คงทน (Non-Durable Goods) ชะลอตัวลงร้อยละ 0.4 เปรียบเทียบเดือนพฤษภาคมซึ่งชะลอดตัวที่ร้อยละ 0.1 ส่วนปริมาณการใช้จ่ายด้านบริการในเดือนมิถุนายนชะลดตัวลงร้อยละ 0.1 ที่ระดับเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า

5. ระดับราคา (PCE Price Index) ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในเดือนมิถุนายปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 หลังจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดังชีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินค้าอาหารและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เปรียบเทียบกับระดับราคาซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในเดือนพฤษภาคม

6. การออมส่วนบุคคล (Personal Saving) ที่คิดเป็นสัดส่วนจากรายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงปรับตัวลดลงมาอยู่ร้อยละ 4.6 ในเดือนมิถุนายน 2552 หลังจากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยประชากรสหรัฐฯ มีระดับการออมถึงร้อยละ 6.9 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

รายละเอียดข้างต้น สามารถสรุปได้ดังตางรางต่อไปนี้
                        Average Growth       May      June
                        last 12 months       2009     2009
Personal Income              -0.3%           1.3%    -1.3%
  Exclude ARRA items                         0.0%    -0.1%
Real DPI                     -0.1%           1.5%    -1.8%
  Exclude ARRA items                         0.0%    -0.5%
Real PCE                    - 0.2%           0.0%    -0.1%
PCE Price                     0.0%           0.1%     0.5%
Personal Saving Rate          3.8%           6.2%     4.6%
ที่มา: สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (www.bea.gov)

การปรบตัวลงของรายได้ส่วนบุคคลในเดือนมิถุนายน 2552 ที่ร้อยละ 1.3 นั้น สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เล็กน้อย และนับเป็นการปรับลดที่อัตราสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากระดับรายได้ในเดือนก่อนหน้าที่กระเตื้องขึ้นจากเงินช่วยเหลือภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการสหรัฐฯ ประกอบกับรายได้ภาคเอกชนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ รายได้ส่วนบุคคลที่ยังคงอยู่ในช่วงขาลงและอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลให้ประชากรสหรัฐฯ หันมาให้ความสำคัญกับการเก็บออมมากขึ้น และเป็นสัญญาณว่าภาวะเศรษฐกิจจะยังคงชะลอตัวไปอีกระยะหนึ่ง ถึงแม้สหรัฐฯ จะเริ่มพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และสามารถฟื้นฟูความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม

ปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่กระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในเดือนมิถุนายนนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่สามและกลับมาชะลอตัวอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 เนื่องจากเทศกาลลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนกรกฎาค ประกอบกับกฎหมาย Cash-for-Clunkers Act ที่ให้การสนับสนุนทางการเงินในกรณีที่ผู้ซื้อนำรถยนต์เก่ามาแลกซื้อรถยนต์ใหม่ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2552 นั้นน่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ระดับการออมส่วนบุคคลกลับลดลงนั้น สะท้อนเห็นว่าประชากรสหรัฐฯ ยังไม่อยู่ภาวะที่สามารถกลับมาเริ่มใช้จ่ายได้อย่างแท้จริง อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคที่แท้จริงที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงหดตัวมากกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกาศในสัปดาห์ก่อนหน้า

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ