รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2009 11:17 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 ส.ค. 2552

SUMMARY:

1. ครม. อนุมัติโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งกว่า 400 โครงการ

2. ภาคเอกชนเตรียมเสนอ กรอ. พิจารณา 5 แนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม

3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปีจากไตรมาสก่อนหน้า

HIGHLIGHT:
1. ครม. อนุมัติโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งกว่า 400 โครงการ
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการลงทุนตาม พ.ร.ก. กู้เงินฯ จำนวน 2 แสนล้านบาทแรก โดยในส่วนของคลังได้จัดสรรเงินดังกล่าวไปเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อช่วยเพิ่มบทบาทในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น นอกจากนี้ การกู้เงินเพื่อชดเชยเงินคงคลัง จำนวน 2 แสนล้านบาทนั้น ได้ลดลงเหลือประมาณ 1 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงมีการวางแผนที่จะโอนเงินอีกประมาณ 1 แสนล้านบาทไปใช้ในการลงทุนเพิ่มเติม จะทำให้รวมวงเงินทั้งสิ้น 3 แสนล้านบาท ซึ่งรายละเอียดจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. ในครั้งต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า โครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยปี 53 ปรับตัวดีขึ้นประมาณร้อยละ 1.6 ต่อปี ผ่านทางการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ โครงการลงทุนประเภทโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐยังคาดว่าจะช่วยก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมณ 5 แสนคนต่อปี อย่างไรก็ดี การกู้เงินมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 60.8 ของ GDP ในปี 2556
2. ภาคเอกชนเตรียมเสนอ กรอ. พิจารณา 5 แนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม
  • ในวันนี้ (19 ส.ค. 52) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เตรียมเสนอต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ให้พิจารณาแนวทางช่วยเหลือภาคเอกชนใน 5 เรื่อง คือ (1) มาตรการกระตุ้นการส่งออกโดยภาษีมุมน้ำเงิน (2) มาตรการภาษีให้นำผลขาดทุนจากการประกอบธุรกิจปี 2551-2553 ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้นาน 10 ปี และขอลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 30% เหลือ 25% ของกำไรสุทธิ (3) ขอให้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศที่มีขนาดไม่เกิน 72,000 บีทียู (4) เสนอให้จัดตั้งสภาอุตสาหกรรมก่อสร้างแห่งประเทศไทย และ (5) เสนอของบรัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน หรืออีโคทาวน์ โดยมีต้นแบบที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อเสนอของภาคเอกชนดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การขอให้ภาครัฐช่วยเหลือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตเพื่อส่งออก การก่อสร้าง และธุรกิจที่ขาดทุน ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ ดังนั้น ภาครัฐควรดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคส่งออกและก่อสร้างผ่านมาตรการสินเชื่อและภาษี เนื่องจากภาคส่งออกมีสัดส่วนใน GDP ไทยสูงถึงร้อยละ 72.1 ขณะที่ภาคก่อสร้างมีสัดส่วนร้อยละ 2.2 ทั้งนี้ มาตรการภาษีที่ภาคเอกชนเตรียมเสนอจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจเพียงในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนระยะยาวผู้ประกอบการต้องปรับตัว โดยเพิ่มคุณภาพของสินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปีจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ annualized)
  • เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ปี 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (Q-o-Q annualized) จากภาคการส่งออกที่ดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงขยายตัวที่ร้อยละ 6.3 ต่อปีจากไตรมาสก่อน ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมูลค่ากว่า 25 ล้านล้านเยน (264 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสนับสนุนให้การใช้จ่ายของผู้บริโภค (Consumer spending) ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และการลงทุนของภาครัฐขยายตัวร้อยละ 8.1 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการขยายตัวของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นผลชั่วคราวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น ทำให้คาดว่าในระยะต่อไปเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะชะลอตัวลงอีกครั้ง อันเป็นผลจากการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มแผ่วลงในช่วงต่อไป (stimulus-induced frontloading) นอกจากนั้น ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยเฉพาะในด้านการใช้จ่ายภาคเอกชนยังอ่อนแออยู่มาก ประกอบกับฐานะการคลังจากหนี้สาธารณะที่สูงมากถึงประมาณร้อยละ 190 ต่อ GDP และอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งต่ำที่สุดที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี จะเป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการคลังและการเงินแบบผ่อนคลายในช่วงต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ